เทียบชัด ๆ ค่าไฟฟ้าปี 68 ไทยแพงเบอร์ 5 อาเซียน สิงคโปร์สูงสุด 12.30 บาทต่อหน่วย

10 ม.ค. 2568 | 04:31 น.

เทียบค่าไฟฟ้าปี 2568 สะท้อนค่าครองชีพประชาชน ต้นทุนผู้ประกอบการ ไทยรั้งเบอร์ 5 อาเซียนค่าไฟแพงสุด เอกชนกระทุ้งปรับลดลง ช่วยลดต้นทุน เพิ่มขีดแข่งขันดึงลงทุนเข้าประเทศ จี้เร่งจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เปิดทาง กกร.มีส่วนร่วมปรับโครงสร้างพลังงานประเทศ

“ค่าไฟฟ้า” หนึ่งในภาระค่าครองชีพของประชาชน และหนึ่งในต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการไทยและนักลงทุนต่างชาติยังอยู่ในระดับสูง แม้เวลานี้ราคาพลังงานทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกจะปรับลดลงแล้ว แต่ปรากฎราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไทยยังอยู่ในระดับสูง

งวดล่าสุด (ม.ค.-เม.ย. 2568) กระทรวงพลังงานประกาศค่าไฟฟ้าของไทยที่ผันแปรอัตโนมัติตามต้นทุนพลังงาน (Ft) อยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย ลดลงจากค่าไฟฟ้างวดก่อนหน้า (ก.ย.-ธ.ค. 2567) ที่ราคาอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย หรือปรับลดลงเพียง 3 สตางค์ ล่าสุดนายทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศราคาค่าไฟฟ้างวดต่อไปจะลดลงมาได้อยู่ที่ 3.70 บาทต่อหน่วย เป็นแรงกดดันให้กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานภายใต้สังกัดต้องไปหาวิธีการเพื่อกดให้ค่าไฟฟ้างวดต่อไปมีราคาต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย

อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบข้อมูลในปี 2568 ประเทศไทยมีค่าไฟฟ้าสูงอยู่ในลำดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยค่าไฟฟ้าแพงสุด-ต่ำสุด ใน 10 อันดับแรกเป็นดังนี้

อันดับ 1.สิงคโปร์ 12.30 บาทต่อหน่วย, อันดับ 2 กัมพูชา 5.53 บาทต่อหน่วย, อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ 5.11 บาทต่อหน่วย, อันดับ 4 มาเลเซีย 4.45 บาทต่อหน่วย, อันดับ 5 ไทย 4.15  บาทต่อหน่วย (งวด ม.ค.-เม.ย.)

อันดับ 6 เมียนมา 2.87 บาทต่อหน่วย, อันดับ 7 เวียดนาม 2.69 บาทต่อหน่วย, อันดับ 8 อินโดนีเซีย 2.59 บาทต่อหน่วย, อันดับ 9 สปป.ลาว 0.92  บาทต่อหน่วย และอันดับ 10 บรูไน 0.27 บาทต่อหน่วย

เทียบชัด ๆ ค่าไฟฟ้าปี 68 ไทยแพงเบอร์ 5 อาเซียน สิงคโปร์สูงสุด 12.30 บาทต่อหน่วย

อย่างไรก็ตามผู้นำภาคเอกชนได้ออกมาส่งเสียงเชียร์ให้รัฐบาลหาวิธีปรับลดค่าไฟฟ้าลงตามที่ได้ประกาศนโยบายไว้ก่อนหน้านี้

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แนวคิดของนายทักษิณ ชินวัตร ในการกดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนรอคอยมานาน เพราะค่าไฟฟ้าเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญของภาคการผลิตอุตสาหกรรม

ปัจจุบันเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม และอินโดนีเซียแล้ว ค่าไฟฟ้าของไทยแพงกว่า ซึ่งนอกจากมีผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าส่งออกของไทยสูงกว่า และเสียเปรียบในการแข่งขันแล้ว ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยเสียเปรียบในการดึงดูดการลงทุนต่างชาติ (FDI) เข้าประเทศ

เทียบชัด ๆ ค่าไฟฟ้าปี 68 ไทยแพงเบอร์ 5 อาเซียน สิงคโปร์สูงสุด 12.30 บาทต่อหน่วย

ดังนั้นสภาอุตสาหกรรมฯ สนับสนุนเต็มที่ในการหาวิธีปรับลดค่าไฟฟ้าลงเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย หรือต่ำลงกว่านี้ยิ่งดี นอกจากนี้อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินเนินการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ด้านพลังงาน (กรอ.พลังงาน) เพื่อให้ภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ามาก และมีส่วนได้เสียจากค่าไฟฟ้า และราคาพลังงานที่ปรับขึ้นลงมาโดยตลอด ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นในการปรับโครงสร้างด้านพลังงานของไทย เพื่อให้ค่าไฟฟ้าของไทยมีความเสถียร และเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

"เรื่องการจัดตั้ง กรอ.พลังงานนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ได้เรียกร้องมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ ซึ่งอยากให้รัฐบาลชุดปัจจุบันได้เร่งดำเนินการ"

ขณะที่ นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  หากรัฐบาลสามารถลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วยได้จะเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจากข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินเบื้องต้น หากสามารถลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.70 บาทต่อหน่วยได้ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนได้ถึง 100,000 ล้านบาทต่อปี

สนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสามารรถในการแข่งขันด้านต้นทุนให้กับผู้ประกอบการไทย และยังสามารถช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้ด้วย เพราะค่าไฟฟ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่ต่างชาติใช้พิจารณาในการลงทุนในแต่ละประเทศ