4 เจ้าสัว แข่งดุ ค้าปลีก 4.4 ล้านล้านเดือด

22 ม.ค. 2568 | 05:02 น.

4 เจ้าสัว “ธนินท์-เจริญ-ทศ -เสถียร” ชิงเม็ดเงินธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง 4.4 ล้านล้านบาท จับตา “แม็คโคร” ปะทะ “โก โฮลเซลล์” เชือดเฉือนสาขาต่อสาขา “ซีเจ” ประกาศปั้น 3 แบรนด์ล้มยักษ์ “เซเว่นฯ” มั่นใจโกยรายได้ทะลุแสนล้านในปี 75

สมรภูมิค้าปลีกค้าส่งระอุ ตั้งแต่เริ่มศักราชใหม่ ด้วยจำนวนลูกค้าที่เท่าเดิม แต่เงินในกระเป๋าที่น้อยลง จากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ผนวกต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น และผู้เล่นใหม่ที่เข้ามา ส่งสัญญาณให้สนามรบแห่งนี้ร้อนฉ่า แต่ภายใต้อุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งที่สูงถึง 4.4 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทย)

ยังคงฟาดฟันภายใต้ 4 ตระกูลใหญ่ โดย 4 เจ้าสัว ได้แก่

1. เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เครือซีพี โดยบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารห้างค้าส่ง “แม็คโคร” และห้างโลตัสและโลตัส โก เฟรช และบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น”

2. เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี ผู้บริหารแบรนด์บิ๊กซี, บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, บิ๊กซี ฟู้ดเซอร์วิส รวมถึงร้านโดนใจ

3. เจ้าสัวทศ จิราธิวัฒน์ กลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งนอกจากจะมีมีห้างสรรพสินค้าใน 11 ประเทศ 80 เมือง รวม 120 สาขาทั่วโลก ยังมีบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัล และ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, โรบินสัน, ไทวัสดุ,โก โฮลเซลล์, ท็อปส์ ฯลฯ และ

4. เจ้าสัวเสถียร เสถียรธรรมะ โดยบริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด ผู้บริหารซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต,ซีเจ มอร์ และ ซีเจ เอ็กซ์

4 เจ้าสัว แข่งดุ ค้าปลีก 4.4 ล้านล้านเดือด

นอกจากการประกาศแผนลงทุนทั้งในและต่างประเทศแล้วยังจัดเต็มกลยุทธ์และแคมเปญการตลาดเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน โดยเฉพาะใน 2 สมรภูมิอย่าง “ค้าส่ง” ที่ยักษ์เซ็นทรัล ประกาศเทหน้าตักสาดงบลงทุนปักหมุด “โก โฮลเซลล์” ปะทะ “แม็คโคร” ส่วนอีกสมรภูมิที่เดือดไม่แพ้กัน คือ “ร้านสะดวกซื้อ” เมื่อยักษ์เล็กอย่าง “ซีเจ มอร์” ประกาศท้ารบ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ของเจ้าสัวใหญ่แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน

“โก โฮลเซลล์” ท้ารบ “แม็คโคร”

ตลาดค้าส่งไทยในรูปแบบโมเดิร์นเทรด ผูกติดกับแบรนด์ “แม็คโคร” มายาวนาน เมื่อ “เซ็นทรัล รีเทล” ประกาศตัวหันมาลุยธุรกิจค้าส่ง ด้วยการเปิดตัว “โก โฮลเซลล์” สาขาแรกในย่านศรีนครินทร์ ในปลายปี 2566 จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ ด้วยโมเดลที่ถอดสูตรกันมา แถมเหนือกว่านิดๆ เมื่อจัดเต็มเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อให้คงคุณภาพทั้งสินค้าและบริการที่ทันสมัยกว่า

การฟาดฟันจึงไปตกที่ “โลเคชั่น” หัวใจหลักในการชนะน็อค กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ ทั้งแม็คโครและโกโฮลเซลล์ ต่างให้ความสำคัญกับการขยายสาขาเพื่อเพิ่มฐานลูกค้าและครอบคลุมพื้นที่ให้มากขึ้น

4 เจ้าสัว แข่งดุ ค้าปลีก 4.4 ล้านล้านเดือด

โดยนางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจในประเทศไทยและต่างประเทศ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวถึงการเดินหน้าของโก โฮลเซลล์ ในวันเปิดตัวว่า ตลาดค้าส่งในประเทศไทย ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ยังมีตัวเลือกไม่มากนัก โก โฮลเซลล์ จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ที่ช่วยให้ลูกค้าของเราประสบความสำเร็จ โดยนำเสนอสินค้าที่หลากหลายครบครัน ในราคาที่แข่งขันได้ พร้อมบริการที่สะดวกรวดเร็ว และเทคโนโลยีที่ทันสมัย

