greener-living

คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ เติบโตตามแนวโน้มโลก โครงการ T-VER อยู่ 'ระยอง' มากสุด

    คาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้ เติบโตสอดคล้องกับแนวโน้มโลกโครงการ T-VER อยู่ 'ระยอง' มากสุด ตามด้วย นครราชสีมา ชลบุรี เชียงใหม่ สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ

โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ซึ่งมี อบก. เป็นผู้ให้การขึ้นทะเบียนโครงการและรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตส่วนใหญ่อยู่ในประเภทการพัฒนาพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานชีวมวล ชีวภาพ และแสงอาทิตย์ รองลงมาคือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน 

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 มีโครงการการจัดการของเสีย และการปลูกป่าได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งทิศทางการเติบโตของคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้ในไทยสอดคล้องกับแนวโน้มการรับรองคาร์บอนเครดิตของโลก

 

หากมองในมิติเชิงพื้นที่ จะพบว่าจังหวัดที่มีโครงการ T-VER ตั้งอยู่มากที่สุดคือ ระยอง ตามด้วย นครราชสีมา ชลบุรี เชียงใหม่ สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ ตามลำดับ ซึ่งจังหวัดเหล่านี้มักมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าพื้นที่อื่นๆ 

 

หากพิจารณาปริมาณเครดิตที่ได้รับการรับรองของแต่ละจังหวัดจะพบว่า แม้ จ.ชัยภูมิ สุพรรณบุรี และสระบุรี จะมีจำนวนโครงการที่ขึ้นทะเบียนเพียงไม่กี่โครงการ แต่สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มาก โดยคาร์บอนเครดิตในชัยภูมิมาจากโครงการพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด เช่น การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล (เช่น Mitr Phol Bio-Power) และพลังลม (Hanuman Wind Farm Project ของหลายบริษัท) 

 

 

นอกจากนี้ บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ จำกัด ยังมีโครงการพลังงานชีวมวลขนาดใหญ่ใน จ.สุพรรณบุรี กาฬสินธุ์ และเลย อีกด้วย

 

ตัวอย่างโครงการประเภทเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วคือ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมแบบโคเจนเนอเรชั่น (Combined-Cycle Co-Generation Power Plant) ใน จ.ชลบุรี ของบริษัท ท็อป เอสพีพี จำกัด ซึ่งคาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 335,674 tCO2e/ปี 

 

ด้านการจัดการของเสีย พบว่ามีโครงการที่ได้คาร์บอนเครดิตสูงใน จ.สระบุรี คือ โครงการการผลิตเชื้อเพลิงขยะจากขยะมูลฝอยชุมชน (Refuse Derived Fuel Production from Municipal Solid Waste) โดยบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

 

สำหรับโครงการ T-VER ในภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และการปรับกระบวนการขนส่ง แม้จะยังมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองไม่มากนัก แต่มีตัวอย่างโครงการขึ้นทะเบียนแล้วที่น่าสนใจ ดังนี้

 

  • การจัดการในภาคขนส่ง เช่น การเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ E-Bus สำหรับรับส่งพนักงานของบริษัท เอสซีจีเคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) และรถสามล้อไฟฟ้าของบริษัท มูฟมี ฮีโร่ จำกัด รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทดแทนน้ำมันดีเซล/เบนซินชนิดพื้นฐานของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

 

  • การเกษตร เช่น โครงการกักเก็บและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสวนยางพาราของบริษัท ศรีตรัง รับเบอร์ แอนด์ แพลนเทชั่น จำกัด จ.เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ และสุโขทัย นอกจากนี้แนวทางสร้างคาร์บอนเครดิตในภาคเกษตรยังทำได้โดยการทำนาลดโลกร้อน การใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธี และการปลูกพืชเกษตรยืนต้น

 

  • ป่าไม้และพื้นที่สีเขียว มีโครงการที่ได้รับการรับรองเครดิตปริมาณมากที่สุดขณะนี้อยู่ใน จ.แพร่ ขณะที่โครงการปลูกป่าขนาดใหญ่ในเชียงรายและน่านที่ขึ้นทะเบียนแล้ว คาดว่าจะกักเก็บปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากเช่นกัน ปัจจุบันโครงการป่าไม้ได้รับการผลักดันมากขึ้นเพราะมีความสามารถในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้สูง และสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ดำเนินโครงการหรือชุมชนที่ร่วมพัฒนาโครงการด้วย