การ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดภัยแล้งและนํ้าท่วม ซึ่งนับวันจะมีความถี่และทวีความ รุนแรงมากขึ้น ทำให้ผลผลิตข้าวเสียหายทั้งปริมาณและคุณภาพ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และ รายได้ชาวนาลดลง
กรมการข้าว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และองค์กรความร่วมมือระหว่าง ประเทศของเยอรมัน (GIZ) เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงการทำนาและการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย จึงพัฒนาความร่วมมือและแนวทางในการแก้ปัญหา ข้างต้น โดยดำเนินงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA)
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและความมั่นคง ของการพัฒนาที่ยั่งยืนของข้าวและชาวนาไทย จึงมีการพัฒนาข้อเสนอโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Thai Rice GCF) เพื่อยื่นขอทุนสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) อนุมัติเงินสนับสนุน 38 ล้านยูโร ในการดำเนินงานโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Thai Rice GCF) ภายใต้การดำเนินการของโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยได้มากกว่า 2.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2eq) ภายใน 5 ปี
นายชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิเดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา กรมการข้าวได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับกรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำแผนส่งเสริมและพัฒนาชาวนาตามเป้าหมายโครงการฯส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ ผ่านกลไกสำคัญของกรมการข้าว และกรมส่งเสริมการเกษตร เช่น ศูนย์ข้าวชุมชน นาข้าวแปลงใหญ่ ศูนย์จัดการดิน และปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) Smart Farmer Young Smart Farmer ชาวนาอาสา และอาสาสมัครเกษตร ตลอดจนการดำเนินงานพัฒนาคู่มือการพัฒนาชาวนาเพื่อการปลูกข้าวด้วยเทคโนโลยีที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่กลุ่มชาวนา
การดำเนินงานดังกล่าวมีเป้าหมายพื้นที่ 21 จังหวัด ภาคกลาง จำนวน 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท พิจิตร นครสวรรค์ และจังหวัดลพบุรี ภาคตะวันตก จำนวน 1 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสุพรรณบุรี ภาคเหนือ จำนวน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก กำแพงเพชร และจังหวัดอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี โดย กรมการข้าว และกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกันคัดเลือกชาวนาในพื้นที่ 21 จังหวัดข้างต้น จำนวนไม่น้อยกว่า 212,000 ราย”
ดร.อรทัย ใจตุ้ย ผู้อำนวยการกลุ่มวิเทศสัมพันธ์และโครงการพิเศษ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าว กรมการข้าว กล่าวถึงแนวทางความร่วมมือระหว่าง กรมการข้าว และกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินงานพัฒนาวิทยากรเพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้ ไปสู่ชาวนาอย่างมืออาชีพ (Smart Farmer : SF) และชาวนาอาสา/อาสาสมัครเกษตร (Volunteer Rice Farmer : VRF/Volunteer Agricultural farmer : VAF) ตามรูปแบบการถ่ายทอดความรู้สู่ชาวนาสมาชิกของกลุ่ม หรือหมู่บ้าน โดยปฏิบัติตามคู่มือการถ่ายทอดความรู้ของโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ ที่ร่วมกันในการจัดทำสื่อและเครื่องมือเพื่อสนับสนุน และเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดความรู้การปลูกข้าวด้วยเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มศักยภาพ
ประกอบด้วย 11 เทคโนโลยี ดังนี้ 1. การวางผัง/รูปแบบการใช้พื้นที่ (Farm Landscape Design) การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องนํ้า ดิน และภูมินิเวศน์ของแปลงนา 2. การเลือกใช้พันธุ์ข้าว 3. การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ 4. การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการปลูกข้าวที่เหมาะสมกับนาที่ใช้นํ้าฝนหรือนาที่ใช้ นํ้าชลประทาน เช่น การใช้เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือการใช้เครื่องโรยข้าวงอก เป็นต้น 5.การจัดการนํ้าแบบเปียกสลับแห้ง 6. การจัดการธาตุอาหารข้าวตามค่าวิเคราะห์ดิน และความต้องการของพืช 7.การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน 8.การใช้อากาศยานไม่มีคนขับ (Drone) ทางการเกษตร และการใช้เครื่องจักรกลเกษตรในการทำนา 9. การจัดการฟางและตอซังข้าว 10.การใช้ข้อมูลพยากรณ์อากาศเพื่อวางแผนปลูกข้าว และ 11. การปลูกพืชอื่นเสริมระบบการทำนา
ทั้งนี้ มีการเชื่อมโยงข้อมูลเกษตรกรจากฐานข้อมูลทะเบียน เกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามขั้นตอนของโครงการเพิ่มศักยภาพ การปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ มีความร่วมมือในการดำเนินงาน รายงานผลการดำเนินงาน การใช้จ่าย งบประมาณ ติดตามความก้าวหน้า การประเมินผลเป็นรายไตรมาสของแต่ละปี ตามระยะเวลาโครงการฯ เพื่อส่งมอบให้กรมการข้าวรายงานแก่กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund : GCF) ตามเงื่อนไข ของสัญญาการให้ทุนสนับสนุนโครงการฯ ตามระบบงานที่กำหนดไว้ โดยเป็นข้อมูล ประกอบด้วย แผนและผล ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน รายงานการติดตามการปฏิบัติงานการพัฒนาสมรรถนะของวิทยากรระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นไปตามระบบการรายงานของกรมการข้าว
ดร.อรทัย กล่าวว่า เงื่อนไขในการรับงบประมาณจากองค์กรต่างประเทศเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินงานของโครงการจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน ซึ่งในเร็วๆนี้จะเร่งเสนอเพื่อให้โครงการขับเคลื่อนให้เร็วที่สุด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยได้มากกว่า 2.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2eq)
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,062 วันที่ 16 - 18 มกราคม พ.ศ. 2568
ข่าวที่เกี่ยวข้อง