โดยตั้งเป้าหมายที่จะขยายสาขาให้ครบ 50 สาขา ทั่วประเทศภายใน 5 ปี โดยวางแผนเปิดสาขาให้ครบทุกจังหวัดๆ ละ 1 สาขา และจะมีรายได้ 6 -7 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2571 ส่วนการหาทำเล ไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับกลุ่มเซ็นทรัล ที่มีแลนด์แบงก์กระจายอยู่ทั่วประเทศ พร้อมหยิบจับมาพัฒนาได้ทันที

สวนทางกับ “แม็คโคร” ซึ่งเลือกที่จะรีโนเวทสาขาให้ทันสมัย แทนการเดินหน้าสยายปีกลงทุนสาขาใหม่ ด้วยเหตุผลหนึ่งคือ ในแต่ละทำเลมีฐานลูกค้าที่ยึดติดกันมายาวนาน โดยเฉพาะในกลุ่ม HoReCa (ผู้ประกอบการโรงแรม, ร้านอาหารและบริการจัดเลี้ยง) ซึ่งมีสัดส่วนยอดขายสูงถึง 70% ดังนั้นทันทีที่ “โก โฮลเซลล์” เปิดให้บริการสาขาแรกอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 ต.ค. 66 “แม็คโคร” ก็ยกเครื่องเผยโฉมใหม่ “แม็คโคร ศรีนครินทร์” ในวันที่ 26 ต.ค. 66 พร้อมกระหน่ำโปรแบบจัดเต็ม ต้อนรับน้องใหม่ทันที

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อ “โก โฮลเซลล์” ปักหมุดลงทุนย่านรามคำแหง “แม็คโคร” ก็รีโนเวทครั้งใหญ่สาขาลาดพร้าว สาขาแม่ที่แจ้งเกิดแม็คโครเมืองไทย และเมื่อ “โก โฮลเซลล์” เปิดที่จ.ภูเก็ต “แม็คโคร” ก็ปรับโฉมใหม่ สาขาราไวย์ เอาใจนักช้อปภูเก็ตทันที เรียกว่า ฟาดฟันกันตาต่อตาเลยทีเดียว

นอกจากนี้ “แม็คโคร” ยังผนึกกับโลตัส มอลล์ เปิดโมเดลใหม่ Hybrid Wholesale ที่รวมจุดเด่นของความ

เป็นค้าส่ง ผสานกับไลฟ์สไตล์มอลล์ จับกลุ่มลูกค้าคนเมือง รวมถึงกลุ่ม HoReCa ใจกลางเมือง ด้วยการเปิด “แม็คโคร สาขาถนนศรีอยุธยา”

“แม็คโคร ถนนศรีอยุธยา ในรูปแบบ Hybrid Wholesale เป็นอีกระดับของการพัฒนาค้าส่งในรูปแบบใหม่ เพื่อ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองในยุคปัจจุบัน พร้อมตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการและผู้บริโภคอย่างสมบูรณ์แบบ รวมทั้งยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้เติบโต” นางเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจค้าส่ง และกลุ่มสายงานการเงิน การบัญชี และบริหารงานกลาง บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ให้เหตุผลถึงการลงทุนครั้งนี้

 

มวยรอง “ซีเจฯ” ท้าชน 7-11

อีกหนึ่งสมรภูมิ ที่ครั้งหนึ่งหลายคนมองว่าเป็น Red Ocean ด้วยเพราะมีเบอร์ 1 อันแข็งแกร่ง ยากจะมีผู้ต่อกรอย่าง “เซเว่น อีเลฟเว่น” แน่นอนว่า “ร้านสะดวกซื้อ” เป็นค้าปลีกที่อยู่คู่กับคนไทยและชุมชนมายาวนาน แต่วันนี้ก็มีผู้กล้าหาญชาญชัย ประกาศตัวพร้อมรบกับเซเว่นฯ อย่าง “ซีเจ มอร์” ของเจ้าสัวเสถียร เสถียรธรรมะ หรือที่ในอดีตหลายคนจะคุ้นเคยกับชื่อ “ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต”

4 เจ้าสัว แข่งดุ ค้าปลีก 4.4 ล้านล้านเดือด

“ซีเจ มอร์” ภายใต้การนำของ “วีรธรรม เสถียรธรรมะ” ทายาทคนสำคัญของเจ้าพ่อคาราบาวแดง “เสถียร เสถียรธรรมะ” กำลังก้าวสู่การเป็นผู้เล่นรายสำคัญในวงการค้าปลีกของไทย ที่จะมาต่อจิ๊กซอว์การเติบโตจากโมเดลป่าล้อมเมือง ด้วยซูเปอร์มาร์เก็ตหัวหอกสำคัญสะสมประสบการณ์มาถึง 18 ปี พร้อมสยายปีกเจาะไข่แดงเข้าเมืองหลวง กรุงเทพฯและปริมณฑลได้กว่า 500 สาขา พร้อมประกาศเติบโตแบบก้าวกระโดด ทำรายได้สู่ “แสนล้าน” ก่อนปี 2575

