สภาวะทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ดูเหมือนว่าจะฟื้นตัวยาก หลังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาคาดการณ์ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ในปี 2567 จะขยายตัวที่ 2.6% ดูจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แล้วยังมืดมน เพราะยังมีโจทย์หินที่รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเข้ามาแก้ไข นำพาเศรษฐกิจของประเทศไปได้หรือไม่
โจทย์หลักคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาระบุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 1 หนี้สินครัวเรือน มีมูลค่ารวม 16.37 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.5% และคิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 90.8% ส่งผลให้ สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อแก่ครัวเรือน
ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่ารวม 1.63 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.99% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.88% ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน
ส่วนสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 อยู่ที่ 8.5% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 สะท้อนปัญหารายได้ของครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัว
ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงอยู่นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ให้เห็นว่า การจะแก้ไขให้หนี้ครัวเรือนลดลงมาได้ระดับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 80% ต่อจีดีพี คือ การเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน
อีกทั้ง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นอยู่นี้ ยังเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญอีกตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศลดลง
เห็นได้จากตัวอย่างที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาแถลงตัวเลข ยอดการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2567 ยอดผลิตรถยนต์ ลดลง 17.28% และมียอดขายลดลง 23.71% ความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน และความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูง
ขณะที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สะท้อนถึงภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยช่วงครึ่งปีหลัง 2567 อยู่ในภาวะที่หดตัวหรือ เติบโตเพียง 2-5% แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของร้านค้าปลีก จากช่วงต้นปี 2567 ขยายตัวราว 3-7 % โดยไตรมาสแรกที่ผ่านมามีการฟื้นตัวดี เติบโต 4.3% ไตรมาส 2 ขยายตัว 3% ส่วนไตรมาส 3 อาจแย่กว่าไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง
นอกจากนี้ เครื่องจักรสำคัญอีกตัว คือ การส่งออก ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
โดยนักเศรษฐศาสตร์ ประเมินกันว่า มีโอกาสที่จะแข็งค่าไปอยู่ในระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าทุกๆ 1% อาจมีผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี นั่นหมายความว่า มูลค่าส่งออกของประเทศ ก็จะปรับตัวลดลงตามด้วย
รวมถึงปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเข้ามาแก้ไข จากสถานการณ์นํ้าท่วมในทางภาคเหนือ และกำลังไหลบ่ามาสู่ภาคกลางตอนบน สร้างผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตของภาคการเกษตร ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจเบื้องต้นเวลานี้ราว 4,217 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.0.2% ของจีดดีพี ซึ่งต้องติดตามต่อว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะขยายวงกว้าง หรือ มีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
เรื่องหลักๆ ที่กล่าวมา ถือเป็นความท้าทายในการแก้ปัญหาของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรี ภายใต้การสั่นคลอนของพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะสามารถฟันฝ่ามรสุมเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ไปได้ อย่างที่มีการคาดการณ์ไว้ได้หรือไม่