KEY
POINTS
ในเวลาต่อมา ก็ให้ปรากฏพระภิกษุรูปหนึ่งขึ้นที่วัดในมณฑลไทรบุรี ชาวบ้านพบเห็นคุณวิเศษเป็นที่ประจักษ์ เรียกท่านว่า ’ท่านองค์ดำ‘ - เนื่องจากผิวกายท่านดำ อีกชื่อหนึ่งชาวบ้านเรียกว่า ‘ท่านลังกา’ - อาจจะด้วยเป็นเพราะเมื่อเทียบกับคนที่มาจากกรุงลังกาแล้วท่านเป็นผู้มีผิวพรรณสีดำอย่างทางนั้นก็ได้
ท่านผู้นี้มีศีลาจริยวัฒน์งดงามอย่างยิ่ง คอยให้ความอนุเคราะห์และสงเคราะห์ผู้คนโดยไม่เลือกชาติศาสนาสร้างความสามัคคีกลมเกลียวเกิดขึ้นในสังคม อย่างมีนัยยะสำคัญ
จังหวะพอดีว่าในเวลานั้นพญาแก้มดำซึ่งเป็นใหญ่อยู่ในพื้นที่ ท่านมีดำริคิดจะสร้างเมืองใหม่ให้กับน้องสาวไปปกครอง โดยใช้วิธีการคลาสสิกที่เรียกว่าการปล่อยช้างอุปการ ก็คือว่าเสี่ยงทายให้ช้างทำหน้าที่เดินไปเรื่อยๆช้างหยุดที่ไหนหรือแสดงกิริยาว่าชื่นชอบที่ใด ที่นั้นก็เป็นที่เหมาะสมกับการสร้างเมืองใหม่ ซึ่งอันนี้ก็อาจจะเป็นด้วยว่าประสาทสัมผัสของช้างนั้นดีกว่าคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการหาน้ำ ซึ่งอันว่าการสร้างเมืองใหม่นั้นขาดไม่ได้เลยก็คือน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคของประชากร ทีนี้ว่าในดินแดนที่กว้างขวางยังไม่มีผู้ใดได้เคยออกสำรวจไปว่ามีน้ำหรือไม่มี การปล่อยช้างอุปการ ผู้มีประสาทสัมผัสเกี่ยวกับน้ำเปนอย่างดีออกเดินและช้างนั้นพึงใจในพื้นที่ แสดงออกโดยการหยุดเดินและหยุดพำนัก ก็ย่อมเป็นเครื่องบอกโดยนัยยะว่าเป็นที่ที่เหมาะสม มีความบริบูรณ์น้ำท่าอาหาร ซึ่งถ้าหากว่าเหมาะกับช้างแล้วก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เหมาะกับคน
แต่จำจะต้องขอแทรกไว้ในที่นี้ว่ากรณีของช้างอุปการนั้นดูแล้วช้างเปนผู้มีอุปการะคุณ แต่ถ้าหากเปลี่ยนเป็นม้าอุปการเข้าแล้ว_ออกจะเป็นในทางตรงกันข้าม ด้วยความเชื่อในอินเดียโบราณ กษัตริย์เขายามว่างไม่มีอะไรทำบ้านเมืองปกติสุขดี ก็จะคิดรุกรานชาวบ้านดินแดนอื่น โดยจะทำพิธีปล่อยม้าอุปการออกวิ่งไป ม้าหยุดลงที่เขตแดนเมืองไหนหากเมืองนั้นไม่ต้อนรับม้า เจ้าของม้าก็จะกรีฑาทัพเข้าบุกยึดฆ่าฟันขยายอาณาเขต แต่หากว่ายินดีรับม้ามาเข้าไว้ดูแลให้อาหารก็เท่ากับยอมรับในอำนาจของกษัตริย์ผู้ปล่อยม้าคนนั้น โดยใครที่ให้ข้าวน้ำม้าก็ต้องตกกลายเป็นเมืองขึ้นของเขาไปเสีย การปล่อยม้าอุปการใช้เวลาปล่อยหนึ่งปีแล้วแต่ม้าจะวิ่งไปทางใดเมื่อครบเวลาหนึ่งปีแล้วก็ฆ่าม้านั้นทำนองว่าบูชายัญ_เซ็งม้าจริงๆ ถูกใช้ยังไม่พอต้องมาตายอนาถ! เรียกว่าพิธีอัศวเมธ
กลับมาถึงกรณีการปล่อยช้างอุปการของพญาแก้มดำ คราวนั้นช้างได้เดินมาถึงโคกโพธิ์ปัตตานีตรงบริเวณที่เป็นวัดช้างให้เดี๋ยวนี้ ช้างก็หยุดลงกระทำทักษิณาวัตร วนสามรอบแล้วยืนนิ่งอยู่เป็นอัศจรรย์
พญาแก้มดำก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นชัยภูมิที่เหมาะกับการทำเมืองใหม่ ครั้นพาน้องสาวมาเยี่ยมชมสถานที่แล้วน้องสาวกลับไม่ชอบใจ จังหวะพอดีอีกว่าในเวลาเดียวกันเกิดมีกระจงป่าสีขาววิ่งออกมาจากราวป่า น้องสาวของพญาเห็นว่าน่ารักสวยงามดีจึงให้ผู้คนพากันไล่จับ จนไปจับกระจงนี้ได้ตรงแถวเขตกรือเซะบัดเดี๋ยวนี้ พญาแก้มดำจึงสร้างเมืองใหม่ให้น้องบริเวณที่กระจงหยุด ส่วนท่านเองมาสร้างวัดตรงที่ช้างบอกใบ้ให้ที่ เปนที่มาว่าวัดชื่อ_วัดช้างให้
ครั้นแล้วจึงไปนิมนต์ท่านองค์ดำที่ไทรบุรีผู้มีกิตติคุณลือนามให้ขึ้นมาครองวัดที่ปัตตานีช้างให้ โดยสอบถามท่านโดยละเอียดว่าท่านชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไรท่านก็ให้คำตอบว่าท่านชื่อ_สามีราโม!
แต่ท่านจะขอบิณฑบาตว่าจะไม่ได้อยู่ที่วัดช้างให้เป็นการถาวรนะ จะเดินทางไปกลับระหว่างไทรบุรีกับปัตตานีเพื่อการดูแลงานศาสนาทั้งสองพื้นที่ พญาแก้มดำก็อาราธนาตามเงื่อนไขที่ท่านประสงค์
เป็นอันที่พอจะสรุปได้ว่าท่านผู้มีฉายาว่าสามีราโม ผู้นี้มีอิทธิคุณเป็นที่เลื่องลือนี้ การปรากฏของท่านในภาคสองนี้ก็จะชัดเจนขึ้นว่าเสร็จจากภารกิจวัดพระโคะ(พะโคะ)ในภาคแรกแล้ว ท่านทำหน้าที่ของท่านต่อในเขตไทรบุรีและปัตตานี
ท่านองค์ดำ_สามีราโม เมื่อชราภาพลงมากแล้วได้สั่งเสียว่าให้นำศพของท่านกลับไปปลงที่วัดช้างให้ ปัตตานี
โดยระหว่างทางที่แห่ศพท่านกลับมานั้น พักตรงที่ใดก็จะทำหมุดไม้ปักเอาไว้เป็นสัญลักษณ์ หากว่าบุพโพของท่านตกต้องลงพื้นดินก็ชาวบ้านถืออันว่าเป็นจุดศักดิ์สิทธิ์ ควรจะต้องมีการสร้างสถูป/เขื่อน/บัวครอบไว้ ที่จุดต่างๆเหล่านั้น เส้นทางต่างๆนี้ยังปรากฏหลักฐานอยู่จนทุกวันนี้
ณ บรรทัดนี้ก็เปนอันปิดตำนานในบทที่สองของท่านหลวงปู่ทวด ซึ่งต่อจากวัดพะโคะมาที่วัดช้างให้ปัตตานี
จนกระทั่งผ่านเวลาหลักร้อยๆปีที่วัดช้างให้จังหวัดปัตตานี ตกสถานการณ์เป็นวัดทรุดโทรม เรื้อร้าง พระภิกษุรูปหนึ่งคือท่านพระอาจารย์ทิม ธัมมธโร [กำเนิดในสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์] เปนพระอยู่วัดหนองจิกมุจลินทร์วาปี (มุจลินทร์=ต้นจิก, วาปี = หนองน้ำ) ผู้คนมานิมนต์ให้เข้าไปจำวัดช้างให้ ท่านก็มีความประสงค์จะบูรณะเสนาสนะ
