พฤติกรรมแห่ตามกัน(อีกครั้ง) ที่ตลาด Cryptocurrencies

20 ม.ค. 2564 | 12:15 น.

พฤติกรรมแห่ตามกัน(อีกครั้ง) ที่ตลาด Cryptocurrencies : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,646 หน้า 5 วันที่ 21 - 23 มกราคม 2564

 

ตลาด Cryptocurrencies ถูกจับตามองอีกครั้ง เมื่อราคา Bitcoin พุ่งขึ้นสูง เกิน 300% ในช่วงปลายปี 2020 และทำสถิติ New High ใหม่ เมื่อต้นเดือนมกราคม 2021 ที่ราคาเกิน USD 41,000 แต่หลังจากนั้นราคาก็เริ่มร่วงลงมาพอสมควรและยังผันผวนมากอยู่ในขณะนี้

 

แม้ Bitcoin จะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2009 แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก จนกระทั่งราคาของมันพุ่งสูงปรี๊ดเมื่อปลายปี 2017 คือขึ้นจากประมาณ USD 1,000 ตอนช่วงต้นปีเป็นราคาประมาณ USD 20,000 ตอน ช่วงปลายปี หรือเรียกว่าขึ้นมาเกือบ 20 เท่า แต่หลังจากนั้นไม่นานราคาก็ร่วงลงมาค่อนข้างเร็ว ช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ Bitcoin ก็นิ่งๆ ไม่ได้มีข่าวคราวอะไรมากจนกระทั่งราคาพุ่งสูงขึ้นมาอีกเป็นประวัติการณ์ในช่วงนี้

 

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคา Bitcoin พุ่งสูงในครั้งนี้?

 

บางคนบอกว่าเป็นเพราะมีนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาซื้อเป็นจำนวนมาก บางคนมองว่าผู้คนเริ่มเห็น Cryptocurrencies เป็นการลงทุนทางเลือกแทนสินทรัพย์อื่นๆ ทำให้มีอุปสงค์มาก เมื่อมีอุปสงค์มากก็เลยทำให้ราคาขึ้น  ซึ่งคำตอบเหล่านี้ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่หากจะให้ผู้เขียนตอบคำถามนี้ ผู้เขียนอยากใช้ข้อมูลที่ได้จากการอ่านงานวิจัยโดยนักเศรษฐศาสตร์หลายๆ ท่าน มาช่วยอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนี้

 

อยากย้อนกลับไปว่า เมื่อตอนที่ Bitcoin ราคาพุ่งสูงปรี๊ดเมื่อปลายปี 2017 ไม่ใช่แค่คนทั่วไปเท่านั้นที่หันมาสนใจ Bitcoin นักเศรษฐศาสตร์จากทั่วทุกมุมโลกก็หันมาสนใจ และพยายามหาคำตอบว่าปัจจัยอะไรที่มีผลทำให้ราคาของ Bitcoin ขึ้นสูงได้ขนาดนั้น (รวมถึงศึกษาไปถึง Cryptocurrencies ตัวหลักตัวอื่นๆ เช่น Ethereum, Ripple (XRP), Stellar, Litecoin, etc. ที่ราคาพุ่งขึ้นไปในทิศเดียวกับ Bitcoin ในช่วงเวลาเดียวกัน และก็ร่วงลงมาในเวลาใกล้เคียงกัน)

 

นักเศรษฐศาสตร์ได้มีการพยายามหาความสัมพันธ์ของราคา Bitcoin (และ Cryptocurrencies ตัวหลักตัวอื่นๆ) กับราคาของ Asset ประเภทอื่นๆ เช่น stocks, bonds, precious metals (i.e., gold), etc.  ได้มีการพยายามศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างราคา Bitcoin กับ Currencies ต่างๆ  โดยงานวิจัยส่วนใหญ่พบว่า ราคาของ Bitcoin ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆกับ Asset ประเภทอื่นๆ รวมถึงไม่มีความสัมพันธ์ใดๆกับ Currencies อื่นๆ ด้วย

 

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ ยังได้มีการพยายามหาความสัมพันธ์ของราคา Bitcoin กับ macroeconomic indicators ต่างๆ เช่น inflation, GDP, etc. ก็พบว่าราคาของ Bitcoin ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับ macroeconomic indicators เหล่านี้เช่นกัน

 

 

แต่มีสิ่งที่งานวิจัยหลายชิ้นค้นพบตรงกัน ที่น่าสนใจคือ

 

ราคา Bitcoin วิ่งไปตาม “Sentiment” หรือ “ความรู้สึกของนักลงทุนในตลาด” โดยงานวิจัยหาค่า Sentiment เหล่านี้มาจากข้อมูลข่าวจาก source ต่างๆ, ข้อมูลที่คน Post บน Twitter หรือ Web board อย่าง Reddit, etc.

 

ราคา Bitcoin กับ Cryptocurrencies ตัวอื่นๆ ค่อนข้างวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน (แม้ว่า Bitcoin กับ Cryptocurrencies ตัวอื่นๆ อาจจะถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีและวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน รวมถึงบางตัวก็ไม่ได้มี Limit Supply เหมือน Bitcoin ด้วย)

 

พฤติกรรมแห่ตามกัน(อีกครั้ง) ที่ตลาด Cryptocurrencies

 

 

เพราะฉะนั้นถ้าถามความเห็นของผู้เขียนว่าราคา Bitcoin สูงขึ้นเพราะอะไร ผู้เขียนมองว่าราคาสูงขึ้นเพราะผู้คนแห่กันเข้าไปซื้อ (หรือที่เรียกว่า Herding Behavior) โดย Herding Behavior นี้ได้ส่งผลไปถึง Cryptocurrencies ตัวหลักตัวอื่นๆ ด้วย หากดูราคา Ethereum, Stellar, Litecoin ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็จะพบว่าราคา Cryptocurrencies เหล่านี้ก็จะวิ่งขึ้นตามราคา Bitcoin ในช่วงที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน  และ Cryptocurrencies พวกนี้ก็เคยมีประวัติวิ่งขึ้นตอนช่วงปลายปี 2017 พร้อม Bitcoin และก็ร่วงลงมาพร้อมๆ กับ Bitcoin ในปี 2018 (แต่สำหรับ Ripple (XRP) ราคาไม่ได้วิ่งขึ้นตาม Cryptocurrencies อื่นๆ ในรอบนี้ เพราะมีข่าวไม่ดีเรื่องที่ U.S. Securities and Exchange Commission กล่าวหาว่า Ripple เป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ถูกกฎหมายที่ USA)

 

อย่างไรก็ดี การตอบเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าห้ามยุ่งกับ Cryptocurrencies หรือว่า Cryptocurrencies ไม่มีอะไรดีเลย จริงๆ แล้ว Cryptocurrencies บางตัวถูกสร้างเพื่อให้ประโยชน์บางอย่าง เช่น Ethereum Blockchain ถูกสร้างขึ้นมาเป็นรากฐานให้สำหรับ Smart Contract Technology หากตลาดมองว่า Technology นี้มีประโยชน์ ราคาที่เหมาะสมของ Ethereum ก็ควรจะมีค่าเท่ากับการที่ตลาดประเมินว่า Technology นี้คุณค่ามากแค่ไหน หรือ ICO (Initial Coin Offering) Token บางตัวที่เป็นที่นิยมและสุดท้ายถูกนำมาซื้อขายในตลาดรอง หาก Token นั้นเป็นของบริษัทที่มีพื้นฐานดีและให้สิทธิ์ที่น่าสนใจกับผู้ถือ ราคาที่ซื้อขายในตลาดรองที่เหมาะสม ก็ควรมีค่าตามที่ตลาดประเมินว่า Token นี้คุณค่ามากแค่ไหน

 

 

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา อาจเป็นไปได้ว่าตลาดของ Cryptocurrencies ยังไม่เสถียรมากพอ หรืออาจเป็นเพราะมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้องมากมาย ดูเหมือนว่าราคา Bitcoin (รวมถึง Cryptocurrencies ตัวหลักๆ ตัวอื่นๆ) ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถสะท้อนคุณค่าจริงๆที่มันควรจะเป็น ดูเหมือนราคาของ Cryptocurrencies เหล่านี้จะแค่วิ่งตาม Sentiment ของนักลงทุนตลาดเสียส่วนใหญ่ แม้บางครั้ง Sentiment อาจเกิดจากข่าวที่เป็นเรื่องจริง แต่หลายครั้ง Sentiment ก็เกิดจากการวิ่งแห่ซื้อตามกัน หรือตระหนกตกใจเทขาย โดยอาจไม่ได้มีเหตุผลที่เพียงพอ

 

การเข้าไปซื้อ Cryptocurrencies จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง (ส่วนตัวแล้วไม่ค่อยแนะนำ โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา) และไม่แนะนำสำหรับการลงทุนระยะยาว เพราะมีความผันผวนสูง รวมถึงผู้ซื้อจึงควรพึงตระหนักว่า เงินที่เอามาลงอาจจะสูญไปทั้งหมดได้ในพริบตา  ส่วนตัวมองว่าแม้ Cryptocurrencies, Blockchain Technology, และ Blockchain-Based Digital Assets เป็น Technology ที่น่าจับตามอง แต่การเข้า ไปซื้อ Cryptocurrencies เพื่อหวังเก็งกำไรเป็นสิ่งที่ควรระวัง เพราะการเปลี่ยน แปลงของราคา Cryptocurrencies ในขณะนี้ยังไม่ได้ Reflect คุณค่าที่แท้จริงของมัน