PQS ...เกมโหด !!! และ 3 วิธีเอาตัวรอดจากหุ้นเหี้ยม

17 ก.พ. 2566 | 05:15 น.
821

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

*** ไอพีโอน้องใหม่ “พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช” (PQS) ก็ทำหน้าที่ขยายคำจำกัดความของอาการ “ลุกช้าจ่ายรอบวง” เอาไว้อย่างชัดเจนที่สุดได้อีกครั้ง เพราะถึงแม้การ “ปั้น” ราคาหุ้น จะอยู่คู่กับตลาดหุ้นมานาน

แต่ถ้าเจอกับนักการเงินที่เอาแต่ได้ ควบคุม demand และ supply ซึ่งมีผลต่อราคาหุ้น คิดแผนเชือดรายย่อยแบบออกอาการ หิวโซ... ไม่สนใจผลกระทบที่จะตามมาใด ๆ ทั้งสิ้น เราก็จะได้เห็นการปั้นราคาหุ้นแล้วสาดขายแบบ “เหี้ยมโหด” เล่นม้วนเดียวจบ ขายเกลี้ยงวันแรก ไม่เลี้ยงราคา หรือเก็บหุ้นไว้เทรดวันต่อไป  

อย่างที่เจ๊เมาธ์เคยเล่าให้ฟังมาหลายรอบแล้วว่า การปั้นหุ้นเข้าตลาดจะสร้างเม็ดเงินได้มากและเร็วที่สุด จะต้องทำกับหุ้นไอพีโอที่เข้าซื้อขายเป็นวันแรก (First Trading Day) เนื่องจากเป็นวันที่กติกาเปิดช่องเอาไว้ให้สามารถซื้อขายด้วยบัญชีมาร์จิ้น รวมถึงสามารถดันราคาหุ้นขึ้นไปได้สูงสุดถึง +200% จากปกติทำได้แค่ 30% 

ดังนั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องแปลกใจว่าทำไม PQS ซึ่งมีราคาจองซื้อ (ราคาไอพีโอ) 6  บาท จะถูกดันราคาสร้างแรงดึงดูดนักลงทุนด้วยการเปิดราคาแรกที่สูงถึง 14 บาท เพิ่มขึ้น 8 บาท หรือ 133.33% ก่อนที่จะถูกลากขึ้นไปสูงแตะสูงสุดที่ 15.80 บาท (163.33%) ในชั่วโมงแรกของการซื้อขาย ก่อนที่จะถูก “ทุบ” ด้วยการเทขายหุ้นออกมาแบบไม่รู้จักจบสิ้น จากหุ้นที่ผู้ถือหุ้นเดิมที่ไม่ติด silent period

จนในช่วงเวลาที่เหลือไปถึงปิดตลาดที่ราคา 5.75 บาท ต่ำกว่าราคาจองซื้อที่ 0.25 บาท หรือ 4.17% หรือ แปลง่ายๆ คือ ใครซื้อไปตรงราคา “ดอย” จะขาดทุนทันที 64% หรือ ซื้อ 100,000 บาท เหลือมูลค่าตอนปิดตลาดเพียง 36,000 บาท

โดยมีกลุ่มแมงเม่าจำนวนมากที่เข้าซื้อหุ้นราคาเปิด (ATO) หรือไม่ว่าจะซื้อเวลาไหนในวันนั้น ต่างก็ทำได้แค่มองดูหุ้น PQS ที่พึ่งจะซื้อปรับราคาลงตลอดวัน  จังหวะนั้น...ใครที่กล้า Cut Loss เมื่อเห็นทรงไม่ดีก็อาจเจ็บตัวน้อยหน่อย ส่วนคนที่ทำใจ Cut Loss ไม่ได้  ก็เจ็บหนักไปตามระเบียบ

