ดึง 6 ทุนยักษ์ต่างชาติลงทุนแสนล้าน สถานบันเทิงครบวงจร

14 ม.ค. 2568 | 16:29 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ม.ค. 2568 | 16:43 น.

รัฐเดินหน้าผลักดันโครงการสถานบันเทิงครบวงจรไทย ดึง 6 ทุนยักษ์ระดับโลกสนลงทุนแสนล้าน เน้นท่องเที่ยวครอบครัว ตั้งเป้า GDP โต 0.7% หลังเปิดให้บริการ สร้างงาน 2 หมื่นตำแหน่ง พร้อมวางมาตรการกำกับดูแลเข้มงวด

 นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสถานบันเทิงครบวงจร รัฐบาลจะเดินหน้าผลักดันการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว หรือ Entertainment Complex โดยใช้โมเดลคล้ายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก

"เราต้องการเปลี่ยนมุมมองของสังคมที่มักเข้าใจผิดว่าโครงการนี้เน้นเรื่องกาสิโนเป็นหลัก แต่ความจริงแล้ว กาสิโนจะมีสัดส่วนเพียง 5% ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น เราต้องการสร้างแหล่งท่องเที่ยวครบวงจรที่เหมาะสำหรับครอบครัว เช่นเดียวกับโมเดลที่ประสบความสำเร็จในสิงคโปร์ มาเก๊า และลาสเวกัส" นพ.พรหมินทร์กล่าว

โครงการดังกล่าวจะประกอบด้วยโรงแรมระดับ 4-5 ดาว รวมกันไม่ต่ำกว่า 5,000 ห้อง ศูนย์ประชุมและนิทรรศการนานาชาติ สนามกีฬาในร่มความจุ 10,000-16,000 ที่นั่ง คอนเสิร์ตฮอลล์มาตรฐานระดับโลก ศูนย์การค้าและร้านค้าปลอดภาษี สวนสนุก พื้นที่จัดแสดงศิลปะและวัฒนธรรม ร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ และสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ

เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก 6 ราย แสดงความสนใจเข้ามาลงทุน โดยผู้ที่จะมาลงทุนต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 10,000 ล้านบาท และต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท พร้อมมีประสบการณ์ในการบริหารสถานบันเทิงครบวงจรระดับนานาชาติ มีแผนธุรกิจที่ครอบคลุม

สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่เบื้องต้น จะต้องเป็นที่ดินของรัฐ มีขนาดไม่ต่ำกว่า 300 ไร่ มีระบบคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภคพร้อม อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบการเงิน

“ไทยต้องเร่งดำเนินการเพราะต้องแข่งขันกับโอซาก้าของญี่ปุ่นที่กำลังจะเปิด ผู้ประกอบการหลายรายมองว่าไทยมีศักยภาพสูงมาก เพราะมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐาน บางรายถึงกับบอกว่าไทยอาจสร้างอารีน่าขนาด 16,000 ที่นั่งได้ ซึ่งใหญ่กว่าที่อื่นที่ทำได้แค่ 12,000 ที่นั่ง” นพ.พรหมินทร์กล่าว

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการนี้จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะทำให้ GDP เติบโต 0.2% ในช่วงก่อสร้าง และ 0.7% หลังเปิดดำเนินการ สร้างการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 20,000 ตำแหน่ง ช่วยลดความแตกต่างระหว่าง High Season และ Low Season ได้ 13% พร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ SMEs ในพื้นที่

ทั้งนี้ โครงการจะมีโครงสร้างการกำกับดูแล 3 ระดับ ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายระดับสูงที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะกรรมการกำกับดูแลที่มีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ และสำนักงานกำกับดูแลที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่

"เรามีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ทั้งการป้องกันการฟอกเงิน การคุ้มครองผู้เล่นชาวไทยด้วยการเก็บค่าเข้า การจำกัดการเข้าใช้บริการ และระบบ Responsible Gaming ที่จะช่วยป้องกันปัญหาการพนัน" 

สำหรับไทม์ไลน์การดำเนินการ ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2567 และใช้เวลาพิจารณาประมาณ 9 เดือน หลังจากนั้นจะเริ่มกระบวนการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแล การคัดเลือกผู้ลงทุน และการก่อสร้างที่คาดว่าจะใช้เวลา 3-4 ปี

"โครงการนี้จะช่วยยกระดับการท่องเที่ยวของไทย สร้างรายได้และการจ้างงาน รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ โดยเราจะดำเนินการด้วยความโปร่งใสและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ" นายจุลพันธ์กล่าว

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะต้องเป็นการลงทุนใหม่ทั้งหมด ไม่สามารถต่อยอดจากโครงการเดิมได้ เพื่อให้เกิดการลงทุนที่แท้จริง โดยจะเน้นการพัฒนาบนที่ดินของรัฐ และต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม รวมถึงอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน