'อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ' จากนักเรียนทุน สู่เลขาฯก.พ.ร.หญิงคนแรกของไทย

10 ต.ค. 2567 | 12:54 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2567 | 10:42 น.

สัมภาษณ์พิเศษ : “อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ” เลขาธิการ ก.พ.ร. ผู้หญิงคนแรกของประเทศไทย จากนักเรียนทุนรัฐบาล สู่ผู้นำการพัฒนาระบบราชการ พร้อมเผยเทคนิคการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ให้มีความสุขและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“การพัฒนาระบบราชการ” ของประเทศไทย เป็นงานปิดทองหลังพระ แต่เป็นฟันเฟืองและกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้การทำงานของข้าราชการไทยทั้งประเทศ ตอบโจทย์การขับเคลื่อนนโยบาย ตอบสนองความต้องการประชาชน และปรับเปลี่ยนระบบราชการไทยให้ทันกับระบบใหม่ๆภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำระดับสูงของ “นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ” กับตำแหน่ง "เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ” หรือ สำนักงาน ก.พ.ร. ที่เป็นสุภาพสตรีคนแรกเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย ที่นำพาองค์กรสำคัญของประเทศ

นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร. )

จากเส้นทางอันยาวนานกว่า 24 ปีใน ตึกแดง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) สู่การก้าวข้ามมาเป็นผู้นำของ ก.พ.ร. "อ้อนฟ้า" หน่วยงานเล็กๆตั้งอยู่ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ที่มีภารกิจใหญ่เกินตัว ได้แบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบริหารองค์กร บทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้นำ และหลักคิดสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

บทสัมภาษณ์นี้จะพาคุณไปรู้จักกับเทคนิคการปรับตัว กลยุทธ์การบริหารคน และมุมมองที่มีต่อความท้าทายของผู้บริหารหญิงในระบบราชการไทย

เส้นทางการเติบโตก่อนขึ้นมาเป็นผู้บริหารองค์กรของ ก.พ.ร.

รับราชการมาตลอด แล้วก็ที่รับราชการเพื่อใช้ทุน เพราะเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล มาใช้ทุนที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จริงๆ ต้องใช้ทุนแค่ 4 ปี แต่ว่าใช้ทุนเพลินไป 24 ปี อยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมาตลอด

ตั้งแต่เริ่มรับราชการจนสุดท้ายเป็นรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และก็ข้ามฟากจากทำเนียบมาที่สำนักงาน ก.พ.ร. มาเป็นรองเลขาธิการ ก.พ.ร. แล้วก็ขึ้นเป็นเลขาธิการ 

มีกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์อย่างไรในการบริหารงาน

ตอนข้ามมา ก.พ.ร. ถึงจะต้องมียุทธศาสตร์มากขึ้น เพราะเดิมเติบโตในสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อยู่ในสังคมและวัฒนธรรมแบบนั้นก็เติบโตมาด้วย ก็ง่ายในการที่เติบโตมาแล้วก็รู้จักคนข้างใน ในการบริหารงานจะง่ายกว่า 

ถามว่าวันที่ข้ามมาที่สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นวันที่เราต้องเปลี่ยนไปทั้งเรื่องของเป้าหมาย ภารกิจ การทำงาน แล้วก็เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง วัฒนธรรมใหม่ ตรงนี้แหละที่กลยุทธ์สำคัญคือ “การปรับตัว” 

การปรับตัวจะปรับตัวได้ดีที่สุดต้องพยายามเข้าใจ context หรือ บริบทขององค์กรที่นี่ใหม่หมด ตั้งแต่ภารกิจขององค์กรที่นี่จริงๆ ที่สำคัญที่สุดคืออะไร เป้าหมายคืออะไร วิถีชีวิตของเขา วิธีการทำงาน สำคัญที่สุดคือ “วัฒนธรรมองค์กร (culture) อะไรที่อยู่ในใจเขา อะไรที่เป็นตัวที่กำหนดให้พฤติกรรมเขาเป็นอย่างนั้น คิดเป็นอย่างนั้น ต้องปรับตัวกันทั้งสองฝ่าย 

นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร. )

“ต้องยอมรับว่าเรามาเป็นรองเลขาธิการ ก็อยู่ในตำแหน่งที่สูง เจ้าหน้าที่เขาก็งงๆ วิธีคิดวิธีทำงานของเรา ดิฉันคิดว่าการที่พยายามปรับตัว แต่การปรับตัวจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเราไม่พยายามเข้าใจ และการเข้าใจจะเข้าใจเขาได้ต่อเมื่อเรารู้จักเขาจริงๆ เพราะฉะนั้นต้องพยายามเข้าถึงเขา เข้าถึงทั้งข้อมูลขององค์กร เข้าถึงทั้งตัวคนองค์กร อันนี้ก็ดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการที่เราสามารถที่จะปรับเปลี่ยนและสามารถเซ็ตกลยุทธ์  เขาเรียกว่าเซ็ตนโยบายให้ไปด้วยกันได้”


ข้อดีหรือข้อจำกัดของการที่เรามีผู้บริหารองค์กรที่เป็นผู้หญิง

พูดข้อดีก่อน เป็นผู้หญิงดีอย่างหนึ่งคืออย่างน้อยในวันในบรรยากาศที่เคร่งเครียดหรือเริ่มมีการปะทะกัน หรือเริ่มมีการเผชิญหน้าอันจะนำไปสู่การปะทะกัน มองว่าผู้หญิงสามารถช่วย “soften” สถานการณ์ได้ เพราะว่าผู้ชายก็จะมีวัฒนธรรมไทยเยอะ ผู้ชายก็ยังให้เกียรติผู้หญิงในเรื่องนี้อยู่ 

“เพราะฉะนั้นเวลาการถกแถลงกันในที่ประชุมก็ดีหรืออะไร คิดว่าผู้หญิงสามารถช่วยซอฟต์การประชุมแล้วก็นำไปสู่ของการคอมโพรไมส์ที่จะประนีประนอมให้เกิดโซลูชั่นได้ คาแรคเตอร์ตัวนี้ผู้หญิงหลายๆ คนก็ใช้จุดเด่นตรงนี้ในการในการทำงาน”

ถามว่าข้อจำกัดก็เช่นเดียวกัน ในวัฒนธรรมไทยเราก็ยังเชื่อว่าผู้ชายยังเป็นใหญ่อยู่มากเหมือนกัน อาจจะต้องบอกว่าบางคนเท่านั้นที่เขาจะมี attitude หรือว่าทัศนคติ ที่อาจจะไม่ได้คิดว่าผู้หญิงมีความสามารถเท่าไหร่ ก็จะมีลักษณะนี้อยู่ แต่ต้องบอกว่าของไทยน้อย

“ดิฉันเจอในสังคมอื่นชัดกว่า ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือเกาหลีที่เคยมีประสบการณ์มา จะเห็นว่าสังคมเขาผู้หญิงจะถูกกดมากกว่า สังคมไทยต้องบอกว่าให้โอกาสผู้หญิงและเพศอื่นๆ มากนะคะ”

นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร. )

หลักคิดหรือปรัชญาในการทำงานที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

คนที่อยู่ข้างหน้าเราสำคัญที่สุด พยายามเข้าใจเขา รู้จักเขาให้ดีที่สุด เมื่อมาบริหารที่ ก.พ.ร. ในฐานะเป็นเลขาธิการ สิ่งที่สำคัญที่สุดคิดว่าต้องเข้าอกเข้าใจคนในองค์กรให้ให้ได้ 

“เพราะดิฉันมองว่าเขาคือ Valuable asset ขององค์กร คนคือสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดขององค์กร แต่ทำยังไงให้เขาสามารถปล่อยคุณค่านั้นออกมาให้ได้ การจะปล่อยคุณค่านั้นออกมาให้ได้คือทำให้เขามีความสุขเท่านั้นเอง ทำให้ทุกคนมีองค์กรมีความสุข แต่การทำให้คนในองค์กรมีความสุขถ้าคุณไม่รู้จักเขาเลยว่าเขาเป็นใครแล้วความสุขเขาคืออะไร เราจะให้เขาไม่ได้”

