กูรูชี้สถานบันเทิงครบวงจร เป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค บจ. ไทยโดดรับอานิสงส์

14 ม.ค. 2568 | 07:00 น.

โบรกมองบวก รัฐเร่งโปรเจ็กต์ "Entertainment Complex" สร้างรายได้เพิ่มให้ไทย ค่าธรรมเนียม-ค่าต่ออายุใบอนุญาตช่วยชดเชยภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐ และใส่เม็ดเงินใหม่เข้ากองงบประมาณลงทุนต่อยอดพัฒนาประเทศ ชี้กลุ่มแรกที่ได้อานิสงส์ ก่อสร้าง สนามบิน โรงแรม ศูนย์สุขภาพ ค้าปลีก

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า มองว่าโครงการสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex จะส่งอานิสงส์เชิงบวกต่อเศรษฐกิจในประเทศไทยมากกว่าเป็นผลลบ เพราะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยดึงดูดด้านการท่องเที่ยว และสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้เพิ่ม

อันที่จริงก็มีโมเดลของต่างประเทศให้ศึกษา เช่น สิงคโปร์ มาเก๊า และมาเลเซีย ที่ก็มีการเปิดธุรกิจกาสิโน แต่ละประเทศจะมีการออกแบบวิธีการจัดการให้เข้ากับจริตและวัฒนธรรมของประเทศ โดยหากว่าประเทศไทยเปิดให้ดำเนินธุรกิกาสิโนก็ต้องมากำหนดระเบียบของลูกค้าในประเทศ กำหนดค่าเข้า และค่าใช้จ่ายด้านบริหารต่างๆ ให้เหมาะสม

สิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุด คือ ต้องไม่เป็นการส่งเสริมการพนันจนเกินไป ดังนั้น อาจเห็นระเบียบการกำหนดค่าเข้าสถานประกอบการกาสิโนของผู้มีสัญชาติไทยเดิมคาดที่ประมาณ 1,000 บาท/ราย/ครั้ง อาจเพิ่มเป็นราว 5,000 บาท/ราย/ครั้ง ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยในระดับที่คนไทยเข้าใช้บริการได้ไม่สูงมาก ยกเว้นคนที่มีความมั่งคั่งจริงๆ

อีกทั้งมองว่า Entertainment Complex ไม่เพียงสามารถสร้างรายได้เพิ่มในแง่ของการท่องเที่ยว ยังสร้างรายได้เพิ่มจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมใบเสนอราคา และอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะเข้ามาช่วยชดเชยภาระทางการเงินภาครัฐ รวมถึงยังสร้างเม็ดเงินใหม่เสริมส่วนรายได้งบประมาณลงทุนของภาครัฐอีกด้วย 

ถามว่าแล้วภาคเอกชน หรือ บริษัทจดทะเบียนไทย จะได้รับอานิสงส์นี้ด้วยหรือไม่ แน่นอนว่าในกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์ในทางตรงระยะแรก ได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มรากฐาน กลุ่มงานเสาเข็ม กลุ่มซีเมนต์และคอนกรีต และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง  ถัดมา คือ กลุ่มการท่องเที่ยว เช่น สนามบิน สายการบิน โรงแรม ศูนย์การค้า ค้าปลีก โรงพยาบาล เป็นต้น

และจะมีผลบวกอย่างมากต่อกลุ่มหุ้นที่มีความต้องใจในการลงทุนจริงๆ เช่น STEC กลุ่มปราสาททองโอสถและ BTS เพียงแต่ว่ายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนออกมาในขณะนี้ว่ากลุ่มเหล่านี้จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในผู้พัฒนาโปรเจ็กต์ Entertainment Complex หรือไม่ และยังต้องดูว่าหากมีความสนใจลงทุนจริงจะเป็นในรูปแบบใด และจะใช้บริษัทย่อยในเครือมาร่วมด้วยหรือไม่

รัฐเดินหน้าชง "สถานบันเทิงครบวงจร"

อย่างไรก็ตาม วานนี้ 13 ม.ค.68 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจ Entertainment Complex แล้ว พร้อมนำความเห็นจากหน่วยงาน ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจปรับร่าง เบื้องต้นคาดว่าใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน

หลังจากนั้น จะนำเข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎร ปรับแก้ไขให้ตรงจริตคนไทยต่อไป โดย Entertainment Complex จะเป็นแหล่งสร้างรายได้ใหม่ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศ เพราะเม็ดเงินลงทุนแต่ละแห่ง สูงถึง 1 แสนล้านบาท รายได้จากการท่องเที่ยวจะเพิ่มไม่ต่ำกว่า 120,000 - 240,000 ล้านบาทต่อปี

รวมถึงกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วง Low season ได้ไม่ต่ำกว่า 13% รับเพิ่มรายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อคน ตลอดจนเกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 9,000-15,000 ตำแหน่ง สร้างรายได้ให้รัฐไม่ต่ำกว่า 12,000-40,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจ เช่น โรงแรม สวนสนุก สถานที่ท่องเที่ยว  และรายได้จากการพนันถือเป็นส่วนน้อย

"Entertainment Complex เป็นโมเดล ธุรกิจที่มีใช้ทั่วโลก ที่ไม่ใช่เพียงแค่ มีเฉพาะกาสิโนและโรงแรม แต่รัฐบาลมุ่งสร้างสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ดึงดูด กำลังซื้อ จากนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น"