ขณะที่การขังนํ้าในนาข้าวในพื้นที่เขตนาชลประทาน ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งมีศักยภาพการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า
นายวิชัย ปักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อบุคคล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. กล่าวว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับองค์กรความร่วมมือต่างประเทศเยอรมัน หรือ GIZ จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Thai Rice NAMA ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลประเทศเยอรมนี สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และสหภาพยุโรป ผ่านโครงการ NAMA Facility วงเงิน 14.9 ล้านยูโร (ประมาณ 600 ล้านบาท) มีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี (2561- 2566) นั้น
ล่าสุดทางเจ้าของแหล่งเงินทุนเห็นว่า เกษตรกรไทยเริ่มเข้าใจระบบดังกล่าว และกำลังให้การตอบรับอย่างดี จึงได้ขยายเวลาโครงการไทย ไรซ์ นามา ไปอีก 1 ปี จากเดิมที่สิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นไปสิ้นสุดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสเข้าถึงโครงการมากยิ่งขึ้น ด้วยงบสนับสนุนอีกจำนวน 8 ล้านยูโร คิดเป็นประมาณ 300 ล้านบาท ในพื้นที่นำร่องภาคกลาง และภาคตะวันตก 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ปทุมธานี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง มีพื้นที่รวมกว่า 2.8 ล้านไร่ ครอบคลุม 100,000 ครัวเรือน
นอกจากนี้ คณะทำงานยังได้มีการพิจารณาขยายโครงการไปยังพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวขนาดใหญ่ เพื่อสร้างผลลัพธ์ในภาพใหญ่อีก 3 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ลพบุรี และนครราชสีมา
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.และ GIZ ยังได้หารือร่วมกันว่าช่วงที่โครงการดำเนินการใกล้แล้วเสร็จจะมีการประเมินร่วมกันอีกครั้งว่าผลของโครงการเป็นอย่างไร และก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างไรบ้าง ช่วงนี้จึงเน้นสนับสนุนให้เกษตรกรได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยลดโลกร้อนก่อน อีกทั้ง ยังตระหนักให้เกษตรกรรู้ถึงการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างการยอมรับในภาพใหญ่มากยิ่งขึ้น
นายวิชัย กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการไทย ไรซ์ นามา จะเป็นการสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาผลิตข้าวแบบใหม่โดยใช้ 4 เทคโนโลยี ได้แก่ การปรับหน้าดินด้วยระบบเลเซอร์ การทำนาระบบแห้งสลับเปียก การใช้ปุ๋ยสั่งตัด และลดการเผาฟางข้าวและตอซัง ซึ่งกรรมวิธีการปลูกสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 30% เมื่อเทียบกับวิธีทำนาปกติ และยังช่วยเพิ่มผลผลิต ข้าวมีคุณภาพมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น
สำหรับ ธ.ก.ส. เองมีส่วนร่วมเป็นตัวกลางในการจ่ายเงินกู้ให้กับลูกค้าเกษตรกร โดยมีแพ็กเกจ 2 รูปแบบ ได้แก่ แพ็กเกจ 1 สำหรับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถเลือกสมัคร หากได้รับการอนุมัติ จะได้รับเงินอุดหนุน 50% พร้อมกับ เงินทุนหมุนเวียนอีก 50% รวมสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อไร่ และแพ็คเกจ 2 สำหรับผู้ให้บริการทางการเกษตร เพื่อจัดซื้อชุดอุปกรณ์ปรับหน้าดินด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Levelling: LLL) โดยให้ เงินอุดหนุนถึง 50% ของราคาชุดอุปกรณ์แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย
“LLL เป็นเครื่องจักรที่ใช้ติดกับรถไถขนาดใหญ่ จะมีเครื่องที่เป็นเครื่องเลเซอร์วัดระดับที่ดิน แล้วจะต้องปรับหน้าดินให้เท่ากัน เช่น ที่สูงก็จะมีการไถดินออก ส่วนตรงที่เป็นดินลึกเข้าไปก็จะนำดินจากส่วนที่สูงมากลบ เพื่อลดปัญหานํ้าท่วมขลัง ให้พื้นที่แปลงใหญ่มีระนาบเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้มีการลงไปเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จ.สุพรรณบุรี ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายลง เช่น การลดค่าใช้จ่ายการสูบนํ้าเข้านา เพราะการใช้เทคโนโลยี LLL ช่วยทำให้พื้นที่ราบเรียบ ปัญหาเรื่องระดับนํ้าไม่เท่ากันก็ลดลง เป็นต้น แน่นอนว่าผลผลิตอาจจะไม่ได้เพิ่มมากขึ้น แต่เป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยลดต้นทุน และเมื่อต้นทุนลด ก็ทำให้ส่วนที่เป็นกำไรของเกษตรกรเพิ่มขึ้น”นายวิชัย กล่าว
ปัจจุบันมีเกษตรกรจากพื้นที่ 6 จังหวัดนำร่องเข้ามาร่วมโครงการ และขอสินเชื่อแล้วกว่า 255 ราย จำนวนพื้นที่ 3,749 ไร่ คิดเป็นวงเงิน 7.3 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการจะนำวงเงินไปพัฒนาปรับปรุงพื้นที่
ผลสำเร็จจากโครงการดังกล่าว ในช่วงปี พ.ศ. 2561-2564 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการกว่า 25,000 คน สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวได้กว่า 305,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง