KEY
POINTS
หลายวันก่อน มีเพื่อนท่านหนึ่งได้โทรมาหาผม และบอกข่าวคนพ่อของเขาได้จากไป ด้วยโรคหัวใจอย่างกะทันหัน ทำให้เขาที่ยังทำใจไม่ได้ บ่นแต่ว่าไม่น่าจากไปเลย ผมจึงถามไปว่า ท่านอายุเท่าไหร่แล้ว? เขาบอกว่า อายุ 86 ปีแล้ว ที่ทำใจไม่ได้เพราะก่อนหน้านี้ยังดูแข็งแรงมาก ออกกำลังกายด้วยการเดินทุกวัน ทำให้เขาคิดว่าน่าจะยังอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรได้อีกหลายปี ซึ่งผมก็ได้แต่บอกว่า ไม่ต้องเสียใจมากจนเกินไป ท่านได้จากไปโดยไม่ได้มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือต้องล้มหมอนนอนเสื่อ นั่นก็นับได้ว่าท่านมีบุญมากๆเลย ถ้าผมสามารถขอเทวดาได้ผมก็อยากที่จะเป็นอย่างท่าน เพราะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับการนอนติดเตียงครับ
อันที่จริงอาการของโรคหัวใจในผู้สูงอายุ นับว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ แม้ปัจจุบันนี้ผู้สูงอายุจะมีอายุขัยที่ยาวนานขึ้น จากความก้าวหน้าทางการแพทย์และเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกันโรคต่างๆ ที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของร่างกายก็เพิ่มขึ้นตามสภาวะของร่างกาย โดยเฉพาะโรคหัวใจที่เป็นปัญหาสำคัญในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากภาวะความเสื่อมสภาพของหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้โรคหัวใจในผู้สูงอายุ จึงเป็นภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งการรู้จักและเข้าใจโรคนี้ อาจจะช่วยให้การป้องกันและการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
ต้องบอกว่าโรคหัวใจมีหลายประเภทที่สามารถเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ แต่ละประเภทมีสาเหตุและลักษณะอาการที่แตกต่างกันออกไป เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (Coronary Artery Disease) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของไขมันและสารต่างๆ ที่หลอดเลือดหัวใจ ทำให้หลอดเลือดตีบตัน ซึ่งจะส่งผลให้เลือดไหลไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง อาจทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina) ในบางกรณีอาจทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Infarction หรือ Heart Attack) ซึ่งสาเหตุหลักๆก็คือ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ และการขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
อีกโรคหนึ่งคือโรคหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) ซึ่งเป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือด ให้ไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย บวมที่ขา หรือการหายใจลำบาก สาเหตุหลักๆของโรคหลอดเลือดหัวใจล้มเหลว คือการเต้นของหัวใจผิดปกติ (Arrhythmia) ซึ่งเกิดจากการเสื่อมของกล้ามเนื้อหัวใจ ที่ผู้สูงวัยใช้สังขารมานานหลายสิบปีแล้ว ความเสี่ยงที่เกิดการเสื่อมของกล้ามเนื้อหัวใจ จึงเป็นเรื่องของธรรมชาตินั่นเอง ซึ่งลักษณะนี้จะเกิดกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ครับ
โรคหัวใจเต้นผิดปกติ (Arrhythmia) โรคนี้เกี่ยวข้องกับการเต้นของหัวใจที่ไม่ปกติ ซึ่งอาจจะเร็วเกินไป (Tachycardia) หรือช้าเกินไป (Bradycardia) หรือการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอ (Atrial Fibrillation) ซึ่งสาเหตุหลัก อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในร่างกาย ความดันโลหิตสูง หรือการเสื่อมของเนื้อเยื่อหัวใจ แม้จะไม่ได้มีอาการหรือสัญญาณใดๆมาก่อน ก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เหมือนโรคหัวใจล้มเหลวนั่นแหละครับ ตัวผมเองก็เคยมีเพื่อนสนิทท่านหนึ่ง ท่านเป็นเพื่อนที่สโมสรโรตารีลุมพินีที่ผมเคยสังกัดอยู่ ปกติท่านก็ชอบตีกอล์ฟมากๆ เมื่อหลายปีในวันที่ท่านเสียชีวิต ท่านได้ไปออกรอบตีกอล์ฟ ขณะที่รอพัดกอล์ฟอยู่บนกรีน ปรากฏว่าท่านก็ล้มลง เพื่อนร่วมวงตีกอล์ฟรีบนำส่งโรงพยาบาล สุดท้ายก็ดึงท่านไม่อยู่ครับ
โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ (Valvular Heart Disease) ลิ้นหัวใจที่เสื่อมสภาพหรือตีบตัน จะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และอาจเกิดภาวะเลือดคั่งในห้องหัวใจหรือหลอดเลือด ซึ่งบางคนก็เป็นมาแต่กำเนิดก็มี หรือบางคนอาจจะรู้ตัวด้วยการไปตรวจร่างกายประจำปีก็มี ซึ่งสาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดโรคนี้ มักจะเกิดจากการเสื่อมของลิ้นหัวใจตามอายุ การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ (Endocarditis) หรือภาวะโรคไขข้อบางชนิดเป็นต้นครับ
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้การแพทย์ได้พัฒนาไปอย่างมาก ช่วงที่ผ่านมาผมได้ไปเห็นเครื่องมือตัวหนึ่งในไต้หวัน ที่เขานำมาใช้กับการตรวจวัดการเต้นของหัวใจ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องไปนอนให้พยาบาลเอาสายไฟระโยงระยางมาหนีบมือหนีบเท้า และเอาจุกยางมาแปะที่หน้าอก เพื่อการตรวจวัดอาการเต้นของหัวใจ โดยใช้เครื่องวัดที่เรียกว่า “เครื่อง ECG (Electrocardiogram)” ซึ่งสามารถตรวจจับการเต้นของหัวใจจากหลายลีด ซึ่งโดยทั่วไปเครื่องลักษณะดังกล่าวจะมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ นั่นคือเครื่อง ECG 3 ลีด (Lead) เป็นเครื่องวัดที่มีการใช้ 3 ขั้วไฟฟ้าในการวัด ซึ่งสามารถให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการเต้นของหัวใจได้ แต่จะไม่ได้ข้อมูลที่ละเอียดมาก ส่วนประเภทที่ 2 เป็นเครื่อง ECG 12 ลีด (Lead) ที่ใช้ขั้วไฟฟ้าทั้งหมด 10 ขั้ว เพื่อให้ได้ 12 สัญญาณจากการเต้นของหัวใจที่ตรวจได้ละเอียดที่สุด แต่ของไต้หวันเขาได้พัฒนาเป็นเครื่องเล็กๆ โดยใช้ระบบเครื่องโมบายเล็กๆ โดยใช้แผ่นแม่เหล็กมาแปะที่หน้าอก 3 จุด แล้วให้เครื่องส่งสัญญาณมาที่ Application บนมือถือ ทำให้สามารถเห็นการเต้นของหัวใจได้ถึง 6 ลีด (Lead) ซึ่งเครื่องดังกล่าวแม้จะเป็นการตรวจวัดสัญญาณของการเต้นของหัวใจที่อาจจะไม่ครบถ้วน แต่ก็สามารถให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานและสถานการณ์ที่ใช้ ที่อาจจะเหมาะสำหรับการตรวจสอบภาพรวมของการทำงานของหัวใจ หรือการประเมินอาการผิดปกติที่ไม่ซับซ้อน เช่น การเต้นของหัวใจผิดปกติบางประเภท หรือการตรวจสอบการทำงานของหัวใจในระดับพื้นฐาน และประเมินความผิดปกติที่เห็นได้ชัดเจน แต่จะไม่ให้รายละเอียดครบถ้วนเหมือนกับการใช้เครื่อง ECG 12 ลีด (Lead) และข้อดีของเครื่องลักษณะนี้ คือสามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ อีกทั้งยังตรวจได้ตลอดเวลา และราคาของเครื่องก็ไม่ถึงหมื่นบาท แต่ถ้าหากต้องการความแม่นยำและการวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น คงต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลต่อไปครับ
อย่างไรก็ตาม อาการของโรคหัวใจในผู้สูงอายุ บางครั้งอาจไม่เด่นชัดหรือแสดงออกมาในรูปแบบที่ต่างจากวัยหนุ่มสาวก็ได้ ดังนั้นถ้ามีอาการที่ควรระวัง และตัวเราเองก็ต้องหมั่นสังเกตตนเองบ้าง ก็อาจจะช่วยได้นะครับ อาการที่ควรระวังหรือมีอาการบ่งชี้ว่าน่าใกล้จะมีปัญหาโรคหัวใจ ก็มีหลากหลายอาการ เช่น อาการแน่นหน้าอกหรือเจ็บหน้าอก หายใจลำบากหรือหายใจไม่ออก เวียนศีรษะหรือเป็นลมง่าย เหนื่อยง่ายโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน บวมที่ขา ข้อเท้า หรือหน้าท้อง หรือมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ หากมีอาการเหล่านี้ ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจสอบสาเหตุและรับการรักษาทันทีนะครับ อย่าได้ชะล่าใจ เดี๋ยวอาจจะต้องไปเฝ้าพระอินทร์ด้วยวัยอันไม่ควร เหมือนที่ผมเล่าให้ฟังเรื่องอาการของคุณพ่อเพื่อนผมก็ได้ครับ