นายวีรธรรม เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันซีเจ มอร์เข้าสู่ช่วงที่ขยับตัวยาก เมื่อมีสาขาในมือกว่า 1,500 สาขา แบ่งเป็นต่างจังหวัด 1,000 สาขา กรุงเทพฯและปริมณฑล 500 สาขา เราเริ่มแผนขยายเข้าสู่หัวเมืองซึ่งมีความท้าทายรอบด้านเดินหน้าลงทุนอย่างระมัดระวังในวงเงินใกล้เคียง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือราว 3,000 ล้านบาท

โดยงบลงทุนดังกล่าวอยู่ในแผนธุรกิจปี 2568 เพื่อเปิดร้านใหม่ 300 สาขา และ 1,000 ล้านบาท เพื่อขยายคลังสินค้าแห่งที่ 5 พื้นที่ 8 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งจะปฏิบัติงานได้ปี 2568 ซึ่งกลางปีนี้จะได้เห็น โมเดลใหม่ล่าสุดคือ การเจาะทำเล “แหล่งท่องเที่ยวครั้งแรก” เปิดซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาถนนข้าวสาร และครึ่งปีหลังจะมีอีก 2 โมเดลใหม่ เพิ่มจาก 3 โมเดล ได้แก่ ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต มีขนาดพื้นที่ 300 ตร.ม ลงทุนราว 8 ล้านบาท ซีเจ มอร์ มอลล์ ขนาด 300 ตร.ม. งบลงทุน 12 ล้านบาท และซีเจ เอ็กซ์ ขนาด 200 ตร.ม. งบลงทุนต่ำกว่าโมเดลอื่น 2 ล้านบาท

วีรธรรม เสถียรธรรมะ

ด้วยกลยุทธ์ที่ชัดเจน และการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซีเจ มอร์ ตั้งเป้าที่จะสร้างรายได้ 7 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2568 ซึ่งถือเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีรายได้ 5.3 หมื่นล้านบาท และมีกำไร 3,700 ล้านบาท

การมาของซีเจ มอร์ ที่เต็มรูปแบบทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านบาวคาเฟ่ ร้าน UNO จำหน่ายสินค้าสุขภาพและความงาม ร้าน A-Home จำหน่ายอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน และ CJ Kids Club UNO จำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น ครอบคลุม พร้อมพื้นที่จอดรถกว้างขวาง ถือเป็นแรงดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการ แม้ไม่ได้เปิด 24 ชม. ทำให้เบอร์ 1 อย่าง “เซเว่น อีเลฟเว่น” ต้องขยับตัว

ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาใหม่ที่เน้นบริการกว้างขวาง มีที่จอดรถ ยังเพิ่มกลยุทธ์แบบ O2O เช่น 7-Delivery และ All Online ของแต่ละหน่วยธุรกิจยังคงเป็นปัจจัยเสริมในการเติบโตของรายได้อีกทางหนึ่งด้วย ขณะเดียวกันในแต่ละปี เซเว่นฯ จะใช้งบลงทุน 1.2 - 1.3 หมื่นล้านบาท ในการขยายสาขาใหม่ทั้งที่เป็นการลงทุนของบริษัทเองและการลงทุนของแฟรนไชส์ พร้อมกับการรีโนเวทสาขาเดิม ด้วยสปีดความแรงที่เท่าเดิม จึงยากที่คู่แข่งจะตามทัน

ขณะที่ภายใต้แบรนด์ “บิ๊กซี” ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งล่าสุดตัดสินใจปิด 2 สาขาใหญ่อย่าง สาขาสุขาภิบาล 3-2 (แยกบ้านม้า) และบิ๊กซี สาขารังสิต 2 (ใกล้กับตลาดสี่มุมเมือง) เพราะหมดสัญญา แต่ก็มีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้น ถือเป็นเสือซุ่มที่ต้องจับตามอง เพราะถือเป็นผู้นำค้าปลีกที่มีโมเดลหลากหลาย ครบทุกฟอร์แมท ไม่ว่าจะเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า และบิ๊กซี เพลส (ไฮเปอร์มาร์เก็ต) บิ๊กซี ฟู้ด เพลส (ซูเปอร์มาร์เก็ต) บิ๊กซี ฟู้ด เซอร์วิส (ค้าส่ง) บิ๊กซี ดีโป้ (มินิค้าส่ง) บิ๊กซี มินิ (ร้านสะดวกซื้อ)

สมรภูมิค้าปลีกค้าส่งเมืองไทยศักราชใหม่ ดีกรีความร้อนแรงไม่ลดหย่อน คงต้องจับตาดูต่อไป