“พลังงานลมทะเลลึก”แหล่งพลังงานสีเขียวใหม่ของมังกร

10 ม.ค. 2568 | 06:00 น.

“พลังงานลมทะเลลึก”แหล่งพลังงานสีเขียวใหม่ของมังกร : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกจ ฉบับ 4060

สวัสดีปีมะเส็ง ผมขอใช้โอกาสนี้ “อาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธ์ในสากลโลกได้โปรดดลบันดาลให้ท่านผู้อ่านและครอบครัวประสบแต่ความสุข สมหวัง ปลอดโรคปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวงตลอดปีนี้นะครับ”

โดยที่ปี 2025 นอกจากเป็นปีนักษัตร “งู” ที่เป็นสัญลักษณ์ของความสามารถในการปรับตัวแล้ว ยังเป็นหมุดหมายสำคัญในหลายส่วน อาทิ ปีแรกของการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ และเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) และการดำเนินนโยบาย Made in China 2025 ของจีนอีกด้วย 

ผมเชื่อว่า ปี 2025 จะเป็นอีกปีที่จีนจะผลักดัน “นวัตกรรม” ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออกมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถยนต์ และอากาศยานไร้คนขับ รถไฟความเร็วสูงเจนใหม่ และรถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า เรือ และ เรือดำน้ำสำรวจท้องทะเลลึก ยานอวกาศและสถานีอวกาศ ปัญญาประดิษฐ์ วัสดุใหม่ และ พลังงานสีเขียว ซึ่งผมจะทยอยนำเสนอการพัฒนาสิ่งที่แปลกใหม่เหล่านี้กับท่านผู้อ่านกัน

ในโอกาส “ปีใหม่” ผมเลยขอเปิดหัวด้วยเรื่อง “แหล่งพลังงานสีเขียวใหม่” ที่จะช่วยให้มวลมนุษยชาติในทุกเจน จะสามารถประหยัดตังค์ในกระเป๋า หายใจได้อย่างเต็มปอด และแหงนมองท้องฟ้าที่สดใสในระยะยาว ... 

ในเชิงภูมิศาสตร์ ด้านซีกตะวันออกของจีนตั้งอยู่ติดทะเล โดยมีความยาวของชายฝั่งทะเลจากเหนือจรดใต้ถึง 14,500 กิโลเมตร และออกจากชายฝั่งไปไม่ไกล ก็เป็นทะเลลึกของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มีคลื่นลมแรง

ขณะเดียวกัน ท่านผู้อ่านก็อาจทราบดีว่า จีนมีพันธะสัญญาใน “เป้าหมายคู่” ของการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด ในปี 2030 และความเป็นกลางด้านคาร์บอนในปี 2060 

เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายดังกล่าว จีนจึงพยายามออกแบบและทำทุกวิถีทาง พื้นที่ และช่วงเวลาในการลดการปลดปล่อยคาร์บอน การพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียว ถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่จีนให้ความสนใจอย่างยิ่งยวด

โดยก่อนหน้านี้ จีนได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ด้านซีกตะวันตกที่ไม่ติดทะเล เป็นทะเลทราย และเทือกเขาสูงในการ “ผลิตพลังงานสีเขียว” ที่ยั่งยืนทั้งจากแสงแดด ลม และอื่นๆ

แต่การดำเนินงานของจีนในช่วงหลายปีหลังสะท้อนว่า จีนตระหนักดีถึงโอกาสที่กว้างขวางมากขึ้น ในการใช้ประโยชน์จากกระแสลมในท้องทะเลที่กว้างใหญ่ไพศาลในด้านซีกตะวันออก ในการผลิตพลังงานสีเขียว ควบคู่ไปกับการประมง พาณิชยนาวี และอื่นๆ  

ในระยะแรก จีนเริ่มจากการพัฒนาแหล่งพลังงานลมชายฝั่งใน “น่านน้ำตื้น” (Near-Field) ที่มีระดับความลึกระหว่าง 5-50 เมตรโดยใช้วิธีการติดตั้งเสากังหันลมแบบคงที่ (Fixed) ที่ตั้งอยู่บนฐานรากที่เจาะลงไปในก้นทะเล และเริ่มต่อยอดแบบแพลตฟอร์มแบบลอยน้ำ (Floated) ในเวลาต่อมา

โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนได้ดำเนินโครงการพลังงานลม และแสงอาทิตย์ลอยน้ำขึ้นในหลายจุด บางส่วนยังผสมผสานเข้ากับฟาร์มประมงทะเล จนกลายเป็นแพลตฟอร์มด้านพลังงานและประมงแห่งแรกในโลกก็มี  ทั้งนี้ คาดว่าพื้นที่ดังกล่าวมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าราว 500 ล้านกิโลวัตต์ในปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพของกระแสลมที่แรงและสม่ำเสมอกว่า จีนจึงเริ่มขยายการดำเนินโครงการในพื้นที่ “ทะเลลึก” (Deep-Sea) และดูเหมือนว่า จีนจะสามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จากศักยภาพของพลังงานลมใน “ทะเลลึก” ที่อุดมสมบูรณ์เอาไว้ได้ 

