เศรษฐกิจโลกฉุดรั้ง นักการตลาดไทยชะลอลงทุน ขอโฟกัสเทรนด์สุขภาพ-AI

09 ม.ค. 2568 | 05:46 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2568 | 09:29 น.

ผลสำรวจชี้ นักการตลาดไทยกว่า 77% ตัดสินใจไม่เพิ่มงบการตลาดปี 68 ขอเน้นลงทุนสร้างคอนเทนต์ พัฒนาช่องทางขาย พร้อมจับตาเทรนด์สุขภาพ-เทคโนโลยี AI รับมือเศรษฐกิจผันผวน

สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จัดงาน “Thailand Marketing Day 2025: THE NEXT MARKETING BATTLE” เพื่อเปิดศึกทัพผ่าสมรภูมิการตลาดยุคใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สมชาย วิศิษฐชัยชาญ อุปนายกฝ่ายองค์กรความรู้ด้านการตลาด กรรมการบริหารและที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์สาธารณประโยชน์ และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

และ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อุปนายกฝ่ายกิจกรรม การสื่อสารและการตลาดยั่งยืน สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันเผยโฉม “ฟันธงเทรนด์การตลาด 2025 Way Forward MAT x MAT CMO COUNCIL’s Prediction” เพื่อไขปริศนาและวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด

ดร.สมชาย วิศิษฐชัยชาญ และ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล

จากการสำรวจผู้บริหารสูงสุดด้านการตลาด 111 คน พบว่ากว่า 55% คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะเติบโตได้ยากกว่าปี 2567 โดยว่า GDP จะเติบโตเพียง 1.65%

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการตลาดไทยมากที่สุด ผู้บริหารส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับปัจจัยภายนอกมากกว่าปัจจัยภายใน โดยให้คะแนนความกังวลต่อ "เศรษฐกิจโลก" สูงสุดถึง 4.09 คะแนน จาก 5 คะแนนเต็ม ตามมาด้วย "เทคโนโลยีดิจิทัล" 4.08 คะแนน และ "พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง" 4.05 คะแนน ตามลำดับ

เศรษฐกิจโลกฉุดรั้ง นักการตลาดไทยชะลอลงทุน ขอโฟกัสเทรนด์สุขภาพ-AI

ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ผู้บริหารส่วนใหญ่ให้ความกังวลเรื่องพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงมาก แต่ในปี 2568 ปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกและเทคโนโลยีดิจิทัลกลับขึ้นมาเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการตลาดไทยมากที่สุด ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้บริหารตระหนักถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากขึ้น

สุขภาพเป็นเทรนด์ที่สำคัญมาก โดยเฉพาะสุขภาพของผู้สูงอายุ

ผศ.ดร.เอกก์ กล่าวว่า ผมรู้สึกประหลาดใจมากที่ผลสำรวจปีนี้ให้ความสำคัญกับคุณภาพเป็นอันดับ 3 ทั้งที่ปกติแล้วทุกคนมักจะให้ความสำคัญกับคุณภาพเป็นอันดับแรก และอีกเรื่องที่น่าสนใจคือเรื่องดิจิทัล ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวันไปแล้ว

เศรษฐกิจโลกฉุดรั้ง นักการตลาดไทยชะลอลงทุน ขอโฟกัสเทรนด์สุขภาพ-AI

เรื่องคุณภาพและดิจิทัลว่าเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการซึ่งเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าหากแบรนด์ใดไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เพียงพอ ก็จะอยู่รอดไม่ได้ในตลาดปัจจุบันเรื่องสุขภาพว่าเป็นเทรนด์ที่สำคัญมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของหลายๆ ธุรกิจ 

ปี 2568 นักการตลาดไทยรัดเข็มขัดแน่น

ปี 2568 นี้ เศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน ส่งผลให้นักการตลาดไทยกว่า 77.6% ตัดสินใจ "ไม่เพิ่ม" งบประมาณด้านการตลาด และอีก 0.41% คาดการณ์ว่าจะ "ลด" งบประมาณลงไปอีก เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีสัดส่วนผู้ที่ไม่เพิ่มงบอยู่ที่ 50% สะท้อนให้เห็นว่าบรรยากาศการทำการตลาดในปีนี้ค่อนข้างตึงตัว และผู้ประกอบการต่างพากันระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

เศรษฐกิจโลกฉุดรั้ง นักการตลาดไทยชะลอลงทุน ขอโฟกัสเทรนด์สุขภาพ-AI

ถ้ามีงบเหลือ จะเน้นลงทุนที่ไหน

แม้ว่างบประมาณจะจำกัด แต่หากมีโอกาสได้ใช้จ่าย นักการตลาดส่วนใหญ่กว่า 73% จะเลือก "ลงทุนสร้างสรรค์คอนเทนต์" เพื่อดึงดูดลูกค้า และอีก 63.1% จะเน้นไปที่ "การพัฒนาช่องทางการขาย (คอมเมิร์ซ)" เพื่อเพิ่มยอดขาย ส่วนอีก 29.7% ให้ความสำคัญกับการ "พัฒนาระบบชำระเงิน" เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า และสุดท้าย การกำกับดูแล (Governance) 

เมื่องบประมาณตึงตัว องค์กรหันมาเน้นกำไรเป็นอันดับหนึ่ง

ในปี 2568 ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนและเงินเฟ้อสูง องค์กรต่างๆ ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการงบประมาณที่จำกัดลง ส่งผลให้การให้ความสำคัญกับปัจจัย 3Ps ได้แก่ People (คน) Planet (โลก) และ Profit (กำไร) เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด

จากเดิมที่องค์กรให้ความสำคัญกับ "คน" เป็นอันดับหนึ่ง โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาพนักงาน สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี และดูแลสังคม ปัจจุบันนี้ องค์กรส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับ "กำไร" มากขึ้น เพื่อความอยู่รอดและเติบโตในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก

แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่น่าสนใจในปี 2568

ผู้บริโภคมองหาสุขภาพและความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง ผลสำรวจล่าสุดพบว่า ผู้บริโภคในปี 2568 ให้ความสำคัญกับสุขภาพเป็นอันดับหนึ่ง โดยต้องการดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นและพร้อมที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังพบว่า ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของผู้บริโภคลดลง โดยหล่นมาอยู่อันดับที่ 7 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับนักการตลาดและธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

เศรษฐกิจโลกฉุดรั้ง นักการตลาดไทยชะลอลงทุน ขอโฟกัสเทรนด์สุขภาพ-AI

ในด้านเทคโนโลยี นักการตลาดให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มากที่สุด ตามมาด้วยอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) และเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและการตลาดในอนาคต

อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่น่าจับตา ได้แก่ ธุรกิจสุขภาพ การท่องเที่ยวคุณภาพ และธุรกิจการเกษตรและไบโอเทค ถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ผลสำรวจ อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตและความต้องการของผู้บริโภค

จากผลสำรวจความคิดเห็น พบว่าอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตและได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน คือ อุตสาหกรรมสุขภาพและการดูแลตนเอง (Health and Wellness) โดยได้รับคะแนนสูงถึง 88.3% ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มที่คนให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น

อันดับสองคืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ (Quality Tourism) ซึ่งผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อประสบการณ์ที่แตกต่างและมีคุณค่า โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Sustainable Tourism) ที่มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น สอดคล้องกับเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยว 39.8 ล้านคนในปีนี้ และเน้นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าผู้บริโภคต้องการเห็นธุรกิจนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลเชิงลึกจากลูกค้า (Data-driven) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน