ภาพจำของหลายๆคนเกี่ยวกับนามสกุล พูลวรลักษณ์ น่าจะนึกถึงธุรกิจโรงภาพยนตร์ชื่อดังที่ครองใจผู้ชมทั่วประเทศ ทว่า “นางสาวเพชรลดา พูลวรลักษณ์” ทายาทรุ่นสอง กลับเลือกพลิกเส้นทางสู่การสร้างอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ที่มีเอกลักษณ์
ผ่านบริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งในวันนี้ขึ้นแท่นผู้นำตลาดอสังหาฯ กลุ่มไฮเอนด์ ที่โดดเด่นด้วยแนวคิดใหม่ๆ สร้างโครงการที่ตอบโจทย์กลุ่ม Pet Family และพร้อมขยายธุรกิจสู่เทรนด์สุขภาพในอนาคต
จากการเติบโตในครอบครัวนักธุรกิจเชื้อสายจีน “เพชรลดา” เปิดใจกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจบการศึกษาได้เข้ามาช่วยคุณพ่อดูแลกิจการโรงหนังอยู่ประมาณ 4-5 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานอย่างจริงจัง
แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจของตัวเองกับน้องชาย จึงเริ่มต้นค้นหาความเป็นไปได้ในต่างประเทศ จนสุดท้าย อสังหาริมทรัพย์กลายมาเป็นคำตอบที่ชัดเจน เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่ทุกคนต้องการ
“ช่วงแรก ตั้งใจจะทำอยู่ในส่วนผู้สนับสนุนมากกว่า เพราะเราเองเป็นคนค่อนข้าง Introvert ไม่ชอบออกงานหรือเป็นจุดสนใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์หลายอย่างทำให้ต้องขึ้นมาเป็นแถวหน้า
ซึ่งในฐานะลูกผู้หญิงของครอบครัวคนจีน ก็ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นหลายเท่า กว่าจะพิสูจน์ตัวเองจนมาถึงวันนี้” เพชรลดาเล่า ด้วยความภาคภูมิใจ
จุดเริ่มต้นธุรกิจอสังหาฯ ของเมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ คือโครงการทาวน์โฮม “การ์เด้นวิลล์ คลัสเตอร์ โฮม” ซึ่งประสบความสำเร็จเกินคาด และเป็นก้าวแรกที่ทำให้ต่อยอดสู่การพัฒนา คอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ ด้วยแนวคิดที่แตกต่าง
ประกอบกับเพชรลดาเป็นคนรักสัตว์ จึงเริ่มเข้าสู่ตลาดคอนโดมิเนียมที่เน้นสร้างจุดขายเฉพาะตัวที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่ความรักในสัตว์เลี้ยง ซึ่งกลายเป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้ เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ กลายเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ในโครงการคอนโดฯ ได้
“เรามองว่าสัตว์เลี้ยงไม่ใช่แค่สัตว์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว” เพชรลดากล่าว
โครงการแรกของบริษัทอย่าง “แฮมป์ตัน ทองหล่อ 10” จึงถูกออกแบบให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตร่วมกับสัตว์เลี้ยง ทั้งพื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้แบรนด์เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ โดดเด่นในตลาดอย่างชัดเจน
วิสัยทัศน์ของเพชรลดาในการนำพาบริษัท คือการเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจ “อยู่รอด” ในทุกสถานการณ์ ด้วยกลยุทธ์ “Last Man Standing” ซึ่งหมายถึงการเป็นผู้เล่นรายสุดท้ายที่ยังคงยืนหยัดได้ท่ามกลางวิกฤตต่างๆ โดยเธอได้วาง 3 กลยุทธ์สำคัญเพื่อไปถึงเป้าหมายได้แก่
“โควิดสอนให้เรารู้ว่า การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ให้ทันกับสถานการณ์คือสิ่งจำเป็น แต่ไม่ว่าอย่างไร เป้าหมายหลักของเราคือการเป็นองค์กรที่ต้องอยู่รอดให้ได้ ซึ่งปี 2568 จะเป็นปีแห่งความท้าทาย ที่บริษัทจะมุ่งสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตกับการรักษาเสถียรภาพ ซึ่งถือเป็นความท้าทายในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเช่นนี้”
เพชรลดา ยังเล่าเสริมว่า จุดเริ่มต้นของบริษัทเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อให้ จึงต้องพึ่งพาเงินกู้จากครอบครัวที่มาพร้อมดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร
ความลำบากในช่วงเริ่มต้นทำให้ เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ สั่งสมความแข็งแกร่งด้านการจัดการความเสี่ยง ซึ่งยังคงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของบริษัทที่ให้ความสำคัญจนถึงปัจจุบัน
“เราเป็นนักรบ เราเป็นวอริเออร์ เป็นไฟต์เตอร์ เราไม่เคยยอมแพ้” นั่นคือคำที่นิยามตัวเองที่เพชรลดากล่าวถึงตัวตนของตัวเอง ซึ่งเธอมองว่าทุกสิ่งเป็นไปได้เสมอ แม้จะมีอุปสรรคหนักหนาเพียงใดก็ตาม
หากมีความตั้งใจและสู้อย่างเต็มที่ ต้องมีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน แต่เธอยังเสริมว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องแยกให้ออก ว่าเป็นนักสู้ หรือกำลังพยายามมากเกินไปจนไม่คุ้มค่า นั่นคือเส้นแบ่งบางๆ ที่ยังคงต้องตระหนักถึงเสมอ
“เป็นคนที่เลือกทำอะไรแล้ว จะทุ่มเทอย่างเต็มที่ แม้บางครั้งอาจไม่ได้มีความชอบหรือแพสชั่นที่ชัดเจนในเรื่องนั้นๆ แต่เมื่อตัดสินใจลงมือทำ จะทำอย่างสุดความสามารถ
เพราะเชื่อว่าการทุ่มเทเต็มร้อย จะช่วยให้เราไม่มีความรู้สึกเสียดายในอนาคต ไม่ต้องมานึกย้อนว่า ‘ถ้าวันนั้นทำแบบนั้นแบบนี้ คงจะดีกว่า’ จึงตั้งใจให้ทุกสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้นเสมอ” เพชรลดากล่าวเสริม
ท้ายที่สุด เพชรลดา ยังได้เผยมุมมองต่อทิศทางการเติบโตของประเทศไทยว่า อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ที่ทุกคนที่ทำงานหนักจะได้รับผลตอบแทนอย่างยุติธรรม อยากเห็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์สุจริต
และระบบที่ส่งเสริมให้คนเชื่อมั่นว่าเมื่อทุ่มเท จะได้รับสิ่งที่ดีตอบแทนกลับมา โดยเชื่อว่าหากมีการสร้างระบบที่โปร่งใสและยุติธรรม จะช่วยสร้างแรงผลักดันให้ผู้คน และเป็นรากฐานให้ประเทศเติบโตไปในทางที่ดีขึ้น