                            “พลังงานลมทะเลลึก”แหล่งพลังงานสีเขียวใหม่ของมังกร

โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จีนได้สร้างตื่นตะลึงด้วยการติดตั้ง “ฟาร์มกังหันลม” บนแพลตฟอร์มลอยน้ำยักษ์แห่งแรกขึ้นเป็นผลสำเร็จ 

China National Offshore Oil Corporation (CNOOC) รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานรายใหญ่ของจีน และครองตำแหน่งแชมป์ผู้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ในทะเลรายใหญ่สุดในโลก ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินโครงการฟาร์มกังหันลมยักษ์ดังกล่าว ในบริเวณอ่าวเป่ยปู้ (Beibu) บริเวณทะเลจีนใต้ ห่างจากเมือง “เหวินชาง” (Wenchang) ด้านซีกตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลไฮ่หนานราว 136 กิโลเมตร

โดยอาศัยเทคโนโลยีการก่อสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมัน และแพลตฟอร์มพลังงานลมลอยน้ำของหลายประเทศในยุโรปเป็นพื้นฐาน CNOOC สามารถออกแบบและต่อยอดเทคโนโลยีการก่อสร้างแพลตฟอร์มขนาดยักษ์ ที่มีความสูงถึงราว 240 เมตร น้ำหนักรวม 11,000 ตัน และถูกยึดตรึงด้วยสมอ 9 เส้นในน้ำทะเลลึก 120 เมตร  

ผู้เชี่ยวชาญในวงการกล่าวไว้ว่า โครงการดังกล่าวนี้เป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมลอยน้ำในทะเลลึกแห่งแรกของจีน ที่ติดตั้งห่างจากชายฝั่งทะเลมากกว่า 100 กิโลเมตร ในความลึกของน้ำกว่า 100 เมตร 

ในด้านเทคนิค แพลตฟอร์มขนาดยักษ์นี้ มีความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึงปีละ 22 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง และถูกเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้าของแท่นขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งของจีนผ่านสายเคเบิ้ลแบบไดนามิก ที่มีระยะทางยาว 5 กิโลเมตร 

กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าดังกล่าว ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 22,000 ตันต่อปี และประหยัดก๊าซธรรมชาติได้ถึง 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

งานวิจัยของ Global Energy Monitor (GEM) ของสหรัฐฯ ระบุว่า ด้วยการทุ่มเททรัพยากรในการก่อสร้างโครงการพลังงานหมุนเวียนตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนสามารถผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมราว 340 กิกะวัตต์ (Gigawatt) เป็นอันดับหนึ่งของโลก และคิดเป็นเกือบสองเท่าของประเทศอื่นๆ รวมกันในปัจจุบัน 

ในภาษาพลังงาน 1 กิกะวัตต์เท่ากับ 1,000 เมกะวัตต์ เท่ากับ 1,000,000 กิโลวัตต์ หรือเท่ากับ 1,000,000,000 วัตต์ ถ้าแปลงเป็นภาษาทั่วไปอย่างเราๆ 1 กิกะวัตต์ มีค่าเท่ากับพลังงานที่ใช้ในการยกแอปเปิ้ลจำนวน 1,000 ล้านลูกขึ้นสูงจากพื้นโลก 1 เมตร

ทุกวันนี้โลกผลิตแอปเปิ้ลปีละ 100 ล้านตัน หากเราประเมินว่า แอปเปิ้ล 1 ตันมีจำนวน 3,000 ลูก (3 ลูกต่อกิโลกรัม) ก็เท่ากับว่า กำลังการผลิตพลังงานสีเขียวของจีนในปัจจุบัน สามารถยกผลผลิตแอปเปิ้ลทั้งหมดที่โลกผลิตได้ในแต่ละปีเหนือพื้นโลก 1 เมตรแล้ว

นอกจากนี้ ในช่วงหลัง กำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของจีน ก็ขยายตัวในอัตราเร่ง เฉพาะในปี 2024 จีนก็ติดตั้งอุปกรณ์การผลิตพลังงานถึง 1,200 GW ซึ่งคิดเป็นถึงราว 2 ใน 3 ของโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของโลก ซึ่งจะทำให้จีนสามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนได้เร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้เดิมถึง 6 ปี 

ขณะเดียวกัน จีนยังจำกัดการใช้พลังงานถ่านหินควบคู่กันไป ดังจะเห็นได้จากการระงับการออกใบอนุญาตใหม่ สำหรับโครงการผลิตเหล็กที่ใช้ถ่านหิน ทำให้ผมเองก็กำลังลุ้นอยู่ว่า การผลิตพลังงานสีเขียวของจีน ณ สิ้นปี 2024 จะแซงหน้าพลังงานถ่านหินได้หรือไม่ 

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็เท่ากับว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไออกไซด์จะแตะระดับสูงสุดเร็วกว่าที่กำหนดไว้ และหากแนวโน้มดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป ก็จะเป็นโอกาสสําคัญสําหรับการลดการปล่อยมลพิษในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจจีนจะเติบโตบนพื้นฐานของพลังงานสีเขียวในสัดส่วนที่สูงขึ้นในอนาคต

ด้วยพัฒนาการที่ “ก้าวล้ำ” ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายต่างจับตามองว่า จีนมีศักยภาพที่จะ “พุ่งทะยาน” ขึ้นเป็นศูนย์กลางของแหล่งพลังงานทะเลลึกของโลกในอนาคตอันใกล้ ...