net-zero

PQS ผุด Eco Park ต้นแบบเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน

    PQS เร่งสร้างความยั่งยืนวัตถุดิบ หลังสัญญาณผลผลิตมันสำปะหลังลดลง เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ แถมพื้นที่เพาะปลูกลดลง ผนึกโรงเรียนเปิดหลักสูตรปลูกมันสำปะหลัง หวังสร้างเกษตรกรมืออาชีพ ผุด Eco Park เพิ่มผลผลิตแบบยั่งยืน

นายรัฐวิรุฬห์ ชาญจึงถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรีเมียร์ ควอลตี้ สตาร์ช จำกัด (มหาชน) หรือ PQS ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลังและแป้งดัดแปรเปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Carbon ภายใน ปี 2570 ซึ่งมีความเป็นไปได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจแปรรูปการเกษตร มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตํ่าอยู่แล้ว 

นายรัฐวิรุฬห์ ชาญจึงถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรีเมียร์ ควอลตี้ สตาร์ช จำกัด  (มหาชน)

“นั่นทําให้เราสามารถตั้งเป้าในระยะใกล้ได้ว่า อย่างน้อยภายในปี 2570 เราต้องเป็นบริษัทที่เป็น Net Zero Carbon"

ซึ่งมีกิจกรรมหลายๆ อย่างที่เราผลักดัน ทั้งในส่วนของการลดการปลดปล่อยคาร์บอน เริ่มจากปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่มีการใช้การสันดาปภายในมาเป็นไฟฟ้ามากขึ้นหรือติดตั้งเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น เพื่อปลดปล่อยมลภาวะน้อยลง

อย่างไรก็ตาม มันสำปะหลังนับเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญต่อการผลิตของ PQS ทำให้การดำเนินการเรื่อง ESG จะเป็นส่วนสําคัญ เพื่อทําให้เกิดความยั่งยืนด้านวัตถุดิบ เพราะในระยะหลังๆ จะสังเกตว่า สัดส่วนผลผลิตมันสำปะหลังต่อไร่ในพื้นที่จ.มุกดาหารตํ่าลง โดยมีผลผลิตประมาณ 3 ตันต่อไร่เมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกที่จ.นครราชสีมาที่ทำได้ถึง 7-8 ตันต่อไร่ ขณะที่เปอร์เซ็นต์แป้งก็มีแนวโน้มตํ่าลงด้วย 

PQS ผุด Eco Park ต้นแบบเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน

ปัจจัยหลักๆ ที่กระทบมาจากระบบนิเวศน์ที่แย่ลง และส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการเก็บเกี่ยวก่อนถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม อาจเพราะเห็นว่าได้ราคาดี หรือมีความต้องการใช้เงิน ทำให้มีเปอร์เซ็นต์แป้งตํ่าและมีผลต่อราคาขาย นอกจากนั้นพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะเกษตรกรสูงอายุ ทำให้ออกจากภาคเกษตรไป

บริษัทจึงได้ร่วมมือกับโรงเรียนคำป่าหลายสรรพวิทย์ จ.มุกดาหาร ยกร่างหลักสูตรส่งเสริมเรียนรู้งานอาชีพการปลูกมันสำปะหลังขึ้น สำหรับเปิดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 ทั้ง 2 ภาคการศึกษา เวลาเรียน 4 ชั่วโมง/สัปดาห์ รวม 80 ชั่วโมง/ภาคเรียน เพื่อสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ด้านการปลูกมันสำปะหลัง อย่างมืออาชีพด้วยเติมเข้ามาในระบบ  

PQS ผุด Eco Park ต้นแบบเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน

นอกจากนั้น บริษัท จึงได้เข้าไปร่วมมือและให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกร โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ปรับปรุงประสิทธิภาพการปลูก โดย PQS ผลิตสารอินทรีย์ จากผลพลอยได้ของกระบวนการแปรรูปมันสำปะหลัง

เพื่อปรับปรุงบำรุงดินและส่งเสริมการเกษตรคุณภาพ จากดินกากตะกอนที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาใช้ในการปรับปรุงดิน เพราะในดินกากตะกอนเหล่านี้มีสารอินทรีย์ และธาตุอาหารที่เหมาะสมในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและปรับปรุงโครงสร้างดิน ซึ่งช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช 

“แผนการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน (SD concept) เราให้ความสำคัญมาโดยตลอดระยะเวลาของการดำเนินธุรกิจมา 20 ปี เพราะ PQS มีความเชื่อในเรื่องความยั่งยืนว่า เป็นทางรอดร่วมกันของสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน”  

ดังนั้น เมื่อปี 2566 บริษัทมีแนวคิดพัฒนาใช้ประโยชน์พื้นที่ Secure Supply ขนาดพื้นที่ 250 ไร่ เพาะปลูกมันสำปะหลังเพื่อส่งเข้าโรงงานของบริษัทเอง เป็นการสร้างต้นแบบด้านความยั่งยืนของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังภายใต้แนวคิด “PQS Eco Park” และมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้ PQS Eco Park 
ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอด ความรู้ด้านการจัดการระบบนิเวศเกษตรที่ดี

PQS ผุด Eco Park ต้นแบบเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน
โดยการแนะนำเกษตรกรในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการ พัฒนาอาชีพ ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจในการ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรอย่างมี ประสิทธิภาพ เพื่อการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อพัฒนา อาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

เน้นการพัฒนาทักษะและความรู้ในการจัดการเกษตรกรรมและสนับสนุนให้ชุมชนมีรายได้จากการผลิตพืชเกษตร แบบยั่งยืน ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการ รักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน 

นอกจากนั้นยังมี โครงการธนาคารต้นไม้ของ PQS เป็นการสร้างต้นแบบความยั่งยืนของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง และส่งเสริมความยั่งยืนในระบบเกษตรกรรมและชุมชน บริษัทปลูกต้นไม้ในพื้นที่เพื่อเน้นการฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างแหล่งอาหารตามธรรมชาติให้กับชุมชน และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยลดผลกระทบจากสภาพอากาศรุนแรง (Climate Change) ช่วยให้พืชไร่สามารถทนต่อสภาพอากาศได้ 

“ปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกในพื้นที่บริเวณใกล้กับที่ตั้งของโรงงานเป็นเฟสแรก เริ่มมีการปลูกป่าเพื่อเป็นแหล่งเงินออม สร้างแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ช่วยลดการพึ่งพิงจากแหล่งอาหารภายนอก และส่งเสริมการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนในชุมชน และเตรียมจัดตั้ง Social Enterprise ร่วมกับสมาชิกกลุ่มธนาคารต้นไม้” 

 

หน้า 7  หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,063 วันที่ 19 - 22 มกราคม พ.ศ. 2568