greener-living

ทำความรู้จักตลาดคาร์บอนเครดิต ภาคพลังงาน ขนส่ง เกษตร และป่าไม้ โตก้าวกระโดด

    ทำความรู้จักตลาดคาร์บอนเครดิตและความสำคัญต่อโลกธุรกิจ ภาคพลังงาน ขนส่ง เกษตร และป่าไม้ มีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด

คาร์บอนเครดิต (Carbon credit) คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมแต่ละโครงการสามารถลดหรือกักเก็บได้ ซึ่งเมื่อได้รับการรับรองแล้วสามารถนำไปซื้อขายในตลาดได้ กลไกคาร์บอนเครดิตจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถชดเชยการปล่อยคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน 

 

แม้ปัจจุบันตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยจะยังมีขนาดเล็ก แต่ก็มีทิศทางเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งด้านปริมาณและราคา เมื่อมองไปข้างหน้า ตลาดคาร์บอนเครดิตยังมีโอกาสเติบโตได้ดี จากการมุ่งไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนขององค์กรและประเทศต่างๆ โดยได้อานิสงส์จากความต้องการในภาคพลังงาน การบิน การจัดประชุม และภาคการเงิน

 

แนวโน้มผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตจะมาจากภาคพลังงาน การขนส่ง เกษตรกรรม และป่าไม้เป็นสำคัญ โดยเฉพาะการปลูกป่าที่จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูง 

 

ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยยังมีความท้าทายอีกหลายประการ ทั้งด้านต้นทุนของการดำเนินโครงการที่สูง ความพร้อมของระบบนิเวศ มาตรฐาน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อข้อจำกัดเหล่านี้ลดลงจะทำให้ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยมีผู้เล่นมากขึ้น และขยายตัวได้ในยุคที่ทุกภาคส่วนของโลกต่างมุ่งไปที่เศรษฐกิจสีเขียว

 

 

คาร์บอนเครดิตสำคัญอย่างไร

ปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2566 เป็นเดือนที่อุณหภูมิของโลกสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ จนกระทั่งเลขาธิการสหประชาชาติได้ออกมาประกาศว่าขณะนี้โลกได้ก้าวผ่านยุคโลกร้อน (Global Warming) และเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) เรียบร้อยแล้ว

 

ที่ผ่านมานานาประเทศ รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ ทั่วโลกตั้งเป้าหมายและดำเนินมาตรการอย่างเร่งด่วนและชัดเจนขึ้น ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือหรือกลไกที่ผู้ดำเนินนโยบายเลือกใช้ในการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายสีเขียวคือ การอาศัยกลไกราคาและตลาดคาร์บอน โดยกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) หมายถึงการทำให้การปล่อยคาร์บอนมีต้นทุนหรือราคาที่ต้องจ่าย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

 

กลไกดังกล่าวอาจอยู่ในรูปของภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ที่กำหนดอัตราภาษีต่อหน่วยการปล่อยคาร์บอน ซึ่งอาจเก็บจากแหล่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Tax) หรือจากการใช้ประโยชน์ เช่น เก็บตามปริมาณคาร์บอนในน้ำมัน ตลอดจนกลไกตลาดซื้อขายการปล่อยคาร์บอนที่สำคัญ 

 

เช่น ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) กำหนดให้องค์กรต่างๆ สามารถปล่อยคาร์บอนได้ก็ต่อเมื่อได้รับการจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Allowance) 

 

โดยรัฐบาลจะกำหนดเพดานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมไว้ และอนุญาตให้มีการซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอน (Cap and Trade) จึงมีลักษณะเป็นกลไกกำกับในระดับองค์กรที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ (Site-based หรือ Facility-based Mechanism) ให้ลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น ETS ในสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และจีน

 

การซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เป็นการซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานต่างๆ (Project-based Mechanism) ซึ่งสามารถนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้

 

นอกจากนี้ ตลาดคาร์บอนยังแบ่งออกเป็นตลาดภาคบังคับที่ประกาศเป็นกฎหมายและมีบทลงโทษเมื่อไม่ปฏิบัติตาม เช่น EU ETS และตลาดภาคสมัครใจที่ผู้เข้าร่วมในตลาดยินดีซื้อขายด้วยความสมัครใจ เช่น ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย 

 

คาร์บอนเครดิตคืออะไร

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงหรือกักเก็บได้จากการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับกรณีการดำเนินธุรกิจตามปกติ (Business-as-Usual: BAU) มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) โดยปริมาณนั้นต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานต่างๆ และสามารถนำไปซื้อขายระหว่างผู้ต้องการชดเชยการปล่อยคาร์บอนและผู้ที่ลดการปล่อยคาร์บอนได้ 

 

กลไกดังกล่าวจึงสร้างแรงจูงใจ (Incentivize) ให้ภาคส่วนต่างๆ ลดการปล่อยคาร์บอนลงนั่นเอง

โดยทั่วไปคาร์บอนเครดิตจะมีที่มาจากโครงการ 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission reduction/avoidance) เช่น การใช้พลังงานทดแทน การปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน และการจัดการของเสีย และ 2) การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Removal หรือ nature-based sequestration) 

 

เช่น การใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน และการปลูกป่า โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จาก BAU ต้องได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานต่างๆ เป็นคาร์บอนเครดิตก่อน ผู้ดำเนินโครงการลดคาร์บอน (Supply) จึงจะสามารถนำไปขายแก่ผู้ต้องการชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Demand) ได้

 

ตัวอย่างมาตรฐานคาร์บอนเครดิตที่ได้รับความนิยมในระดับสากล เช่น Clean Development Mechanism (CDM) ซึ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ Gold Standard (GS) ซึ่งพัฒนาโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอื่นๆ และ Verified Carbon Standard (VCS) ของ Verra 

 

สำหรับไทยยังมีมาตรฐานคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Project: T-VER) ส่วน มาตรฐานที่ใช้อย่างแพร่หลายและมีปริมาณการรับรองมากที่สุดคือ VCS โดยมีส่วนแบ่งปริมาณเครดิตในตลาดโลกถึง 42% ในช่วงปี 2561-2565 รองลงมา ได้แก่ CDM (32%) และ GS (8.2%) ตามลำดับ 

 

ในขณะที่คาร์บอนเครดิตจากมาตรฐาน T-VER ของไทย คิดเป็นเพียง 0.8% ของทั้งโลก