รัฐบาลหลังแอ่น“งบสวัสดิการประชาชน” ปี68 พุ่ง 7.49 แสนล้าน

11 ก.ย. 2567 | 05:30 น.

รัฐบาลจัด“งบสวัสดิการประชาชน” ปี68 พุ่ง 7.49 แสนล้านบาทดูแลเด็กยันคนแก่ เป็นงบด้านรักษาพยาบาล 4.27 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 10.9% จากปีงบ 67  สศค.ชี้รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 71,384 ล้านบาทในปีงบ 66  

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้จัดสรรวงเงินงบประมาณเกี่ยวกับ “งบสวัสดิการประชาชน” โดยดูแลตั้งแต่เด็กแรกเกิด กลุ่มเปราะบาง แรงงาน ไปจนถึงผู้สูงวัย กำหนดเอาไว้ในการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งคิดเป็นวงเงินงประมาณรวมสูงถึง 7.49 แสนล้านบาท 

ขณะที่งบประมาณ กลุ่มสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล มีวงเงินรวม 426,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41,957 ล้านบาทหรือ 10.9% จากงบประมาณปี 2567 ที่มีทั้งสิ้น 385,037 ล้านบาท   

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้ตรวจสอบรายละเอียดพบว่า กลุ่มสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลมีการจัดสรรวงเงินให้

  • ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า 235,843 ล้านบาท ครอบคลุม 47.16 ล้านคน เพิ่มขึ้น 18,214 ล้านบาทหรือ 8.37% จากปีงบประมาณปี 2567 ที่ได้รับจัดสรรวงเงิน 217,629 ล้านบาท 
  • ระบบประกันสังคม 61,078 ล้านบาท ครอบคลุม 24.65 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5,389 ล้านบาทหรือ 9.68% จากงบประมาณปี 2567 ที่ได้รับจัดสรรวงเงิน 55,689 ล้านบาท 
  • ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ พนักงานของรัฐ และลูกจ้างได้รับจัดสรรวงเงิน 93,800 ล้านบาท ครอบคลุม 4.70 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16,800 ล้านบาทหรือ 21.82% จากงบประมาณปี 2567 ที่ได้รับจัดสรรวงเงิน 77,000 ล้านบาท
  • ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่นและลูกจ้าง 10,146 ล้านบาท ครอบคลุม 8.1 แสนคน เพิ่มขึ้น 1,394 ล้านบาทหรือ 15.93% จากงบประมาณปี 2567 ที่ได้รับจัดสรรวงเงิน 8,752 ล้านบาท 
  • งบสนับสนุนค่าป่วยการและพัฒนาศักยภาพ อสม.หมอประจำบ้าน ให้ดูแลสุขภาพตนเองและชุมชนได้อย่างยั่งยืน 26,127 ล้านบาท ครอบคลุม 1.09 ล้านคน เพิ่มขึ้น 160 ล้านบาทหรือ 0.62% จากงบประมาณ 2567 ที่ได้รับการจัดสรรวงเงิน 25,967 ล้านบาท 

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ก่อนหน้านี้ว่า จากการพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณที่ดูแลสวัสดิการประชาชนในปีงบประมาณ 2568 มีการจัดสรรวงเงินงบประมาณด้านสวัสดิการที่จะต้องดูแลคนทุกกลุ่มสูงถึง 7.49 แสนล้านบาท ซึ่งถ้ารวมเงินเดือนครู และบุคลากรทางการแพทย์ เข้าไปด้วย จะทำให้มีวงเงินงบประมาณที่ต้องใช้พุ่งสูงถึง 9.7 แสนล้านบาทด้วย

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

"ถ้ารวมเงินเดือนครู และบุคลากรทางการแพทย์ เข้าไปด้วย จะทำให้มีวงเงินงบประมาณที่ต้องใช้พุ่งสูงถึง 9.7 แสนล้านบาท"

