ผ่างบ 69 จัดเต็ม 6 ยุทธศาสตร์ลุย "นโยบายประชานิยม” รัฐบาลเต็มสูบ

16 ธ.ค. 2567 | 16:16 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2567 | 16:39 น.
648

ผ่างบประมาณปี 2569 หลังครม.มีมติอนุมัติ 6 ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย เรียบร้อย จับตาเดินหน้าผลักดันนโยบายประชานิยม รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เต็มสูบทุกโครงการ

ยุทธศาสตร์การจัดสรร งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ของรัฐบาล ภายใต้การนำ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นสิ่งยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าผลักดันนโยบายสำคัญหลายด้านอย่างต่อเนื่อง ทั้ง สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) 

รวมถึงการสำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมและการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) และการกำหนดค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย

นอกจากนี้ยังมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานและกำหนดอัตราการรับซื้อตามประเภทเชื้อเพลิง การผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) การยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพ “30 บาท รักษาทุกที่” การปฏิรูประบบภาษี ไปสู่แบบ Negative Income Tax สร้างรายได้ใหม่ ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี (Underground Economy)

อย่างไรก็ดีในส่วนของกรอบวงเงินงบประมาณปี 2569 แม้ว่าขณะนี้จะยังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ แต่ตามแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวนเดิมที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม.ไปเมื่อครั้งจัดทำงบประมาณ 2568 ได้กำหนดกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2569 เอาไว้เบื้องต้น โดยตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.743 ล้านล้านบาท ขาดดุลการคลัง 703,000 ล้านบาท และประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ อยู่ที่ 3.040 ล้านล้านบาท

 

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

 

สำหรับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง

1. พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ การดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ การส่งเสริมสถาบันศาสนา ดูแลให้มีการปฏิบัติตาม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตย

การแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจร แก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งร่วมกับทุกภาคส่วน สร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการปฏิรูปกองทัพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

2. ดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศอย่างจริงใจและสร้างสรรค์ เดินหน้าสานต่อนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เตรียมความพร้อมเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

 

ผ่างบ 69 จัดเต็ม 6 ยุทธศาสตร์ลุย \"นโยบายประชานิยม” รัฐบาลเต็มสูบ

 

ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

1. สร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) หาโอกาสในตลาดใหม่ ๆ และอาหารฮาลาล ฟื้นนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และราคาพืชผลการเกษตร ยกระดับรายได้ของเกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) อาทิ เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) เทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech)

2. ส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ปรับกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) ส่งเสริมการผลิตและการใช้งานอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในประเทศ สนับสนุนการยกระดับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยโดยใช้นวัตกรรม ยกระดับอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพของไทย ให้ได้มาตรฐานสากล 

ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ (Digital Economy) ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเพื่อตั้ง Data Center และโรงงานผลิตชิป ชิปดีไซน์ และ Semiconductor กระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต (HEVS PHEVS BEVS และ FCEVs) 

รวมทั้งดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ถ่ายโอนเทคโนโลยีสมัยใหม่และองค์ความรู้ในการผลิตและประกอบชิ้นส่วน ยานยนต์สมัยใหม่ให้แก่ธุรกิจไทย ส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะและการปรับทักษะของแรงงานไทย ในอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

3. สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการบนฐานทุนทางวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ยกระดับศักยภาพของชุมชน ฐานชุมชนเมือง สินค้า OTOP เพิ่มความสามารถของพื้นที่ในการรองรับนักท่องเที่ยว สร้างแรงจูงใจสำหรับสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า ทั้งกลุ่มผู้เข้าร่วมงานไมซ์ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) 

เช่นเดียวกับการส่งเสริมเมืองน่าเที่ยว และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) อาทิ สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) รวมถึงการนำคอนเสิร์ต เทศกาล การจัดประชุมนานาชาติ และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย

4. ส่งเสริมให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งของภูมิภาค (Logistics Hub) โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Projects) ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศ อย่างไร้รอยต่อ พัฒนาสนามบินและเส้นทางการบินใหม่ ๆ เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) เพิ่มประตูบานใหม่ (Gateway) ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยทางถนน พัฒนาระบบขนส่ง ควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) 

รวมถึงขับเคลื่อนโครงการ Landbridge ผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) กำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย ปรับโครงสร้างราคาพลังงานและกำหนดอัตราการรับซื้อตามประเภทเชื้อเพลิง ปรับปรุงกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA) 

ทั้งนี้ยังต้องพัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (SPR) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมและการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) สนับสนุนให้ประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานทางเลือกอื่น ๆ กำกับดูแล ให้เกิดการจัดสรรคลื่นความถี่ และสิทธิในวงโคจรดาวเทียม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้เข้าถึงได้ทั้งในด้านพื้นที่และราคา

5. ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ และทุนทางวัฒนธรรม โดยปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom) ในการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ ส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) ดูแลส่งเสริมปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยและ SMEs พัฒนาช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุน ที่เป็นนวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ 

การแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs อาทิ การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund พัฒนาการออกแบบสินค้าและบริการที่มีอัตลักษณ์และตราสินค้าที่เด่นชัดสามารถเข้าถึงตลาดผู้ซื้อ สนับสนุนการสอดแทรกทุนทางวัฒนธรรมในการผลิตภาพยนตร์ไทยและสื่อทุกรูปแบบ ปกป้อง SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์ม ออนไลน์ จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบและส่งเสริมวัฒนธรรมในพื้นที่ อาทิ ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA)

6. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การตั้งกองทุนสนับสนุน การจัดซื้อโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีของภาครัฐมาสนับสนุนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาสู่ผู้ประกอบการไทย

