กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อครั้งเดินทางไปประชุมครม.สัญจร จังหวัดเชียงใหม่ มีมติเห็นชอบและมอบหมายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนข้อเสนอการพัฒนาหลักประกันบริการทางสังคมแก่กลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ กลุ่มวัยแรงงาน และสวัสดิการสำหรับครอบครัว ของคณะกรรมการส่งเสริม การจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ก.ส.ค.)
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า (ร่าง) ข้อเสนอ “การพัฒนาหลักประกันบริการทางสังคมแก่กลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน” เป็นการเพิ่มเติมหลักประกันบริการทางสังคม เพื่อเติมเต็มให้กับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ได้แก่ เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ วัยแรงงาน และครอบครัว
ทั้งนี้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเอง รวมถึงช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับความเพียงพอและความครอบคลุมของความคุ้มครองทางสังคมที่จำเพาะในแต่ละช่วงวัย อย่างไรก็ดี สศช. มีข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้
1.ข้อเสนอดังกล่าวมุ่งเน้นการบริการสังคม (social services) ซึ่งเป็นสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับตลอดช่วงชีวิต ให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นผู้ประกันตน หรือต้องผ่านเกณฑ์การพิสูจน์ความยากจน และการช่วยเหลือทางสังคม (social assistance) ซึ่งเป็นสวัสดิการสังคมส่วนเพิ่ม เพื่อบรรเทาทุกข์ให้ผู้ยากไร้/ประสบความเดือดร้อน
แต่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความคุ้มครองทางสังคมในเชิงระบบเท่าที่ควร อาทิ การพัฒนาระบบบูรณาการ ฐานข้อมูลการจัดความคุ้มครองทางสังคม เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลโครงการ/มาตรการความคุ้มครองทางสังคม ทั้งหมดของภาครัฐ ตั้งแต่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค จนถึงส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์การจัดการคุ้มครองทางสังคม
ทั้งนี้เพื่อพัฒนาปรับปรุงรูปแบบและระดับสิทธิประโยชน์ ลดการตกหล่นของกลุ่มเป้าหมาย ลดความซ้ำซ้อนของสิทธิประโยชน์ ลดทอนโครงการที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำ รวมถึงจัดสรรงบประมาณ เพิ่มขึ้นในโครงการที่มีผลสัมฤทธิ์สูงต่อไป
2.การปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือให้แก่กลุ่มเป้าหมายตามข้อเสนอฯ ควรคำนึงถึงข้อจำกัดและภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะแม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์ใด ๆ โครงสร้างประชากรที่จะเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด จะส่งผลให้รายจ่ายด้านสวัสดิการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากมีการเพิ่มมูลค่าเงินช่วยเหลือและสิทธิประโยชน์ตามข้อเสนอจะยิ่งส่งผลต่อภาระทางการคลังมากขึ้นไปอีก
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางการจัดหารายได้จากแหล่งต่าง ๆ เพื่อรองรับการเพิ่มสูงขึ้นของแนวโน้มรายจ่ายด้านสวัสดิการควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้ การปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือในระยะต่อไป อาจจะดำเนินการในลักษณะมุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยนำฐานะทางเศรษฐกิจและการตรวจสอบรายได้ครัวเรือนของกลุ่มเป้าหมายมาพิจารณาร่วมด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับความยั่งยืนทางการคลังของประเทศยิ่งขึ้น
3. การส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเพียงประการเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะช่วยเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มเปราะบางได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จึงจำเป็นต้องดำเนินการแบบครบวงจร ดังนี้
4.การจัดตั้งศูนย์บริการชุมชน (Community Center) สำหรับทุกช่วงวัย อาจช่วยเสริมพลังให้ครอบครัวและชุมชนมีความเข็มแข็งและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อย่างไรก็ดี การจัดตั้งศูนย์ใหม่นั้นมีต้นทุนการดำเนินการนอกเหนือจากสถานที่ตั้ง อาทิ บุคลากร งบประมาณสนับสนุนการดำเนินงาน
ด้วยเหตุนี้ จึงควรทบทวนแนวทางการจัดตั้งศูนย์ใหม่ และมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์และต่อยอดจากกลไกการจัดสวัสดิการและดูแล คุณภาพชีวิตคนในชุมชนที่มีอยู่เดิม ทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อาทิ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ชมรมผู้สูงอายุ สมาคมคนตาบอด
นอกจากนี้ การช่วยเหลือทางสังคมโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นครอบครัว อาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อนกับการช่วยเหลือทางสังคมในปัจจุบันที่ได้จัดสรรเป็นรายบุคคลให้กับสมาชิกครอบครัวแต่ละคนอยู่แล้ว อีกทั้งในทางปฏิบัติยังเป็นการยากที่จะกำหนดนิยามและพิสูจน์สิทธิของครอบครัวที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาด้วย