กางแผนปีมะเส็ง “มิตซูบิชิ” อัด 1.2 พันล้าน ปั้น “แอร์” เรือธง

20 ม.ค. 2568 | 09:06 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2568 | 09:12 น.

มิตซูบิชิ จัดแนวรบ ท้าชนสงครามราคา สาดงบการตลาด 1,200 ล้าน อัดโปรชิงแชร์ ชี้ตลาดเครื่องปรับอากาศไทยปี 68 มีแนวโน้มเติบโต 5% ท่องเที่ยวฟื้นตัว Data Center หนุนตลาดเครื่องปรับอากาศพาณิชย์โตแรง

สงครามเครื่องใช้ไฟฟ้า 2.4 แสนล้านบาทดุเดือด สมรภูมิที่ท้ารบกันด้วย “สงครามราคา” หวังพิชิตส่วนแบ่งตลาด การแข่งขันที่รุนแรงนี้ก็ส่งผลให้แบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างชาติต้องงัดกลยุทธ์ใหม่ๆ ออกมาเพื่อรักษาฐานลูกค้าและขยายส่วนแบ่งตลาดเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายโทชิยูกิ อีซูกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้า ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น

กางแผนปีมะเส็ง “มิตซูบิชิ” อัด 1.2 พันล้าน ปั้น “แอร์” เรือธง

นอกจากนี้พื้นที่ในภาคเหนือและภาคใต้ต้องประสบกับอุทกภัยที่รุนแรง ขณะเดียวกัน ด้านตลาดเครื่องปรับอากาศยังคงต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทให้ความสำคัญไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงและยกระดับการบริการ เพื่อเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า

“ตลาดเครื่องปรับอากาศรวมปี 2567 มีมูลค่า 3.12 หมื่นล้านบาท ตลาดยังคงแข่งขันดุเดือดอย่างต่อเนื่อง อย่างยิ่งในแง่ของสงครามราคา คาดปีนี้ตลาดเครื่องปรับอากาศปีนี้คาดการณ์ว่ามีมูลค่ารวม 3.35 หมื่นล้านบาท ทางมิตซูบิชิยังสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งในหมวดเครื่องปรับอากาศภายในบ้านด้วยส่วนแบ่งการ 30% รวมถึง พัดลมระบายอากาศ และปั๊มน้ำ โดยในปีงบประมาณ 2567 (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 68) คาดการณ์ว่ายอดขายรวมของบริษัท จะเติบโตเทียบเท่ากับปี 2566 และตั้งเป้าหมายการเติบโตของยอดขายในปีงบประมาณ 2568 ไว้ที่ 10%”

 ตลาดเครื่องปรับอากาศไทยในปีนี้มีแนวโน้มเติบโต 5% โดยปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลให้โรงแรมและที่พักต่างๆ ต้องการเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การเติบโตของธุรกิจ Data Center ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันตลาดให้ขยายตัว โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับภาคธุรกิจ (B2B)

สำหรับภาคธุรกิจ B2B ที่ตลาดกำลังขยายตัว ทั้งกลุ่มโรงพยาบาล โรงเรียน โรงงาน และศูนย์ข้อมูล เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายในด้านนี้ บริษัทได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูง เช่น ระบบ VRF ประสิทธิภาพสูง และระบบทำความเย็นเชิงพาณิชย์ เช่น ชิลเลอร์ รวมถึงสามารถควบคุมจัดการการทำงานอย่างอัตโนมัติด้วยระบบ BMS (Building Management System) เป็นต้น

ขณะที่ในกลุ่มผู้บริโภค (B2C) การที่ผู้คนให้ความสำคัญกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตมากขึ้น ทำให้ความต้องการเครื่องปรับอากาศที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและประหยัดพลังงานเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนเครื่องเดิมให้เป็นเครื่องใหม่และการติดตั้งเพิ่ม

“ด้านกลยุทธ์ปีงบประมาณ 2568 เราจะยังคงมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าของแบรนด์ที่ยั่งยืน และเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ในทั้งสองกลุ่ม B2C และ B2B เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค โดยในกลุ่ม B2C เราได้เปิดตัวเครื่องปรับอากาศที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหลังโควิด-19 ทำให้การทำอาหารที่บ้านเพิ่มขึ้น ความต้องการตู้เย็นขนาดใหญ่จึงสูงขึ้น ปีนี้บริษัทจึงนำเข้าตู้เย็นรุ่นใหม่” นายโทชิยูกิ กล่าวเสริม

ด้านนายประพนธ์ โพธิวรคุณ กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด กล่าวถึง การกระตุ้นการจับจ่ายผ่านนโยบายภาครัฐผ่าน มาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ว่าถืออานิสงส์ที่สามารถช่วยให้ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโตขึ้นได้ในช่วงไตรมาสแรกปี 2568 เพื่อรองรับการขยายตัวของการเติบโต

กางแผนปีมะเส็ง “มิตซูบิชิ” อัด 1.2 พันล้าน ปั้น “แอร์” เรือธง

บริษัทมีนโยบายหลักในการยกระดับบริการหลังการขาย เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้นให้กับลูกค้า ปัจจุบันมิตซูบิชิ มีดีลเลอร์ทั่วประเทศกว่า 300-400 ราย รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้และทักษะของช่างเทคนิคของศูนย์บริการมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการหลังการขายที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ในระดับประเทศ

อีกทั้งยังใช้ระบบบริการออนไลน์และ แอปพลิเคชัน LINE OA อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริการหลังการขายได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบสถานะการซ่อมหรือการขอคำปรึกษาต่าง ๆ

ขณะที่นายชิซุโอะ นาคาสึคาสะ กรรมการและผู้จัดการทั่วไปส่วนการตลาดและการขาย บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด กล่าวว่า เครื่องปรับอากาศถือเป็นเรือธงหลักของมิตซูบิชิมีสัดส่วนรายได้กว่า 50% บริษัท จึงตั้งเป้าหมายยอดขายเครื่องปรับอากาศในปีนี้ให้เติบโต 10%

กางแผนปีมะเส็ง “มิตซูบิชิ” อัด 1.2 พันล้าน ปั้น “แอร์” เรือธง

พร้อมเปิดตัวเครื่องปรับอากาศใหม่ที่มอบความสะดวกสบายและประหยัดพลังงาน รวมถึงในปีงบประมาณ 2568 นี้ บริษัทฯ ได้วางงบการตลาดและสร้างการรับรู้แบรนด์ไว้กว่า 1,200 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,063 วันที่ 19 - 22 มกราคม พ.ศ. 2568