ส่องเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ในสเปน

29 มิ.ย. 2563 | 13:34 น.
688

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต

โดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด

- - - - - - -

ในช่วงที่ผ่านมาประเด็นด้าน สิ่งแวดล้อม ได้กลับมาเป็นประเด็นที่สังคมโลกตื่นตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไม่รีบทำการแก้ไขอาจทำให้มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ การรอให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเดียวนั้นคงไม่พอ ผู้ผลิตก็จำเป็นที่จะต้องให้ความร่วมมือเช่นกัน จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่เรียกว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ “Circular Economy”

 

Circular Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวคิดใหม่ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไปสู่ความยั่งยืน โดยการมุ่งให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในกระบวนการที่เกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นำมาสู่การปราศจากของเสียและมลพิษตลอดทั้งกระบวนการของสินค้าและบริการ

 

รัฐบาลและนักสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับ Circular Economy มากขึ้น โดยเห็นได้จากนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลและหน่วยงานเพื่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทั่วโลกได้ออกมารณรงค์เพื่อลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการใช้พลาสติก ซึ่งมีการผลิตมากถึง 300 ล้านตันต่อปี และครึ่งหนึ่งเป็นการใช้งานเพียงครั้งเดียว

ส่องเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ในสเปน

สเปน เป็นอีกประเทศที่มีการกำหนดนโยบายรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบนี้ ทั้งระดับชาติ ระดับแคว้นและระดับท้องถิ่น โดยภาคประชาชนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะการรีไซเคิลมากขึ้น ในปี 2561 มีการรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์ในครัวเรือนทั้งสิ้น 1.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.3% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1.6 ล้านตัน ทำให้สเปนเป็นประเทศที่มีการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์มากที่สุดเป็นอันดัน 6 ของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ 70.3%

ส่องเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ในสเปน

ในส่วนของภาคเอกชนสเปนมีหลายหน่วยงานที่นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินงานปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ อีโคเอ็มเบส (ECOEMBES) ก่อตั้งเมื่อปี 2539 เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการรีไซเคิลและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีความโดดเด่นที่น่าสนใจทั้งการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ การศึกษา และนวัตกรรม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ECOEMBES มีหน้าที่จัดการขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก กระป๋อง กล่องเครื่องดื่ม และบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษ และกระดาษ ผ่านกระบวนการคัดแยกและรีไซเคิลเพื่อนำทรัพยากรนำมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ECOEMBES ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งรวมถึงชาวสเปน 47 ล้านคน เทศบาลเมือง 8,000 แห่ง องค์กร 400 แห่งและ บริษัท 12,000 ราย ซึ่งสถิติของ ECOEMBES ระบุว่าตั้งแต่ปี 2539 ได้มีการรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์ในสเปนไปแล้วจำนวนกว่า 22.2 ล้านตัน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศได้ถึง 21.8 ล้านตัน และสถิติเฉพาะในปี 2561 ระบุว่าบริษัทสามารถรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์ได้ถึง 78.8%

ส่องเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ในสเปน

นอกจากนี้ ECOEMBES ยังได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรม The Circular Lab (TCL) เมื่อปี 2560 ณ เมืองโลโกรโญ (Logroño) แคว้นลา ริโอฆา (La Rioja) ทางตอนเหนือของสเปน โดย TCL เป็น ศูนย์นวัตกรรมเปิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนแห่งแรกของยุโรป เน้นการศึกษาวิจัย ทดสอบ และพัฒนาแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์และการรีไซเคิลในสถานการณ์จริง โดยร่วมมือกับเครือข่ายบุคลากรภายนอก 200 ราย ทั้งจากบริษัท มหาวิทยาลัย ศูนย์เทคโนโลยีสตาร์ทอัพ และหน่วยงานภาครัฐ โดย TCL ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่สำคัญอย่าง รัฐบาลแคว้น La Rioja เทศบาลเมือง Logroño และ Environment Directorate General of the European Commission อีกด้วย

 

การวิจัยทางนวัตกรรมของ TCL แบ่งออกเป็น 4 สาขา ได้แก่

(1) Packaging of the future ซึ่งมุ่งเน้นการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

(2) Awareness สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเพื่อส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในกระบวนการรีไซเคิลมากยิ่งขึ้น

(3) Smart Waste พัฒนาแอปพลิเคชันเทคโนโลยี เพื่อจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่กระบวนการจัดเก็บ คัดเลือกและรีไซเคิลอย่างชาญฉลาด                 

และ (4) Entrepreneurship พื้นที่ส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งที่ผ่านมา TCL ได้ส่งเสริมสตาร์ทอัพ 26 รายและให้การอบรมสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนมาแล้ว 400 ราย

นอกจากนี้ ศูนย์ TCL ยังได้ดำเนินโครงการนวัตกรรมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 150 โครงการโดยมีหลาย ๆ โครงการที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น โครงการ Recycle 5.0 ที่ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรีไซเคิลโดยใช้สมาร์ทโฟนเชื่อมต่อกับถังขยะที่มีเทคโนโลยีติดตั้งรองรับ หรือโครงการ Packaging Circular Design ที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บริษัทสามารถคาดการณ์และปรับเปลี่ยนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของบรรจุภัณฑ์ก่อนเริ่มผลิตจริง ซึ่งเครื่องมือนี้จะช่วยประเมินว่าบรรจุภัณฑ์ที่จะผลิตขึ้นนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ในขณะเดียวกันก็เสนอแนะข้อควรปรับปรุงด้วย

 

โครงการเหล่านี้ล้วนเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้สเปนก้าวไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

สำหรับรัฐบาลไทยก็มีนโยบายส่งเสริม โมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Economy เช่นกัน โดยมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก 3 ด้านไปพร้อม ๆ กัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้ง ยังจะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของ UN อีกด้วย

 

ผู้ประกอบการไทยอาจลองนำโครงการหลาย ๆ โครงการของ ECOEMBES ไปเป็นต้นแบบสำหรับการเปลี่ยน “ขยะ” มาเป็น “ทองคำ” ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจแล้ว ยังเป็นกุญแจสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกใบนี้อีกด้วย เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy นั้นจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องศึกษา และปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมให้ไทยก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

 

ข้อมูลอ้างอิง