PQS ตั้งเป้ารายได้ปี 68 โต 40% รับกำลังการผลิตเพิ่ม 1 แสนตัน 

21 ม.ค. 2568 | 05:20 น.

PQS ตั้งเป้ารายได้ปี 68 โต 40% เหตุมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเติมอีก 1 ตันจากโรงงานกาฬสินธุ์ พร้อมเพิ่มสัดส่วนแป้งโมดิฟาย ที่ได้ราคาดีกว่า เดินหน้าผนึกภาคีเกษตรกร-ชุมชนสร้างความยั่งยืนภาคเกษตรกรรม

นายรัฐวิรุฬห์ ชาญจึงถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรีเมียร์ ควอลตี้ สตาร์ช จำกัด(มหาชน) หรือ PQS ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลังและแป้งดัดแปร เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจปี 2568 ว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของรายได้ไม่น้อยกว่า 40% จากปัจจุบันที่มีรายได้เฉลี่ยปีละ 1,000-2,000 ล้านบาท เนื่องจากจะมีผลผลิตเพิ่มเข้ามาอีก 1 แสนตันจากโรงงานที่จ.กาฬสินธุ์

PQS ตั้งเป้ารายได้ปี 68 โต 40% รับกำลังการผลิตเพิ่ม 1 แสนตัน 
ทั้งนี้หลังจากที่บริษัทระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(ตลท.) ได้มีการสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเริ่มการผลิตและจะสร้างรายได้ภายในสิ้นปีนี้

"ทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวม 3 แสนตันจาก 3 โรงงานคือที่มุกดาหาร สกลนครและกาฬสินธุ์ และอีกส่วนจะมาจากการผลิตแป้งดัดแปร หรือ แป้งโมดิฟาย ซึ่งจะมีอัตรากําไรทีี่ดีกว่าแป้งดั้งเดิม" 

ทั้งนี้ มีลูกค้าหลายรายทั้งในและต่างประเทศติดต่อเข้ามาซื้อแป้งโมดิฟาย แต่เนื่องจากเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมอาหาร มีเรื่อง Food safty ที่จะต้องมีการรับรองมาตรฐานเพิ่มเติมจากปกติ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการยื่น คาดว่าช้าสุดไม่เกินไตรมาส2 ปีนี้ น่าจะได้ใบรับรอง  ทำให้กำลังการผลิตเรายังทำได้เพียง 150 ตันต่อวันเท่านั้น

ดังนั้น สัดส่วนรายได้ปัจจุบัน หลักๆ จากแป้งมันสำปะหลัง 70-80% ส่วนที่เหลือมาจากผลพลอยได้ได้แก่ กากมันสำปะหลัง , รายได้จากไฟฟ้าชีวมวล แต่ภาพในช่วง 3-5 ปี บริษัทจะเพิ่มรายได้จากจากแป้งโมดิฟายจะมากขึ้น มากกว่า 50% ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิต หรือจากการเข้าซื้อกิจการ (M&A)

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อธุรกิจ เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของ PQS คือ ประเทศจีน ซึ่งหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจทําให้การดําเนินกิจกรรมทางฝั่งจีนได้รับผลกระทบอยู่บ้าง

บริษัทฯ จึงได้วางแผนรองรับด้วยการขยายช่องทางการจัดจําหน่ายไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งจะมีทั้งมาเลเซีย กลุ่มประเทศในอาเซียน ที่ยังมีศักยภาพในการเติบโต เช่น ฟิลิปปินส์ 

“ปัจจุบันการผลิตแป้งดั้งเดิม จะมีการส่งออกประมาณ 70% และจําหน่ายประเทศ 30% ซึ่งสัดส่วนทีี่ส่งออก 70% นั้นส่งออกไปประเทศจีน 90% ซึ่งปีนี้ เราไม่แน่ใจว่า จะส่งออกได้เท่าเดิมรึเปล่า แต่เราก็เตรียมตัวขยายตลาดต่างประเทศ เพิ่มเติมตลาดใหม่ๆ หรือเป็นตลาดเดิม แต่ขยายการปริมาณการส่งออกขึ้นไป”

ขณะเดียวกันสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญคือความยั่งยืนของธุรกิจ จะทำอย่างไรให้ปริมาณวัตถุดิบเข้าโรงงานอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากเทียบจากกำลังการผลิตแป้งดิบที่ 3 แสนตันต่อปี จะต้องมีวัตถุดิบคือ มันสำปะหลังเข้าโรงงาน  4 แสนตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังๆ เริ่มเห็นเห็นสัญญาณว่า ผลผลิตมันสำปะหลังต่อไร่ต่ำลง โดยในพื้นที่มุกดาหาร มีกำลังการผลิตประมาณ 3.5 ตันต่อไร่ เทียบกับจ.นครราชสีมาที่มีกำลังการผลิตมากถึง 7-8 ตันต่อไร่ 

ขณะเดียวกันเปอร์เซ็นต์แป้งยังมีทิศทางลดลง ปัจจัยหลักมาจากระบบนิเวศที่แย่ลง การเก็บเกี่ยวก่อนถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะเห็นว่า ได้ราคาดี ลำพังการส่งเสริมการปลูกคงไม่พอที่จะแก้ปัญหา โดยเฉพาะการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น จึงได้ร่วมกับภาคส่วนอื่นรวมเข้ามาดูแลระบบนิเวศของพื้นที่ปลูก ดังนั้นจึงได้จัดตั้งโครงการธนาคารต้นไม้ขึ้นมา  

โดยเมื่อปี 2566 บริษัทมีแนวคิดพัฒนาใช้ประโยชน์พื้นที่ Secure Supply เพื่อเพาะปลูกมันสำปะหลังของบริษัทเองเพื่อส่งเข้าโรงงาน ขนาดพื้นที่ 250 ไร่ที่ จ.มุกดาหาร เพื่อสร้างต้นแบบด้านความยั่งยืนของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง

ภายใต้แนวคิด “PQS Eco Park” เน้นการพัฒนาร่วมกับชุมชนในด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกต้นไม้เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติเพื่อสร้างระบบนิเวศ (Eco System) ให้กลับมาสมบูรณ์ โดยร่วมมือภาคีเกษตรกร ชุมชน ภาคเอกชนและภาครัฐ

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,062 วันที่ 16 - 18 มกราคม พ.ศ. 2568