ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานผลดำเนินงานของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ไตรมาส 3/67 (ณ วันที่ 1 ธ.ค.2567) จำนวน 86 บริษัท มีกำไรสุทธิรวม 1,178 ล้านบาท ลดลง 43.72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2,093 ล้านบาท โดยมีรายได้จากดอกเบี้ยสุทธิ 5,091 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.61% จาก 5,060 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ด้านผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(การตั้งสำรอง) 2,924 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.29% จาก 2,700 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 3.51% เป็นจำนวน 2,589 ล้านบาท จาก 2,501 ล้านบาท
ขณะที่กำไรจากการขายทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ลดลง 29.95% เป็นจำนวน 1,031ล้านบาท จาก 1,472 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
อีกทั้งภาพรวมเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิมีจำนวน 183,313 ล้านบาท ลดลง 2.60% จาก 188,220 ล้านบาทช่วงเดียวกันปีก่อน และการรับซื้อหรือรับโอนหนี้หดตัว 0.92% เป็นจำนวน 279,667 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 282,272 ล้านบาท
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพ พาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ BAM เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมธุรกิจบริหารสินทรัพย์หรือหนี้ด้อยคุณภาพ(NPLs) ขณะนี้ดูเหมือนว่า การนำทรัพย์ออกประมูลไม่มาก เพราะมีมาตรการภาครัฐและธนาคารเจ้าหนี้ออกมาดูแลลูกหนี้ ทำให้ธนาคารชะลอการนำทรัพย์ออมาประมูล
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มธุรกิจยังเป็น “ขาขึ้น” เพราะจะมีทรัพย์อีกมากและราคาถูก แต่ต้องมีเงินทุนในการซื้อหนี้บริหารและพยายามหารายได้ ซึ่งระบบต้องรองรับกับหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือ AMC เป็นหน่วยงานคอยช่วยให้ธนาคารพาณิชย์มีโอกาสทยอยนำทรัพย์ออกมาประมูลได้
“ตอนนี้มีบริษัท AMC เพิ่มขึ้นมากก็จริง แต่ที่ Active มีประมาณ 5 ราย ที่เหลือส่วนใหญ่เลือกซื้อหนี้ด้อยคุณภาพแต่ละประเภทมาบริหาร ทำให้การแข่งขันปีนี้ไม่รุนแรง เพราะในตลาดมีทรัพย์ค่อนข้างมากและต้องใช้เงินทุนในการซื้อ ซึ่งผู้ซื้อมีข้อจำกัด จึงต้องระมัดระวังในการซื้อทรัพย์ ที่สำคัญต้องมีแนวทางในการจัดการด้วย ไม่ใช่ซื้อมาแล้วแก้ไขไม่ได้”
สำหรับสถานการณ์ประมูลขายหนี้ปีนี้ไม่น่าจะต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่ง BAM จะเข้าประมูลช่วยรองรับให้ได้มากที่สุด โดยเป้าหมายประมูลซื้อยังสูง 8,000-10,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์(JV AMC) ที่เป็นคู่ค้า 2ธนาคารคือ
ธนาคาร กสิกรไทยภายใต้ชื่อ “อรุณ” กับธนาคาร ออมสิน ภายใต้ชื่อ “ อารีย์” ซึ่งแนวโน้มธนาคาร กสิกรไทยจะโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) ให้ “อรุณ”พอร์ตที่2 และพอร์ตที่3 ในเร็วๆนี้
พร้อมตั้งเป้าเรียกเก็บหนี้ปีนี้ 17,800 ล้านบาท มาจากการประนอมหนี้ด้อยคุณภาพ 10,800 ล้านบาทและขาย NPA 7,000 ล้านบาทปัจจุบัน BAM มีNPLs รวม 506,000 ล้านบาทและพอร์ต NPA 73,918 ล้านบาท
นอกจากนั้น BAM ตั้งงบประมาณสำหรับการรีโนเวททรัพย์ 300 ล้านบาทในปีนี้ โดยโครงสร้างรายได้ของ BAM ปัจจุบันส่วนใหญ่ 100% มาจากการบริหาร NPLs กับ NPA ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ส่วน JV AMC ที่เพิ่งลงทุนนั้น ยังต้องรอเวลาออกดอกออกผล
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)หรือ CHAYO กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทิศทางบริหารหนี้ปี 2568 ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจว่า รัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการลงทุนเพิ่ม มีการจ้างงานหรือจ่ายล่วงเวลาได้ หรือหากเศรษฐกิจดีขึ้น
สามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มการจับจ่ายได้ รวมถึงทำให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าซึ่งสามารถใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นได้
ปัจจัยเหล่านี้ จะส่งผลต่อเนื่องให้ความสามารถในการชำระหนี้ได้ โดยการชำระหนี้จะมาจากสองส่วนคือ ส่วนแรกต้องชำระหนี้บ้านหนี้รถ และส่วนที่สองหนี้บัตรเครดิตอาจจะรอไปก่อน ถ้าลูกหนี้มีรายได้ก็จะพิจารณาจ่ายหนี้ในส่วนของบัตรเครดิต
สำหรับ CHAYO ในปี 2567 ซื้อหนี้มาประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนไม่ถึง 500 ล้านบาท จากที่สถาบันการเงินนำออกประมูลประมาณ 200,000 ล้านบาท จากทั้งระบบรวมมูลหนี้ที่มีกว่า 5 แสนล้านบาท(รวมหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน)
ส่วนปีนี้คาดว่า จะมีทรัพย์ออกประมูลใกล้เคียงปี 67 โดยครึ่งปีแรก ยังมีทรัพย์หรือลูกหนี้ที่มีอายุมากกว่า 1ปี ส่วนพอร์ตลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 91 วันหรือมีอายุต่ำกว่า 1ปี ทางสถาบันการเงินเจ้าหนี้ต้องดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของธปท.
เฉพาะหนี้ที่มีอายุต่ำกว่า 1ปี จะมีประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่ในจำนวนนี้จะมีบางส่วนเช่น ลูกหนี้รถยนต์ มูลหนี้ไม่เกิน 8 แสนบาท หรือถ้าเป็นบ้านและผู้ประกอบการ SMEs มูลหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท จึงเข้ามาตรการ “คุณสู้ เราช่วย”
ในส่วนของ CHAYO เอง กำหนดจัดแคมเปญล้อไปกับมาตรการ “คุณสู้เราช่วย”เบื้องต้นจะช่วยลูกหนี้ที่มีอายุต่ำกว่า 1ปี แต่หากกลุ่มนี้มีสัดส่วนน้อย จึงจะขยายไปยังกลุ่มลูกหนี้ที่มีอายุ 2ปี ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทให้ผ่อนชำระ โดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ยอยู่แล้ว แต่บริษัทจะพิจารณาช่วยภายใต้หลักเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนด
“เมื่อลูกหนี้ปฎิบัติตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ทางบริษัทพร้อมจะทำหนังสือรายงานไปยังเครดิตบูโร เพื่อแจ้งสถานะลูกหนี้ที่ได้ปฎิบัติตามสัญญา”
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,063 วันที่ 19 - 22 มกราคม พ.ศ. 2568