 

ผ่างบ 69 จัดเต็ม 6 ยุทธศาสตร์ลุย \"นโยบายประชานิยม” รัฐบาลเต็มสูบ

 

ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

1. ส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะของรัฐ

2. ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ สนับสนุนให้คนไทยทุกกลุ่มทุกวัยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (A) ในการพัฒนาตนเอง ส่งเสริมการเติบโตอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมของเด็กปฐมวัย พัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล 

พร้อมทั้งยกระดับทักษะศักยภาพแรงงาน โดยการเสริมทักษะเดิม (Reskill) เพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) ดึงดูดแรงงานนอกระบบ เข้าสู่ระบบ รวมทั้งดึงดูดแรงงานทักษะสูง ผู้ประกอบการ และนักลงทุน เพื่อเพิ่มกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ

3. พัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเน้นการสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงเพื่อการสร้างรายได้ (Learn to Earn) ลดภาระและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา ปฏิรูประบบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในอนาคต และรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life - Long Learning)

4. เพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการด้านสุขภาพจิตและการป้องกันยาเสพติด ขยายเครือข่ายการพัฒนาระบบบริการในทุกระดับ พัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) สานต่อโครงการฉีดวัคซีนปากมดลูก (HPV)

 

ผ่างบ 69 จัดเต็ม 6 ยุทธศาสตร์ลุย \"นโยบายประชานิยม” รัฐบาลเต็มสูบ

 

ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

1. การกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ เร่งแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงสิทธิที่พึงมี ส่งเสริมความเท่าเทียมชายหญิงในครอบครัวและที่ทำงาน

2. การสนับสนุนองค์ความรู้พื้นฐานด้านการบริหารจัดการหนี้สินและการเงิน ส่งเสริมการออม เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนและการประกอบอาชีพ ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในและนอกระบบ จัดทำแผนที่ที่ทันสมัยเพื่อปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐและแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน ขยายโอกาสการเข้าถึงสิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน ยุติความขัดแย้งและแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน ยกระดับคุณภาพสินค้าโครงการ OTOP

3. ผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ ลดภาระและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพ “30 บาท รักษาทุกที่” ส่งเสริมการเกิดและเติบโตของเด็ก อย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม

 

ผ่างบ 69 จัดเต็ม 6 ยุทธศาสตร์ลุย \"นโยบายประชานิยม” รัฐบาลเต็มสูบ

 

ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

1. ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy or Eco-friendly Economy) โดยอาศัยจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติ และที่ตั้งใกล้เส้นศูนย์สูตร ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศท้องถิ่น สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งระบบ 

พร้อมกับการเพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่และชุมชนท้องถิ่นในการจัดการสิ่งแวดล้อมและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการรับมือกับภัยธรรมชาติ PM 2.5 สานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) พัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อความยั่งยืน ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ของอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย

2. แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ สร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างเต็มศักยภาพ จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จัดหาน้ำสะอา สำหรับอุปโภคบริโภคให้ประชาชนทุกพื้นที่เข้าถึงได้ 

รวมทั้งเร่งให้น้ำถึงไร่นาด้วยการเพิ่มศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำในพื้นที่เขตชลประทาน พัฒนาและบริหารจัดการแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน และแหล่งน้ำชุมชน ควบคู่กับการขยายเขตชลประทานและการเพิ่มแหล่งน้ำเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม

 

ผ่างบ 69 จัดเต็ม 6 ยุทธศาสตร์ลุย \"นโยบายประชานิยม” รัฐบาลเต็มสูบ

 

ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

1. การยกระดับการบริการภาครัฐให้มีขีดสมรรถนะสูง โดยเปลี่ยนผ่านไปสู่ราชการทันสมัย มีการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์จากศูนย์ข้อมูลภาครัฐ เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล พิจารณาใช้จ่ายจากแหล่งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ พิจารณาใช้เครื่องมือในระบบดิจิทัลในการใช้จ่ายงบประมาณทางการเงินอื่น ๆ เพื่อลดภาระการลงทุนจากงบประมาณแผ่นดินและการกู้เงินภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศ 

เช่นเดียวกับการศึกษาความเป็นไปได้ของการปฏิรูประบบภาษี ไปสู่แบบ Negative Income Tax สร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี (Underground Economy) ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบภาษีให้ทันสมัย ผลักดันกฎหมายที่เอื้อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก (Financial Hub) 

ปรับบทบาทภาครัฐให้เป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุน (Enabler) ผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) และผู้กำกับกฎกติกา (Regulator) การปฏิรูประบบราชการ และเพิ่มประสิทธิภาพ ปรับขนาดและกำลังคนภาครัฐให้สอดคล้องกับภารกิจ รวมถึงเน้นใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรภาครัฐเป็นคนดีและเก่ง มีความรู้ความสามารถสูง มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีคุณธรรม มุ่งมั่นและมืออาชีพ โปร่งใส และตรวจสอบได้

2. การยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) และความโปร่งใส (Transparency) สร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ข้อมูล หรือข่าวสารสาธารณะของรัฐ ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ เน้นการมีส่วนร่วมภาคประชาชน

3. การลดกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น (Ease of Doing Business) เพื่อไม่ให้ภาครัฐเป็นอุปสรรคของภาคธุรกิจหรือขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งเสริมการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการป้องกัน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

ผ่างบ 69 จัดเต็ม 6 ยุทธศาสตร์ลุย \"นโยบายประชานิยม” รัฐบาลเต็มสูบ

 

รายการค่าดำเนินการภาครัฐ 

ประกอบด้วย รายจ่ายเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รายจ่าย เพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง