18 สินค้า Negative List กับ เงินดิจิทัลวอลเล็ต

24 ก.ค. 2567 | 15:17 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2567 | 15:21 น.
603

18 สินค้า Negative List กับ เงินดิจิทัลวอลเล็ต : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4012

เตรียมเปิดให้ร้านค้าและประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และจะปิดการลงทะเบียนในวันที่ 22 กันยายน 2557 รวมระยะเวลา 45 วัน 

ก่อนที่จะแจ้งรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์ได้รับเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ไปใช้จ่ายซื้อสินค้า ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ส่วนร้านค้าที่เข้าร่วมก็จะเปิดระบบการใช้จ่ายผ่านระบบ Open Loop ให้ประชาชนใช้จ่ายซื้อสินค้าได้ในเดือนธันวาคม 2567 ถือเป็นไทม์ไลน์ ที่มีความชัดเจนที่สุด ณ ชั่วโมงนี้

ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่จะได้อานิสงส์จากการจับจ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต่างลุ้นว่า จะได้สิทธิ์ในการเข้าร่วม พร้อมจัดเตรียมกิจกรรมทางการตลาดเพื่อช่วงชิงเม็ดเงิน

ล่าสุดกับการเปิดรายชื่อกลุ่มสินค้าที่ไม่เข้าร่วมโครงการ (Negative List) ทั้ง 18 กลุ่มสินค้า ซึ่งได้แก่ 1. สลากกินแบ่งรัฐบาล 2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3. ผลิตภัณฑ์ยาสูบ 4. กัญชา 5. กระท่อม 6. พืชกระท่อม 7. ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกระท่อม 8. บัตรกำนัล 

9. บัตรเงินสด 10. ทองคํา 11. เพชร 12. พลอย 13. อัญมณี 14. นํ้ามันเชื้อเพลิง 15. ก๊าซธรรมชาติ 16. เครื่องใช้ไฟฟ้า 17. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ 18. เครื่องมือสื่อสาร 

ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมาก ผิดหวัง แม้กระทรวงพาณิชย์เอง จะระบุว่า รายชื่อกลุ่มสินค้าที่เป็น Negative List นี้ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากเห็นว่ามีความจำเป็นต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน หรือใช้สร้างอาชีพ

โดยเฉพาะ 2 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และเห็นความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการ คือ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

เพราะทั้งสองกลุ่มนี้ต่างถูกมองว่า เป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน และสร้างอาชีพที่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการ Live ขายสินค้า การขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งที่เป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม และจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ จำนวนมาก แต่กลับกลายเป็น Negative List

แม้รัฐบาลเองจะออกมาบอกว่า เพราะต้องการให้เลือกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการในประเทศ แต่ก็มีเสียงคัดค้านมากมาย เพราะต่างมองว่า สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้วัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนในประเทศผลิตและจำหน่ายในประเทศ ราคาไม่สูง มีเป็นจำนวนมาก 

ไม่ควรมองว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขายในประเทศเป็นสินค้านำเข้า ซึ่งหากรัฐบาลเกรงว่าเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะถูกนำไปใช้เลือกซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย รัฐบาลก็สามารถกำหนดราคาสินค้าได้ เพื่อป้องกันการซื้อสินค้านำเข้าหรือสินค้าที่มีราคาสูง เพื่อเปิดทางให้ซื้อสินค้าของผู้ประกอบการคนไทย

เพราะจะว่าไปแล้ว สินค้าหลายรายการที่ไม่ได้อยู่ใน Negative List แต่เป็นสินค้าของกิน ของใช้ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ ที่ประชาชนจะหยิบจับเลือกซื้อเป็นอันดับต้นๆ ก็เป็นของบริษัทต่างชาติทั้งนั้น 
กว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะตกหล่นมาถึงสินค้าไทย ผู้ประกอบการไทยก็คงเหลือน้อยนิด...