ไม่รอด "ทรัมป์-แฮร์ริส" ใครมา? “จีน” อ่วมแน่ ๆ

03 พ.ย. 2567 | 11:13 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2567 | 11:31 น.

ตั้งแต่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ (2017-2021) ความขัดแย้งเศรษฐกิจจีนกับสหรัฐฯ รุนแรงมากขึ้น และดำเนินต่อเนื่องจนถึงสมัยไบเดน ความขัดแย้งสามารถสรุปได้ 3 ประเด็นใหญ่

ไม่รอด \"ทรัมป์-แฮร์ริส\" ใครมา? “จีน” อ่วมแน่ ๆ

  • ประกอบด้วย

1.การขาดดุลการค้าสหรัฐฯ (เกิดคำว่า “Trade War”) 2. Made in China 2025 (เกิดคำว่า “Technology War”) และ 3.ภูมิรัฐศาสตร์

3 เรื่องนี้เป็น 3 ประเด็นหาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์และแฮร์ริส ก่อนทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีน 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (2016) พอทรัมป์ลงจากตำแหน่ง สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าจีนเพิ่มเป็น 4 แสนล้านดอลลาร์

ระหว่างดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 10-25% มากกว่า 1,000 รายการ (เครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการผลิต เสื้อผ้า รองเท้า ของเล่น เหล็ก อะไหล่รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้ Section 301 ของกฎหมาย Trade Act 1974 ผ่านอำนาจ USTR ด้วยเหตุผล “การค้าที่ไม่เป็นธรรม” และใช้มาตรา 232 “ด้านความมั่นคง” เก็บภาษีเหล็ก (25%) และอลูมิเนียม (10%) ผ่านกระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 15 มกราคม 2020 มี Trade Deal ให้จีนซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในการเลือกตั้ง 2024 ทรัมป์ประกาศจะเก็บภาษีนำเข้า 3 ระดับคือ เก็บภาษีทุกสินค้า ทุกประเทศ 10-20% (across-the-board) เก็บภาษีสินค้าจีนมากกว่า 60% รถ EV จีน 200% และ “จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน 150-200% (หากจีนบุกไต้หวัน)”

ไม่รอด \"ทรัมป์-แฮร์ริส\" ใครมา? “จีน” อ่วมแน่ ๆ

สมัยไบเดน เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน 25-100% แต่เป็นสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น รถ EV เซมิคอนดักเตอร์ เก็บภาษี 100% และเก็บภาษี 50% สำหรับแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น ส่งผลทำให้ดุลการค้าสหรัฐฯที่ขาดดุลจีนลดลงเหลือ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับนโยบายแฮร์ริสเหมือนกับไบเดนไม่ขึ้นภาษีแบบทรัมป์ เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายชาวอเมริกันเพิ่มปีละ 4,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี แฮร์ริสจะจัดการสินค้าจีนแบบ “ภาษีเป้าหมายและยุทธศาสตร์” (Targeted and Strategic Tariff) ไม่เก็บภาษีทุกชนิด เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภคในประเทศ

ในขณะที่ FDI สหรัฐฯ ในจีน สมัยทรัมป์ ลดลงไป 11% และสมัยไบเดนลดลงไป 15% โดยการลงทุนในเทคโนโลยีลดลงมากสุด 40% ตามด้วยสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง 30% และพลังงาน 33%

ไม่รอด \"ทรัมป์-แฮร์ริส\" ใครมา? “จีน” อ่วมแน่ ๆ

ในสมัยทรัมป์ออกคำสั่งผู้บริหารในปี 2020 ห้ามบริษัทสหรัฐฯ ลงทุนกับบริษัทที่เกี่ยวข้องทหารจีนและบริษัทที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และกฎหมาย CAATSA (Countering America’s Adversaries Through Sanctions Act) มีอำนาจในการควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจต่อบุคคลหรือบริษัทที่ทำธุรกิจทางทหารกับจีน

ไบเดนออกคำสั่งบริหารในวันที่ 9 สิงหาคม 2023 จำกัดการลงทุนสหรัฐในจีน (มองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ) ในอุตสาหกรรม AI คอมพิวเตอร์ควอนตัม และเซมิคอนดักเตอร์ หากต้องการลงทุนบริษัทสหรัฐฯ ต้องขออนุญาตและรายงานให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการว่าด้วยการลงทุนจากต่างประเทศในสหรัฐ (CFIUS) ทราบ แต่ยากมากที่จะได้รับอนุมัติ

"ในกรณี FDI ทั้งทรัมป์และแฮร์ริสมีนโยบายตรงกันที่เข้มงวด FDI สหรัฐฯ ไปจีน ผมคิดว่าจะเข้มงวดเพิ่มขึ้นด้วยซํ้า"

ส่วนนโยบายด้านเทคโนโลยี ที่ต้องการสกัด “Made in China 2025” สมัยทรัมป์ไม่มีกฎหมายชัดเจนเหมือนไบเดน ทรัมป์ใช้อำนาจตามหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น BIS (Bureau of Industry and Security) ของกระทรวงพาณิชย์ เข้มงวดในการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีไปยังจีน เป็นต้น

หากทรัมป์ได้รับเลือกตั้ง คาดว่าจะออกกฎหมายเกี่ยวอาชญากรรมไซเบอร์ที่เกี่ยวกับบริษัทจีน ส่วนไบเดนได้ออก Chip and Science Act (CSA) ในปี 2022 จัดการเซมิคอนดักเตอร์จีน

ดังนั้นไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ 2024 ก็จะต่อต้านจีนเต็มรูปแบบมากขึ้น จีนจะได้รับผลกระทบพอ ๆ กัน ครับ