“จนถึงวันนี้ผมมองเป็นเรื่องที่ท้าทายและคิดอยู่เสมอว่าเป็นงานที่สนุกมากเพราะชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และการที่เราเป็นคนมองโลกบวก เลยคิดว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะมีทางออกเสมอ รวมถึงมีโอกาสใหม่ ๆ ด้วย”
พีระศักดิ์ บุญมีโชติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน)
“พีระศักดิ์ บุญมีโชติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM ในเครือ “ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” ผู้นำตลาดอาหารสัตว์น้ำของเมืองไทย ให้มุมมองหลักการบริหารธุรกิจกับ “ฐานเศรษฐกิจ พร้อมขยายความว่า
สิ่งที่เราต้องทำคือ รีบขยับ ลงรายละเอียด และลงมือทำ แน่นอนว่าเราไม่สามารถควบคุมภาวะหรือกลไกตลาดได้ แต่การบริหารจัดการทั้งห่วงโซ่อุปทานและด้วยศักยภาพที่กลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยนมี ทำให้เราสามารถบริหารความเสี่ยงได้
ดังนั้น ในท่ามกลางสภาวะตลาดที่ผันผวน TFM ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง ภายใต้วิสัยทัศน์ “เราจะเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดีที่สุด เพื่อการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน” โดยมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง และนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด สิ่งสำคัญคือการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการให้บริการ นอกจากนี้ ยังยึดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมทำงานร่วมกับเกษตรกรและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคงในระยะยาว
สำหรับในประเทศไทย TFM ถือว่าเป็นผู้นำตลาดอาหารสัตว์น้ำ โดยเป็นอันดับ 2 ในตลาดอาหารกุ้ง และอันดับ 1 ในอาหารปลากะพงและอาหารกบ ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ต้องสม่ำเสมอ และการให้บริการทางวิชาการเพื่อช่วยให้ลูกค้าของเราประสบความสำเร็จ
ด้วยจุดแข็งคือการมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าที่ค้าขายมายาวนานและเหนียวแน่นจากรุ่นสู่รุ่นและพัฒนาไปสู่การทำฟาร์มสัตว์น้ำที่ยั่งยืนร่วมกันกับบริษัท หรือลูกค้าที่ทางบริษัทพัฒนาสูตรอาหารพรีเมียมจนทำให้การเลี้ยงประสบความสำเร็จได้เนื้อปลาที่มีคุณภาพสูงขายได้ราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาดจนเป็นที่พอใจของเกษตรกรบอกปากต่อปาก ขณะเดียวกันยังเดินหน้าขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่ม direct farm ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ที่มีคุณภาพสูงและบริการที่ครบวงจร
สำหรับตลาดต่างประเทศ ได้เริ่มจากประเทศศรีลังกา และขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยใช้ประสบการณ์จากตลาดไทยที่มีมาตรฐานสูง เพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก ข้อดีของการขยายตลาดต่างประเทศ คือ สามารถกระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะปัจจัยด้านโรคระบาดผ่านการขยายฐานลูกค้าในหลายประเทศ
โดยกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดใหม่ต้องอาศัยการศึกษากฎระเบียบและพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างละเอียด รวมถึงการหาพันธมิตรท้องถิ่นที่มีศักยภาพ อย่างที่บริษัทประสบความสำเร็จมาแล้วผ่านการจับมือกับ Avanti feed ผู้นำตลาดอาหารกุ้งในประเทศอินเดีย การร่วมลงทุนใน PT Thai Union Kharisma Lestari กับ PT MSK ผู้ผลิตอาหารทะเลแช่แข็งรายใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย ตลอดจนการค้าขายอย่างยาวนานกับ KMN Aqua Services ในประเทศศรีลังกา เป็นต้น
“พีระศักดิ์” ยังให้มุมมองการพิจารณาขยายธุรกิจของ TFM ว่า การเติบโตต้องไม่ใช่แค่การเพิ่มรายได้ แต่ต้องสร้างผลกำไรที่ยั่งยืน ทุกผลิตภัณฑ์ของ TFM เน้นความสม่ำเสมอในกระบวนการผลิต และให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ต้นทุนทุกด้านอย่างรอบด้าน และบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบก่อนการลงทุน นับเป็นสิ่งสำคัญที่เรายึดมั่นคือการรักษาคุณภาพสินค้า และการควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์มุ่งสู่ปี 2573 ของกลุ่มไทยยูเนี่ยน ซึ่งให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืนและการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
“สำหรับปี 2567 นับเป็นช่วงเวลาที่ดีของ TFM ในการมุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการผลิต การจัดการพอร์ตสินค้า และการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในฐานะผู้นำที่ผลิตอาหารสัตว์น้ำและอาหารสัตว์เศรษฐกิจที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ยั่งยืน SeaChange® 2030 ของกลุ่มไทยยูเนี่ยน ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นผลการดำเนินงานในปี 2567 ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์”
โดยสามารถทำรายได้รวม 5,430.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.59% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 535.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 512.78% หนุนอัตรากำไรสุทธิที่ 9.82% สามารถเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นจาก 8.7% เป็น 18.7% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 10 ปี สิ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จนี้คือการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงสูตรอาหารสัตว์ให้แข่งขันได้ การจัดซื้อวัตถุดิบอย่างรอบคอบ และการเพิ่มสัดส่วนสินค้าที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง
โดยเฉพาะอาหารกุ้ง ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดคือกำไรสุทธิของเราเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเราประกาศจ่ายเงินปันผล 1.07 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นอัตราจ่ายปันผลสูงสุดนับตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์
สำหรับแผนการลงทุนของ TFM ในปี 2568 ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 300 ล้านบาท โดยเน้นการปรับปรุงโรงงานผลิตอาหารกุ้งที่ระโนด และโรงงานอาหารปลาที่มหาชัย นอกจากนี้ ยังลงทุนในระบบความปลอดภัยของโรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนระยะยาว และลดการใช้แรงงาน สำหรับปีถัดไป และมีแผนขยายโรงงานที่อินโดนีเซียเพื่อตอบรับการเติบโตที่ต่อเนื่องและมุ่งสู่ top 5 ในปี 2569 และ top 3 ภายใน 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ในปี 2568 ตั้งเป้าที่จะผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคาดว่ายอดขายจะเติบโต 8-10% และรักษาอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ที่ 18-20% ใกล้เคียงปีก่อน
“เป้าหมายของเราคือการเติบโตต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ยังมีแผนการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในอินโดนีเซีย อีกทั้งยังแสวงหาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขยายฐานลูกค้าและเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ และเพิ่มการเจาะตลาดเดิม เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว”
สำหรับ ความท้าทายที่ต้องบริหารจัดการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ข้างต้น คือการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สม่ำเสมอในทุกตลาดที่เข้าไปแข่งขัน อีกทั้งตลาดอาหารสัตว์น้ำเผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนวัตถุดิบที่ผันผวน หรือโรคระบาดในสัตว์น้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ผลิตและเกษตรกร
“TFM ไม่ได้มองเพียงแค่การเติบโตของบริษัท แต่ต้องการเป็นพันธมิตรที่ดีที่สุดของเกษตรกร โดยสนับสนุนให้พวกเขาเติบโตไปพร้อมกับเรา และร่วมกันสร้างอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาว” พีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,082 วันที่ 27 – 29 มีนาคม พ.ศ. 2568