มาวิเคราะห์ผู้ที่อาจมีส่วนร่วมในการทุบ PQS กันบ้าง อย่างแรกมองไปที่ตัว MM (Market Maker) ว่ากันว่า เป็นแก๊ง “สีม่วง” ชื่อดังของตลาดทุน ฝังตัวอยู่ในค่ายโบรกเกอร์ดังย่านสาทร โบรกเกอร์ที่มีส่วนร่วมขายหุ้นตัวนี้  และบ่อยครั้งจะเห็น “แก๊งสีม่วง” เพ่นพ่านตามงานกับสื่อ สร้างความน่าเชื่อถือ  

แก๊ง “สีม่วง” รับงาน MM ให้กับหุ้นหลายตัว และ PQS  ก็เช่นกัน มีลักษณะไม่ต่างกับหุ้นสีชื่อดังตัวหนึ่ง พฤติกรรมแบบเดียวกัน ลากขึ้นไปสูงปรี๊ด แล้วทิ้งดิ่งลงมา รวมถึงฝีมือความโหดเหี้ยม ของ 24CS ที่นับตั้งแต่เข้าตลาดจนถึงวันนี้ผ่านมาแล้วกว่า 4 เดือน แต่ราคาหุ้นของ 24CS ก็ยังโงหัวข้ามราคาไอพีโอไปไม่ได้ 

อย่างที่สอง...ในกระบวนการทุบ PQS มีจำนวนหุ้นที่ถูกเทออกมาแบบไม่จำกัด จนทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้น PQS เพียงตัวเดียวปาเข้าไปถึงเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ทั้งที่มีมูลค่าระดมทุน 1,020 ล้านบาท เท่านั้น 

 

กรณีนี้ทำให้อาจจะต้องมองไปที่ บล. ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ซึ่งผลงานย้อนหลังไป 4 ปี มีหุ้นผ่านมือเข้ามา 5 ตัว ซึ่งในจำนวนนี้มีหุ้นต่ำจองอยู่ถึง 3 ตัว จึงทำให้ไม่ต้องพูดมากความ ก็รู้ว่าผีมือที่มีอยู่ในระดับไหน 

ขณะเดียวกันก็ต้องมองไปถึงเจ้าของ หรือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ PQS อีกด้วย เพราะข่าวว่ามีหุ้นที่ไม่ติด Silent Period คิดเป็นจำนวน 45% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งแม้จะมีการลงนามกันเองว่า จะไม่ขายหุ้นจำนวนนี้ภายใน 180 วัน แต่เรื่องนี้ใครจะไปรู้ หรือ รับประกันได้ว่าจะไม่มีใครเกิดอาการหน้ามืดแหกคอกออกไป 

เหตุการณ์นี้แก๊ง “สายม่วง” ที่ฝังตัวอยู่ในโบรกเกอร์ สร้างความเสียหายให้กับหุ้น IPO ซ้ำแล้ว-ซ้ำอีก  

แต่สิ่งที่นักลงทุนควรทำคือ การป้องกันตนเอง เพราะไม่มีใครบังคับเราซื้อหุ้นให้เจ๊งจากการเป็นเหยื่อของกลุ่มนี้ได้ หากเราไม่หลงกล หรือ โลภเอง ดังนั้นเราควรดู 3 สิ่ง เป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจ 

1. ดูประวัติ “บริษัทที่ IPO”น่าเชื่อถือไหม? ธุรกิจดีไหม? ใครถือหุ้น?

2. ดู “ที่ปรึกษาการเงิน”ดูว่าอดีตที่ผ่านมา หุ้นลูกค้าของที่ปรึกษาการเงินแต่ละรายในอดีตมีประวัติมาอย่างไร เช่น หากมีทิศทางพฤติกรรมราคาแบบ PQS ก็ควรหลีกเลี่ยง กาชื่อที่ปรึกษาการเงินนี้ทิ้ง 

3. ดู “Underwriter” หรือ “ผู้รับประกันการจัดจำหน่าย”ถ้าพาหุ้นหลุดจองบ่อยๆ ก็ควรบอกเลิกศาลากันไปเสีย เจ๊ก็เตือนมาด้วยความระวัง นะจ๊ะ !!!

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,863 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566