อยู่ ก.พ.ร. ใช้เรื่องของการที่จะรับฟังค่อนข้างเยอะ คือมีการเปิดเรื่องของ Townhall ให้เขาสื่อสาร บอกว่าเขาต้องการให้เราช่วยแก้ไขปัญหาอะไร เขามีข้อเสนอแนะอะไรที่จะมาพัฒนาเรื่องงานเรื่องอะไรทั้งหลาย ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะน้องๆ เก่งหลายๆคน ก็สร้างเรื่องของความร่วมมือแล้วก็สร้างความเข้าอกเข้าใจกัน บางทีก็จะเป็นเวทีในการเคลียร์ปัญหาระหว่างกันด้วยซ้ำไป  คิดว่าพยายามสร้าง culture ของการเข้าอกเข้าใจกัน เห็นอกเห็นใจกัน นั่นคือสิ่งสำคัญ

 

อยากให้นิยามความเป็นตัวตนของตัวเอง

ถ้าให้เป็นคนนิยามเองก็น่าจะลำบาก  สรุปเองว่าเป็นคนค่อนข้างจะจริงจังกับการทำงาน จะใช้คำว่า “จริง” เป็นหลัก เน้นความจริงจัง ข้อมูลต้องเป็นข้อเท็จจริง แล้วก็เป็นคนที่ตรงไปตรงมา คือมีความเห็นเช่นไรก็ว่าไปเช่นนั้น แต่ก็ต้องระมัดระวังอยู่เหมือนกัน 

“เพราะหลายครั้งก็อาจจะพูดจาอะไรบางอย่างตรงๆ ที่ทำให้อีกฝ่ายตกใจเหมือนกัน แต่เช่นที่ว่านี่ก็เป็นลักษณะเป็นคาแรคเตอร์เฉพาะส่วนตัวจริงๆ คือเป็นทั้งคนจริงและก็คนตรงค่ะ”

 

ประวัติโดยย่อ "อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ"

ประวัติการศึกษา :

  • เศรษฐศาสตร์บัณฑิต (เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • Master of Science in Policy Economics University of Illinois at Urbana-Champaign, USA
  • Master of Public Policy National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS), Japan

ประวัติการทำงาน :

  • มกราคม 2562 – กุมภาพันธ์ 2563 รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
  • กุมภาพันธ์ 2560 รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
  • ตุลาคม 2558 ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
  • พฤศจิกายน 2557 ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์เรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
  • เมษายน 2553 ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศ สำนักบริหารงานสารสนเทศ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ประสบการณ์การทำงาน :

  • การเสนอแนะนโยบายการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางการปรับระบบ การทํางาน สร้างและพัฒนากลไกการทํางานที่ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการ เช่น
    • การจัดทำแนวทางการประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและจังหวัด
    • การจัดทำแนวทางการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ
    • การปรับปรุงบทบาท ภารกิจ โครงสร้าง และวิธีการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ
    • การเสริมสร้างความซื่อตรงในการบริหารงานภาครัฐของประเทศไทยผ่านโครงการความร่วมมือกับ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD)
  • การให้คําปรึกษาแนะนําแก่หน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาระบบการบริหารงานที่รองรับการขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์สําคัญของประเทศ และช่วยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานภาครัฐในการ ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
  • การวิเคราะห์เรื่องที่ส่วนราชการเสนอคณะรัฐมนตรี
  • การจัดทำมติคณะรัฐมนตรี
  • การติดตามการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี
  • การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริหารงานของคณะรัฐมนตรี
  • อาจารย์พิเศษ วิชาจริยธรรมองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
  • อาจารย์พิเศษ วิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

 

ทำความรู้จักเลขาธิการก.พ.ร.

  1. ศ.พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ (ครั้งที่ 1) 1 ตุลาคม พ.ศ. 2545 - 30 กันยายน พ.ศ. 2556
  2. ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557
  3. พงษ์อาจ ตรีกิจวัฒนากุล 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557 - 30 กันยายน พ.ศ. 2558  (เป็นรักษาราชการแทน ช่วงที่ยังไม่มีการแต่งตั้ง เลขาคนใหม่)
  4. ชูเกียรติ รัตนชัยชาญ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 - 30 กันยายน พ.ศ. 2559
  5. ศ.พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ (ครั้งที่ 2) 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2561
  6. ปกรณ์ นิลประพันธ์  29 มิถุนายน พ.ศ. 2561 - 30 มกราคม 2563
  7. อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 - ปัจจุบัน