greener-living

อนาคต 'พลังงานสะอาด' จุดเปลี่ยนโลก สู้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    เส้นทางอนาคต 'พลังงานสะอาด' จุดเปลี่ยนโลกและอุตสาหกรรม ต่อสู้ผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผ่านพ้นปี 2023 ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ย่างเข้าสู่ปี 2024 ที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าโลกอาจร้อนขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ในขณะที่นานาประเทศต่างต่อสู้อย่างเร่งด่วนในการจัดการและพยายามควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้ทะลุ 1.5°C 

 

การประชุม COP28 ที่ผ่านมา ณ นครดูไบ ได้มีการเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของภาคพลังงานและอุตสาหกรรมในการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่จะกำหนด อนาคตของพลังงานสะอาด และผลที่ตามมาคือชะตากรรมของสภาพภูมิอากาศของโลก

 

อนาคต \'พลังงานสะอาด\' จุดเปลี่ยนโลก สู้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อนาคตของพลังงานสะอาด

ในปัจจุบันความต้องการพลังงานสะอาดทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อนาคตของพลังงานหมุนเวียนจึงดูสดใส ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรม และความตระหนักที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม หลากหลายภาคส่วนกำลังทำการปฏิวัติที่ยั่งยืนขึ้น เพื่อปูทางไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

โลกกำลังตระหนักถึงความจำเป็นและเร่งด่วนในการเปลี่ยนจากแหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเดิมมาเป็นทางเลือกอย่างพลังงานที่หมุนเวียนได้ ตามรายงานล่าสุด พลังงานทดแทนคิดเป็น 2 ใน 3 ของการติดตั้งกำลังการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2020 ซึ่งส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสู่ความยั่งยืน

 

อนาคต \'พลังงานสะอาด\' จุดเปลี่ยนโลก สู้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ท่ามกลางความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ทั้งในส่วนของต้นทุนและเงื่อนไขนานาประการ พลังงานหมุนเวียนเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2023 มีข้อมูลระบุว่าเป็นปีที่มีการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มเข้ามามากกว่า 440 กิกะวัตต์

 

ตัวแปรสำคัญในการเติบโตของพลังงานสะอาด

นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์และลม ถือเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างรวดเร็วของพลังงานหมุนเวียน

 

พลังงานแสงอาทิตย์มีราคาไม่แพงมากและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความก้าวหน้าในการพัฒนานวัตกรรมและระบบกักเก็บพลังงาน ในทำนองเดียวกัน กังหันลมก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถควบคุมพลังงานลมได้ในสภาวะที่มีลมต่ำ ซึ่งความก้าวหน้าเหล่านี้ทำให้พลังงานหมุนเวียนเข้าถึงได้ง่ายและน่าดึงดูดยิ่งขึ้นสำหรับภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป

 

นอกจากนี้ รัฐบาลและองค์กรต่างๆ ทั่วโลกกำลังตั้งเป้าหมายในการใช้พลังงานหมุนเวียน หลายประเทศมุ่งมั่นที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วยการดำเนินการตามนโยบายและกฎระเบียบที่ส่งเสริมการนำแหล่งพลังงานสะอาดมาใช้

 

ในขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ยังเปิดรับแนวคิดริเริ่มด้านความยั่งยืน โดยหลายแห่งมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานของตนด้วยพลังงานหมุนเวียนล้วนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

อนาคต \'พลังงานสะอาด\' จุดเปลี่ยนโลก สู้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน

ความท้าทายหลักที่ต้องเผชิญในการเปลี่ยนแปลงพลังงานสะอาด คือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งประมาณไว้ระหว่าง 110 ล้านล้านถึง 275 ล้านล้านดอลลาร์

 

ความขาดแคลนปัจจัยสำคัญนี้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เช่น การขาดการสนับสนุนทางการเงินจากประเทศที่พัฒนาแล้วสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่กำลังเปลี่ยนมาใช้พลังงานสีเขียว ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่มีการเน้นย้ำในการประชุม COP28 ด้วยเช่นกัน

 

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการตัดสินใจอย่างรอบรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีและกลยุทธ์การลงทุน ภาคพลังงานสะอาดต้องการเงินทุนเชิงนวัตกรรมอย่างเร่งด่วน ซึ่งครอบคลุมการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนในการวิจัยและพัฒนา 

 

ความโปร่งใสในโครงการริเริ่ม ESG โดยปราศจากการฟอกเขียวก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุน และดึงดูดเงินทุนเพิ่มเติม ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่รวดเร็วและเท่าเทียมกันมากขึ้น

 

อนาคต \'พลังงานสะอาด\' จุดเปลี่ยนโลก สู้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ภาพรวมแนวโน้มการลงทุนด้านพลังงานสะอาด

อย่างไรก็ตาม ความต้องการพลังงานหมุนเวียนมีมากกว่าอุปสรรค เช่น อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน การเติบโตนี้ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นจากการลงทุนทั่วโลกในอุตสาหกรรม โดยมีมูลค่าถึง 358 พันล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์

 

การลงทุนด้านพลังงานทดแทนมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทั้งภาครัฐและเอกชนต่างตระหนักถึงศักยภาพและความจำเป็นของพลังงานดังกล่าว อีกทั้งภาคพลังงานทดแทนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลกำไรและยั่งยืน โดยดึงดูดเงินทุนจากนักลงทุนทั่วโลก รวมถึงสถาบันกองทุน อาทิกองทุนใหม่จากการประชุม COP28 โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ

 

การไหลเข้าของเงินทุนเหล่านี้ได้กระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาซึ่งนำไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านนี้อีกด้วย

 

อนาคต \'พลังงานสะอาด\' จุดเปลี่ยนโลก สู้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แล้วอนาคตของพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะเป็นอย่างไร?

เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา เส้นทางพลังงานและอุตสาหกรรมได้เป็นศูนย์กลางที่การประชุม COP28 แม้จะมีความกังวลว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่เป็นทั้งผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่เป็นเจ้าภาพการประชุมสำคัญด้านสภาพภูมิอากาศ แต่ก็มีความคืบหน้าในการหาหนทางแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศที่มีผลกระทบมากที่สุดที่เราเคยเห็นมาจนถึงปัจจุบัน

 

แม้ผลลัพธ์จากการประชุมดังกล่าวจะเป็นเพียงสารตั้งต้นอย่างข้อตกลงที่ระบุถึง 'การเปลี่ยนผ่าน' แทน 'การยุติ' การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่อย่างไรก็ตามฉันทามตินี้จะนำมาซึ่งนโยบายและการผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์และความพยายามในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นให้ต่ำกว่า 1.5°C 

 

สรุปแล้ว อนาคตของพลังงานทดแทนยังสดใสในฐานะตัวเอกที่จะมาทดแทนการใช้พลังงานแบบเดิมที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อโลก ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับความยั่งยืน และความพยายามระดับโลกในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

การปฏิวัติที่ยั่งยืนนี้ไม่เพียงแต่บรรเทาผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่จะส่งต่อระบบพลังงานที่สะอาดและยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อไปในอนาคต

 

อ้างอิง:

  • https://citylife.capetown/.../the-lakers-full.../553345/...
  • https://www.utilitydive.com/.../cop28-united.../703255/...