รถยนต์ฟื้นผลิตกลับสู่2ล้านคัน ชิ้นส่วนเปิดโอทีเร่งสต๊อก ตั้งรับภัยคุกคามรถ EV

16 พ.ค. 2564 | 10:05 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2564 | 17:52 น.
1.8 k

อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทยหลังเศรษฐกิจ การค้าโลกเริ่มฟื้นตัว เป็นอย่างไร และอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น ฟังจากบทสัมภาษณ์พิเศษ

อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นกลุ่มสินค้าแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้แต่ละค่ายต้องปรับแผนการผลิตและแผนการตลาดใหม่จากไลน์ผลิตที่สะดุดลงในปีที่ผ่านมา ขณะที่เวลานี้แม้สถานการณ์จะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังอยู่ในจังหวะที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่นวัตกรรมยานยนต์สมัยใหม่อย่างการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ต้องเร่งปรับตัวครั้งใหญ่ จากนวัตกรรมยานยนต์ยุคใหม่จะใช้ชิ้นส่วนน้อยลง

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายพินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงมุมมองภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบนับจากนี้

ชะตาชีวิตขึ้นกับรถยนต์

นายพินัย ประเมินภาพรวมการผลิตและการตลาดครึ่งแรกปี 2564 ยังอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงโควิด-19 จากโครงสร้างชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยเป็นซัพพลายเชน เริ่มจาก Car Maker และตามด้วย 1st Tier, 2nd Tier, 3rd Tier Suppliers ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยเวลานี้ 80% เป็นประเภท OEM  นายพินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ดังนั้นยอดผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ส่วนใหญ่ก็จะล้อตามยอดผลิตของรถยนต์ในประเทศ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ส่งออกเป็นชิ้นส่วนโดยตรงไปยังต่างประเทศ ซึ่งจากแผนการผลิตรถยนต์ในไทยปี 2564 คาดอยู่ที่ 1.5 ล้านคัน สูงกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย แต่จากภาพรวมเศรษฐกิจและการตอบรับการจองรถยนต์จากงานมอเตอร์โชว์ ทำให้ไตรมาสแรกของปีนี้ การผลิตรถยนต์สูงขึ้นเฉลี่ยเกือบ 20% และคาดการณ์ครึ่งปีก็เป็นไปตามนั้น แต่น่าเสียดายที่มาเจอการระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุด ทำให้ยอดตกลงมา แต่ก็คงไม่ต่ำกว่าแผนรายปีที่วางไว้ตั้งแต่แรก

“ถามว่าแนวโน้มครึ่งหลังปีนี้ จะขยับตัวดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ยังไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ แต่ถ้าดูจากสถานการณ์การเร่งฉีดวัคซีนของทางราชการ และแนวร่วมทางเอกชน น่าจะช่วยให้การแพร่ระบาดลดลงได้ และถ้าดีขึ้นถึงขั้นเปิดประเทศรับการท่องเที่ยวได้ คิดว่ายอดผลิตก็น่าจะดีกว่าแผนที่วางไว้ตั้งแต่แรก แต่ก็คงยังไม่เทียบเท่าปี 2562 ก่อนเกิดโควิด” 

 

เร่งตุนสต๊อกพร้อมส่ง

ส่วนในแง่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สถานการณ์คือ ยังมียอดสั่งซื้อต่อเนื่องและหลายโรงงานต้องเปิดโอทีกันพอสมควร ขณะที่การระบาดของโควิดยังหนักกว่าที่คิด โดยนโยบายคือจะเกิดอะไรขึ้นก็จะต้องมีของส่ง หรืออาจต้อง Shot Delivery (การจัดส่งระยะสั้น) ดังนั้นความเสี่ยงในกรณีเลวร้ายสุดหากมีพนักงานในโรงงานติดเชื้อโควิดพร้อมกันหลายคนเป็นแบบคลัสเตอร์อาจต้องปิดโรงงาน ดังนั้นจึงต้องเร่งผลิตเพื่อเก็บสต๊อกเผื่อไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยง   

ทั้งนี้ในปี 2563 ไทยส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์มูลค่า 18,721 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 14% จากปี 2562 มีมูลค่าการส่งออก 21,906 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2564 นี้ คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 15% หรือจะมีมูลค่าใกล้เคียงกับปี 2562 (ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด) ทั้งนี้ยอดที่กลับขึ้นมา ทางโรงงานก็จะบริหารจัดการคนที่มีอยู่ เช่น เปิดทำงานล่วงเวลา (โอที) แล้วค่อยรับคนเข้ามาเติมเท่าที่จำเป็นโดยสัญญาณบวกเวลานี้เป็นผลจากการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ส่งผลถึงเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น มีผลต่อยอดการสั่งซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ชิ้นส่วนได้รับอานิสงส์ด้วย


ตลาดส่งออกรถยนต์

โควิดทำเสียโอกาส

นายพินัย มองอีกว่าการผลิตรถยนต์ในปี 2563 อยู่ที่ 1.42 ล้านคัน ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 2 ล้านคัน หรือลดลงเกือบ 30% คาดจะกลับมาได้ที่ 2 ล้านคันอีกครั้ง ราว ๆ ปี 2568 แต่การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ น่าจะกลับมาเทียบเท่าปี 2562 ภายในปี 2564-2565 นี้

อย่างไรก็ตามยังมองว่า การผลิตรถยนต์จะกลับไปที่ 2 ล้านคันได้ ส่วนหนึ่งจะต้องมีมาตรการกระตุ้นยอดขาย ซึ่งยอดผลิตชิ้นส่วนจะขึ้นอยู่กับการขายรถใหม่เป็นหลัก สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยคือมาตรการกระตุ้นยอดขายรถที่เคยเสนอไปตั้งแต่ปีที่แล้วและมีข่าวออกมาบ้าง เช่น รถใหม่ แลกรถเก่า เป็นต้น 

เร่งปรับทัพครั้งใหญ่รับ EV

ขณะที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าถือเป็น Disruptive Technology ของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อย่างแท้จริง คือของเก่าไม่สามารถนำมาใช้กับของใหม่ได้ โดยที่ชิ้นส่วนรถไฟฟ้าหรือ ZEV จะมีน้อยกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือ ICE เกือบ 10 เท่า ถ้ารถไฟฟ้ามาจริง ก็ต้องปรับตัวกันอย่างมากโดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วน ICE จำพวกเครื่องยนต์, อุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องยนต์เช่น กรองอากาศ กรองน้ำมัน ท่อไอเสีย หม้อน้ำ หรือ แม้แต่เกียร์ ก็จะต้องปรับตัวเอง ผันไปทำงานอย่างอื่นแทน 

“ผมมองว่า จากเดิมที่เราผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพียงอย่างเดียว แต่จากนี้ไป อาจจะต้องทำหลาย ๆ อย่างไปพร้อมกัน ซึ่งแม้ผู้ผลิตยังสามารถผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าได้เช่น ตัวถัง กระจกเองก็ตาม ก็ยังต้องปรับตัวในส่วนของกระบวนการผลิตที่มุ่งไปที่ Industry 4.0 เปลี่ยนจาก Manual เป็นอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน” 

ทั้งหมดนี้เป็นงานของกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ส.อ.ท.และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ที่จะช่วยเหลือหาแนวทางให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยที่มีรากฐานมายาวนานมากกว่า 50 ปี ให้สามารถปรับตัวให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,679 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

มาสด้าเผย BOI อนุมัติผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด-EV

รถยนต์ไฟฟ้า : ย้อนอดีตสู่อนาคต

ตลาดรถยนต์ไตรมาสแรกร่วง 2.6% ยอดเดือนมีนาคมพุ่ง 80,663 คัน

รัฐ-เอกชน ปูพรมสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

EA ควัก1.5พันล้านซื้อหุ้น NEX 40% รุกชิ้นส่วนรถยนต์