วิสัยทัศน์“ทักษิณ”ภารกิจที่ท้าทาย“แพทองธาร”

28 ส.ค. 2567 | 15:45 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2567 | 15:49 น.

วิสัยทัศน์“ทักษิณ”ภารกิจที่ท้าทาย“แพทองธาร” : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,022 วันที่ 29 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2567

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แสดงวิสัยทัศน์ที่ครอบคลุมอนาคตของประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “Vision for Thailand” บนเวทีของงาน Nation TV Dinner Talk: Vision for Thailand 2024 โดยเน้นถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วนและซับซ้อน ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันในหลายประเด็น

เริ่มจากการปัญหาหนี้ครัวเรือนและเศรษฐกิจใต้ดิน “ทักษิณ” ชี้ชัดถึงความสำคัญปัญหาหนี้ภาคประชาชนที่สูงเกิน 90% ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องเผชิญกับการถูกยึดบ้านและรถยนต์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างรุนแรง การปรับโครงสร้างหนี้และแฮร์คัทหนี้เป็นทางออกที่เขาเสนอ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ การนำเศรษฐกิจใต้ดินที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาบนดินก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยเพิ่ม GDP ของประเทศและลดสัดส่วนหนี้ลงได้

ขณะเดียวกัน ยังเสนอให้มีการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโลก ในยุคที่เทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “ทักษิณ” เน้นถึงความสำคัญของการปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะ AI และการเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geo-politic) ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ นอกจากการพัฒนาอุตสาหกรรมแล้ว เขาเห็นว่า การพัฒนานักธุรกิจไทยสู่เวทีโลกเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญ โดยเขาเน้นถึงการสนับสนุนจากรัฐบาลในการเปิดโอกาสให้นักธุรกิจไทยได้เข้าไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย

ขณะที่นโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่เขาเสนอ เพื่อตอบสนองความต้องการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้ดิจิทัลวอลเล็ต ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แม่นยำ และเฉพาะเจาะจงต่อพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมให้คนไทยเรียนรู้และใช้งานเทคโนโลยีในอนาคต

นอกจากนี้ ยังพูดถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้ทันกับโลก การสร้าง Eco-system สำหรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น EV และเทคโนโลยีการผลิตดาวเทียม โดยเน้นถึงการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก รวมไปถึงการให้ความสำคัญของการพัฒนา Soft Power โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของมวยไทย และ อีสปอร์ต ที่สามารถสร้าง Eco-system 

การแสดงวิสัยทัศน์ครั้งนี้ “ทักษิณ” ยังพูดถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการการขยายสนามบินสุวรรณภูมิและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งเป็นสิ่งที่ นายทักษิณ เห็นว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศในระยะยาว

ในทุกประเด็นที่ได้กล่าวมา ภารกิจเหล่านี้เป็นความท้าทายที่ใหญ่หลวงที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะต้องเผชิญและจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้การทำงานเป็นทีม และการจัดหาคนเป็นเจ้าภาพในแต่ละเรื่อง จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้นโยบายต่างๆ สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิผล การนำพาประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ดีกว่านั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และความสามัคคีของคนไทยในการเดินหน้าต่อไปด้วยกัน