“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบข้อมูลการลงทุนของนิติบุคคลต่างชาติในประเทศไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า จีนมีบทบาทสำคัญในการลงทุนทางธุรกิจหลายประเภท โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2567 (ย้อนหลัง 5 ปี) พบว่า มีการลงทุนของนิติบุคคลที่มีชาวจีนร่วมลงทุนในธุรกิจอาหารและอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ มูลค่าการลงทุนรวม 445.25 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น
ธุรกิจบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร ปี 2567 มีมูลค่าการลงทุนเฉพาะสัญชาติจีนอยู่ที่ 58.78 ล้านบาท ปี 2566 มีมูลค่าการลงทุนเฉพาะสัญชาติจีนอยู่ที่ 26.21 ล้านบาท ปี 2565 มีมูลค่าการลงทุนเฉพาะสัญชาติจีนอยู่ที่ 0.52 ล้านบาท ปี 2564 มีมูลค่าการลงทุนเฉพาะสัญชาติจีนอยู่ที่ 28.84 ล้านบาท และปี 2563 มีมูลค่าการลงทุนเฉพาะสัญชาติจีนอยู่ที่ 1.96 ล้านบาท
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2567 มีมูลค่าการลงทุนเฉพาะสัญชาติจีนอยู่ที่ 85.29 ล้านบาท ปี 2566 ที่มีมูลค่าการลงทุนเฉพาะสัญชาติจีน 62.84 ล้านบาท ปี 2565 ที่มีมูลค่าการลงทุนเฉพาะสัญชาติจีน 9.82 ล้านบาท ปี 2564 ที่มีมูลค่าการลงทุนเฉพาะสัญชาติจีน 136.90 ล้านบาท และปี 2563 ที่มีมูลค่าการลงทุนเฉพาะสัญชาติจีน 34.09 ล้านบาท
นอกจากธุรกิจเหล่านี้ได้ว่าการลงทุนของชาวจีนในประเทศไทยมีความหลากหลาย ครอบคลุมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบริการ อาหาร การค้าส่ง-ปลีก และอื่นๆ ซึ่งการลงทุนที่สำคัญคือ ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นภาคที่มีมูลค่าการลงทุนจากจีนสูงสุด โดยประเภทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีการลงทุนของนิติบุคคลที่มีสัญชาติจีนร่วมลงทุนนั้นมีหลายประเภท เช่น การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักอาศัยและไม่ใช่เพื่อการพักอาศัย และการเช่าและการดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารจีนในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ท่ามกลางกระแสการลงทุนจาก “ทุนจีน” ที่เข้ามาแทรกซึมในอุตสาหกรรมอาหารของไทยอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ร้านอาหารจีนเคยเป็นเพียงตลาดเฉพาะกลุ่ม แต่ปัจจุบันได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในเมืองใหญ่และย่านเศรษฐกิจสำคัญ เช่น เยาวราช ห้วยขวาง รัชดาภิเษก ลาดพร้าว สุขุมวิท รามอินทรา เป็นต้น
ร้านอาหารแบรนด์จีนชื่อดังไม่เพียงแต่เปิดตัวในประเทศไทย แต่ยังขยายสาขาอย่างรวดเร็ว โดยมีทั้งแบรนด์เก่าและใหม่ เช่น หมี่เสี่ยว, Cotti Coffee, Haidilao และอีกหลายแบรนด์ กลยุทธ์ของแบรนด์เหล่านี้มุ่งเน้นการเข้าถึงผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว พร้อมสร้างความแตกต่างผ่านราคาย่อมเยา และเมนูที่ตอบโจทย์ลูกค้าคนไทย
ธุรกิจร้านอาหารจีนไม่ได้ขยายตัวเฉพาะในไทย แต่ยังเกิดขึ้นทั่วทั้งอาเซียน รายงานจาก The Momentum Work ปี 2568 ระบุว่า หนึ่งในสาเหตุหลักของการเติบโตคือวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศจีน ส่งผลให้ร้านอาหารจำนวนมากต้องปิดตัวลง จากสถิติพบว่าในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา ร้านอาหารจีนปิดตัวมากกว่า 1 ล้านร้าน คิดเป็น 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้ผู้ประกอบการต้องมองหาตลาดใหม่
อาเซียนเป็นตลาดที่ดึงดูดผู้ประกอบการจีน เนื่องจากการแข่งขันยังไม่ดุเดือดเท่ากับตลาดภายในประเทศจีนและเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วหลังการระบาดของโควิด-19 อีกทั้งวัฒนธรรมอาหารจีนเป็นที่คุ้นเคยในภูมิภาค โดยเฉพาะในสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่สามารถพูดภาษาจีนได้จำนวนมาก ส่งผลให้ร้านอาหารจีนสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายกว่าภูมิภาคอื่นของโลก
ขณะที่ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าปี 2565 นิติบุคคลที่จัดตั้งใหม่ในส่วนการบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร จดทะเบียนทั้งหมด 6,581 ราย มีนักลงทุนชาวจีนร่วมลงทุน คิดเป็น 0.52% ปี 2566 มีจำนวน 8,046 ราย โดยมีนักลงทุนจีนร่วมลงทุน 26.21% และในปี 2567 มีจำนวน 8,119 ราย โดยมีนักลงทุนจีนร่วมลงทุน 58.78% แสดงให้เห็นว่าแรงกดดันของทุนจีนต่อธุรกิจร้านอาหารในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายไพศาล อ่าวสถาพร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยข้อมูลกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาพรวมร้านอาหารจีนในไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการเปิดประเทศ กระแสความนิยมอาหารจีนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากคนไทยมีความคุ้นเคยกับอาหารจีนเป็นทุนเดิม ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาเยือนไทย ก็ช่วยกระตุ้นความต้องการในตลาดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การขยายตัวของแบรนด์ร้านอาหารจีนจากจีน ยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันกระแสอาหารจีนให้เป็นที่นิยมมากขึ้น
ไพศาล อ่าวสถาพร
“พฤติกรรมของผู้บริโภคไทยมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปิดรับวัฒนธรรมการกินที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้อาหารจีนกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกหลักที่ได้รับความนิยม ยิ่งไปกว่านั้นโซเชียลมีเดียยังมีบทบาทสำคัญในการขยายการรับรู้และสร้างกระแสผ่านการรีวิวบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้ร้านอาหารจีนเป็นที่รู้จักและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ได้ง่ายขึ้น”
หนึ่งในข้อได้เปรียบสำคัญของธุรกิจร้านอาหารจีนคือ “ต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำ” นายสุภัค หมื่นนิกร ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร ( FFI ) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ จำกัด ผู้บริหารร้านแฮมเบอร์เกอร์ “Siam Steak” และไส้กรอกพรีเมี่ยม “อีซี่ส์” กล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับนักธุรกิจร้านอาหารจีน ได้แก่
1.พฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่บริโภคอาหารตลอด 24 ชั่วโมง มีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่หลากหลายและนิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน
2. ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับร้านอาหารจีนที่ต้องการจับกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่คุ้นเคยกับอาหารจีน
3.ต้นทุนวัตถุดิบและการนำเข้าสินค้าจากจีนที่ไม่สูงมากประเทศไทยมีนโยบายด้านภาษีนำเข้าที่เอื้ออำนวยต่อการนำเข้าวัตถุดิบจากจีน ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบโดยรวมของร้านอาหารจีนในไทยสามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
4. เจ้าของธุรกิจร้านอาหารจีนส่วนใหญ่มักเป็นผู้ประกอบการที่มีเงินทุนสูง สามารถลงทุนในด้านการตลาด การตกแต่งร้าน และขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว
สุภัค หมื่นนิกร
นายสุภัค กล่าวว่า การแข่งขันระหว่างร้านอาหารไทยและร้านอาหารจีนในไทยกำลังทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในด้านราคาวัตถุดิบ ต้นทุนแรงงาน และค่าเช่าพื้นที่ ปัจจุบันมีข้อมูลวงในระบุว่า นักธุรกิจจีนจำนวนมากเข้ามาเรียนรู้สูตรอาหารไทย เพื่อพัฒนาและต่อยอดให้เป็นแฟรนไชส์อาหารไทยในจีนและขยายไปทั่วโลก
“นักลงทุนชาวจีนไม่ได้ขาดแคลนในเรื่องของระบบการบริหารร้านอาหาร แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการคือสูตรอาหารและองค์ความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบ ท้องถิ่นของไทยเท่านั้น เนื่องจากจีนมีเทคโนโลยีการทำครัวที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะในเรื่องของการควบคุมความร้อนและการปรุงอาหาร เช่น ซุปของจีนมักเสิร์ฟในหม้อดินที่ร้อนจัด ในขณะที่ซุปไทยอาจไม่ร้อนเท่ากันเมื่อเสิร์ฟ การคัดสรรวัตถุดิบก็เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของอาหารจีน ซึ่งมักเลือกใช้สมุนไพรและเครื่องเทศที่ซับซ้อนกว่าของไทย”
ในอนาคตร้านอาหารไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในแง่ของคุณภาพ ราคา และประสบการณ์ของลูกค้า หากร้านอาหารไทยต้องการอยู่รอดจำเป็นต้องเร่งพัฒนาในด้านมาตรฐานการบริการ ระบบการบริหารจัดการ และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้สามารถแข่งขันกับแบรนด์ต่างชาติที่มีโครงสร้างการบริหารจัดการที่เป็นระบบและต้นทุนที่ต่ำกว่า
“การเติบโตของร้านอาหารจีนในไทยจึงเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าตลาดร้านอาหารกำลังเปลี่ยนแปลง และผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจของตนเอง ซึ่งโอกาสสำหรับร้านอาหารไทย ว่านอกเหนือจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการไทยสามารถนำกลยุทธ์ใดมาใช้ เช่น สร้างจุดขายเฉพาะตัว ปรับเมนูให้เหมาะกับลูกค้าต่างชาติ หรือใช้เทคโนโลยีช่วยลดต้นทุน” นายสุภัคกล่าวในตอนท้าย
สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ที่ดำเนินกิจการอยู่ ที่มีนักลงทุนสัญชาติจีนร่วมลงทุน มากที่สุด 5 อันดับแรก มีดังนี้
1. บริษัท สมาร์ท ยูไนเต็ด (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 35 ล้านบาท มูลค่าที่จีนร่วมลงทุน 139.99 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 49%
2. บริษัท จิ่วซี ฮอทพอท จำกัด ทุนจดทะเบียน 139 ล้านบาท มูลค่าที่จีนร่วมลงทุน 68.11 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 49%
3. บริษัท สิริแสงมณี จำกัด ทุนจดทะเบียน 87 ล้านบาท มูลค่าที่จีนร่วมลงทุน 42.63 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 49%
4. บริษัท ครัวรื่นรมย์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 61 ล้านบาท มูลค่าที่จีนร่วมลงทุน 29.89 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 49%
5. บริษัท อาร์ ซีย์ สวัสดิ์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท มูลค่าที่จีนร่วมลงทุน 29.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 49%
ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ดำเนินกิจการอยู่ ที่มีสัญชาติจีนร่วมลงทุน มากที่สุด 5 อันดับแรก มีดังนี้
1. บริษัท ไทยยูเนี่ยน พร้อพเพอร์ตี้ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท มูลค่าที่นักลงทุนจีนร่วมลงทุน 2,450 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 49%
2. บริษัท ทรีโอเนส อินดัสเทรียล จำกัด ทุนจดทะเบียน 2,873.75 ล้านบาท มูลค่าที่จีนร่วมลงทุน 1,408.13 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 49%
3. บริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น จำกัด ทุนจดทะเบียน 2,750 ล้านบาท มูลค่าที่จีนร่วมลงทุน 1,320 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48%
4. บริษัท ราชพฤกษ์ (ไทย) ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,150 ล้านบาท มูลค่าที่จีนร่วมลงทุน 563.5 ล้านบาท คิดเป็น สัดส่วน 49%
5. บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยอง ไทย-จีน จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท มูลค่าที่จีนร่วมลงทุน 490 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 49%
จากข้อมูลบริษัทที่มีการลงทุนสูงสุด เป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัทที่มีการลงทุนสูงจากจีนเกือบทั้งหมดมีสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนจีนอยู่ที่ 48-49% ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดที่กฎหมายไทยอนุญาตให้ชาวต่างชาติถือครองได้ในธุรกิจบางประเภท