หมดเวลา“กินบุญเก่า”เร่งสร้างเศรษฐกิจใหม่

31 ก.ค. 2567 | 16:33 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2567 | 16:45 น.

หมดเวลา“กินบุญเก่า”เร่งสร้างเศรษฐกิจใหม่ : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4014

เศรษฐกิจไทยช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ยังพึ่งพาภาคการส่งออกเป็นหลัก โดยที่สินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทยในช่วงที่ผ่านมา ยังอยู่ในกลุ่มเดิม ๆ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณี และ เครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เมื่อใดเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หรือ มีความผันผวน ตลาดส่งออกมีปัญหาก็จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ภาคการผลิตของไทย ณ ปัจจุบัน ต้องเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงกับสินค้าจากต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจีน ที่เป็นโรงงานของโลกที่ส่งสินค้าราคาตํ่าเข้ามาตีตลาดในประเทศ ทั้งออฟไลน์ และ ออนไลน์

โดยมีราคาตํ่ากว่าสินค้าไทยเฉลี่ย 20-30% กระทบผู้ผลิตในประเทศที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ต้องลดกำลังการผลิต หรือปิดตัวลง รอบ 3 ปีที่ผ่านมามีโรงงานอุตสาหกรรมไทยปิดตัวไปแล้วเกือบ 4,000 โรง หลายรายต้องผันตัวเป็นผู้นำเข้าสินค้าเข้ามาจำหน่ายแทน

ส่วนในตลาดส่งออกสินค้าไทย ต้องเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงจากสินค้าจีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่ผลิตสินค้าส่งออกคล้าย ๆ กับไทย แต่มีต้นทุนการผลิตตํ่ากว่า จากค่าไฟฟ้า ค่านํ้ามัน ค่าจ้างขั้นตํ่าของไทยสูงกว่าคู่แข่งขัน ส่งผลความสามารถในการแข่งขันสินค้าไทยลดน้อยถอยลงในทุกปี

อย่างไรก็ดี ภาครัฐและเอกชนของไทยอยู่ระหว่างเร่งยกระดับภาคการผลิตของไทยสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ ที่ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก มุ่ง Go Green เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาด ลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน แข่งขันด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างโปรดักส์แชมเปี้ยนตัวใหม่ ๆ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านยังต้องใช้เวลา 

ขณะที่ช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญมรสุมหลายลูก โดยภาคการเมืองตั้งแต่ปี 2475 ที่ไทยเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เกิดการปฏิวัติ/รัฐประหารมากถึง 13 ครั้ง ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสะดุดเป็นระยะ 

ถัดมาหนี้ครัวเรือนไทยสูงขึ้น ณ เวลานี้อยู่ที่ 91% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากเมื่อ 20 ปีก่อน(2547) ที่หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 31% ต่อจีดีพี เปรียบเทียบหาเงินมาได้ 100 บาท แต่มีภาระหนี้ที่ต้องจ่าย 91 บาท เหลือเงินใช้ไม่กี่บาท

ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบของคนไทย ที่ประเมินว่า จะมีมากกว่า 5 ล้านล้านบาท ที่กดทับเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนไทย 

นอกจากนี้ ไทยยังมีหนี้สาธารณะ หรือ หนี้ของประเทศ กว่า 11 ล้านล้านบาท หรือ 63% ต่อจีดีพี (ณ มี.ค. 67) จาก 10 ปีก่อน (ปี 2557) หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ 40% ต่อจีดีพี ซึ่งเงินที่กู้ยืมมาไม่ได้ทำให้จีดีพี หรือ เศรษฐกิจประเทศขยายตัวได้มากนัก

มรสุมต่อมา ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ผลกระทบต่อเนื่องตามมา คือ เศรษฐกิจจะเติบโตช้าลง จากคนสูงวัยมีรายได้ลดลง รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง รวมถึงจะกระทบต่อการลงทุนของประเทศ ที่ต่างชาติจะเกิดการเปรียบเทียบ และหันไปลงทุนในประเทศอื่น ที่มีคนวัยทำงานมากกว่าไทย เช่น เวียดนาม

จากบุญเก่าคํ้ายันเศรษฐกิจไทยที่เคยมีในอดีต ทั้งแรงงานที่มีมาก ค่าจ้างตํ่า ช่วยดึงนักลงทุน สินค้ารถยนต์ที่ใช้นํ้ามัน ที่เป็นพระเอกขับเคลื่อนส่งออกไทย เริ่มสิ้นมนต์ขลัง ต้องเร่งปรับเปลี่ยนเป็นรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) 

สินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และหลายสินค้าที่ส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) เริ่มแข่งขันยาก จากต้นทุนสูงกว่าคู่แข่ง ถือเป็นโจทย์ท้าทายของภาครัฐ และ เอกชน ที่ต้องเร่งสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ มาเติมเต็มที่ขาดไปให้มากขึ้น