ท่านคิดทบทวนหลายประการกับกรรมการวัด ก็แลเห็นทางเดียวว่า การจะต้องหาแหล่งทุนบูรณะนั้นจะต้องเปนไปโดยไม่รบกวนชาวบ้าน
ท่านจึงขึ้นรถไฟมากรุงเทพฯไปที่วัดระฆัง ไปขอเช่าพระสมเด็จที่วัดเพื่อนำลงไปสมนาคุณแก่ผู้บริจาคเงินซ่อมวัด
ขณะที่ท่านพำนักอยู่ในกรุงเทพนั้น ก็ให้ปรากฏเหตุประหลาดว่าท่านสามารถติดต่อกับดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ได้ดวงหนึ่งในความฝัน ซึ่งรู้กันในภายหลังว่าท่านผู้มานั้นเองคือหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดมาปรากฏแก่ท่านอาจารย์ทิม
โดยท่านได้แนะให้จัดสร้างรูปท่าน_หลวงปู่ทวดเนื้อว่านขึ้น เกิดเป็นตำนานหลวงปู่ทวดรุ่นแรกที่วัดช้างให้ โดยผู้คนหลั่งไหลกันมาเช่าบูชาบริจาคเงินบำรุงวัดเป็นอันมาก
จนสามารถสร้างพระมหาเจดีย์ใหญ่ได้สามารถสร้างอุโบสถได้สำเร็จเรียบร้อยทุกประการ
จนกระทั่งเกิดเหตุผู้คนอาราธนาติดตัวไปแล้วองค์พระเกิดเสียหาย จึงได้ขออนุญาตทำรุ่นที่เป็นเนื้อโลหะขึ้นมาใหม่อีกชุดหนึ่งดังได้เล่าไว้ตอนพระพิมพ์หลังเตารีด
ส่วนภาพถ่ายของหลวงปู่ทวดนั้นไม่มีผู้ใดถ่ายไว้ได้ เพราะเทคโนโลยีสมัยนั้นไม่มี มีอยู่ก็แต่ภาพเขียนซึ่งมีรายละเอียดงดงามมาก เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งไปนอนรักษาตัวอยู่ที่ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ไปกราบนมัสการสิ่งศักดิสิทธิ์ ที่หอพระประจำโรงพยาบาล
ก็พบรูปหล่อโลหะ ครึ่งตัวของ ท่านอาจารย์ ร้อยเอกทวี ทิวแก้ว ฆราวาสผู้ทรงคุณวิเศษ ทำสวยงามตามศิลปะประติมากรรมอย่างมาก สอบถามได้ความว่า เป็นฝีมือการปั้นของศิลปินแห่งชาติ_ศาสตราจารย์จิตร บัวบุษย์ ผู้ลือนาม
ท่านเจ้าของโรงพยาบาลและท่านศิลปินแห่งชาติให้ความนับถือในตัวท่านอาจารย์ทวีในทางธรรมเป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่งอาจารย์จิตรมีความคิดจะสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดขึ้นมาแต่ไม่เคยเห็นว่าหน้าตาแท้จริงของท่านเป็นอย่างไร สอบถามท่านผู้เคยเห็นในสมาธิ/ ได้ประสบกับท่านมาก็ลำบากในการสื่อสารเพราะท่านที่เห็นไม่อาจที่จะวาดรูปออกมาเหมือนได้เพราะไม่มีความสามารถทางการวาดเขียน
ท่านอาจารย์ร้อยเอก ทวีทิวแก้ว เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางจิตศาสตร์ เมื่อท่านได้ทราบเรื่องก็จะจึงคิดวิธีการให้ศิลปินจิตร ได้เห็นรูปลักษณ์ของหลวงปู่ทวดโดยการอัญเชิญภาพของหลวงปู่ทวดที่เคยปรากฏในนิมิตให้มาปรากฏที่นิ้วหัวแม่มือบริเวณเล็บด้านขวาของศิลปินผู้สงสัยนั้นเสียเลย
อาจารย์จิตรได้บรรยายความรู้สึกขณะนั้นว่า
“ร่างกายร้อนฉ่า_ความร้อนนั้นค่อยๆเคลื่อนตัวไปที่ต้นแขน_ไปที่ปลายมือและวูบวาบไปที่มือ ไปประจวบรวมกันที่หัวแม่มือจนต้องยกนิ้วมือขึ้นมอง”
ภาพก็มาปรากฏชัดเจนขึ้นทีละนิดๆจนสามารถเห็นได้ชัดทั้งหมด และศิลปินจิตร บัวบุศย์ จึงได้เริ่มสเก็ตช์และทำหุ่นประติมากรรมรูปเหมือนของท่านหลวงปู่ทวด
จนเกิดการแพร่หลายขึ้นต่อมา ปัจจุบันนี้ยังมีรูปหล่อขนาดใหญ่ฝีมือ ศ.จิตร บัวบุศย์ อยู่ที่หอพระหน้าของโรงพยาบาลวิชัยยุทธ สามารถกราบสักการะได้ทุกวัน
ศ.(พิเศษ) จิตร บัวบุศย์ เกิดเมื่อปี ๒๔๕๔ เป็นบุตรของหลวงชาญหัตถกิจนายช่างใหญ่ กรมราชทัณฑ์ สำเร็จจากโรงเรียนเพาะช่าง ได้รับทุนไปศึกษาต่อปริญญาโท ณ สถาบันวิจิตรศิลป์ กรุงโตเกียว ๖ ปี สำเร็จการศึกษาด้านประติมากรรมและ จิตรกรรม กลับมารับราชการที่โรงเรียนเพาะช่างและเริ่มออกแบบตึกเรียนใหม่ทั้งหมดแทนของเดิมที่ถูกระเบิดในช่วงสงคราม กลายเป็นต้นทางให้กับอาคาร “ทรงไทยประยุกต์” ของอาคารกระทรวงทั้งหมดที่ตั้งบนถนนราชดำเนิน และตึกศาลาว่าการจังหวัดทั่วไทย
ในด้านวิชาการท่านเขียนตำรามาก โดยเฉพาะเรื่อง คลื่นทางพุทธศาสนาและศิลปะจากอินเดียที่ได้เคลื่อนที่ผ่านสุวรรณภูมิเป็น ๔ ระลอก ตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์
ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นราชบัณฑิต สาขาวิจิตรศิลป์ เมื่อ ปี๒๕๒๔
นับเป็นจิตรกรแนวอิมเพรสชันนิสม์ที่ยิ่งใหญ่ และมีพื้นฐานทางวิชาการแข็งแกร่งอย่างยิ่งของประเทศไทยผู้หนึ่งสามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกประทับใจได้อย่างนุ่มนวลงดงามในเรื่องการใช้สีที่ประสานกลมกลืน สร้างบรรยากาศแสงเงาที่ร่มรื่น สดใส ไม่ว่าจะเป็นการพลิ้วไหวของแสง อากาศ น้ำ ต้นไม้ใบหญ้า ด้วยกลวิธีระบายสีด้วยเกรียงที่ปาดอย่างชำนาญ อิสระ ฉับพลัน เปี่ยมด้วยพลังความรู้สึกที่ต้องการแสดงออกในขณะนั้น ผสานกับกลวิธีระบายสีที่หลากหลาย จนได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นราชบัณฑิต สาขาศิลปกรรมต่อมา และเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี ๒๕๔๕ เพิ่งจากไปเมื่อสิริอายุได้ ๙๙ ปี