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เผยแพร่รายงานความเสี่ยงทางการคลัง ประจำปีงบประมาณ 2566 พบว่า รัฐบาลมีภาระค้างจ่ายเงินสมทบให้กับกองทุนประกันสังคม 71,384 ล้านบาท 

ขณะที่สถานะเงินกองทุนประกันสังคมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน แต่ยังคงมีความเสี่ยงในระยะยาว โดยเฉพาะในส่วนของกองทุนชราภาพ เงินกองทุนประกันสังคม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มีจำนวนที่ 2,335,183 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.34% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลง โดยอัตราการจ่ายเงินสมทบได้กลับสู่ระดับปกติและการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยลดลง 

อย่างไรก็ดี ระดับความเพียงพอของเงินกองทุนชราภาพในระยะยาว ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามและแก้ไขในระยะปานกลางต่อไป โดยอัตราส่วนเงินทุน (Funding Ratio) ในปี 2566 เมื่อเทียบกับมูลค่าปัจจุบันของประมาณการรายรับ - รายจ่ายสุทธิในอีก 75 ปีข้างหน้า อยู่ที่เพียง 0.07 เท่า ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับระดับสากล 

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวกองทุนประกันสังคมอาจจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนอัตราเงินสมทบให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นรวมไปถึงการพิจารณามาตรการอื่น ๆ ควบคู่ด้วย อาทิ การขยายอายุเกษียณ การขยายเพดานฐานค่าจ้างสูงสุด

"รัฐบาลควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณในส่วนที่รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนประกันสังคม 71,384 ล้านบาท (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566) ในโอกาสแรกที่กระทำได้ด้วย"

ขณะที่รายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐในปีงบประมาณ 2566 มีจำนวนรวมที่ 514,497 ล้านบาท ขยายตัว 7.61% จากปีงบประมาณก่อน คิดเป็นสัดส่วน 16.15% ของงบประมาณรายจ่าย ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยเฉพาะส่วนของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ

โดยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 20,508 ล้านบาท เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ จำนวน 36,302 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงาน จำนวน 617 ล้านบาท 

ด้านกรมบัญชีกลางรายงานว่า กรมบัญชีกลางมีบทบาทโดยตรงในการดูแลสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวของข้าราชการ โดยข้อมูลการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล ประเภทผู้ป่วยนอก ประจำเดือนกรกฎาคม 2567 พบว่า มีค่าใช้จ่ายในการรักษา 7,303 ล้านบาท มีผู้มาใช้สิทธิ 1.54 ล้านราย คิดเป็นจำนวนธุรกรรม 3.58 ล้านรายการ

"จำนวนผู้มาใช้สิทธิเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่มีผู้มาใช้สิทธิ อยู่ที่ 1.49 ล้านคน คิดเป็น 3.38 ล้านรายการ ค่าใช้จ่ายในการรักษา 6,925 ล้านบาท" 

สำหรับส่วนราชการที่มีผู้ใช้สิทธิสูงสุด 3 อันดับแรก คือ

  1. กระทรวงศึกษาธิการ จำนวนผู้ใช้สิทธิ 6.29 แสนราย มูลค่า 2,142 ล้านบาท
  2. กระทรวงกลาโหม จำนวนผู้ใช้สิทธิ 3.70 แสนราย มูลค่า 1,491 ล้านบาท
  3. กระทรวงสาธารณสุขจำนวนผู้ใช้สิทธิ 3.55 แสนราย มูลค่า 1,032 ล้านบาท 

ขณะที่สถานพยาบาลที่มีผู้ใช้สิทธิมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. โรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวนผู้ใช้สิทธิ 5.82 หมื่นราย มูลค่า 485 ล้านบาท
  2. โรงพยาบาลศิริราช จำนวนผู้ใช้สิทธิ 4.88 หมื่นราย มูลค่า 370 ล้านบาท
  3. โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จำนวนผู้ใช้สิทธิ 3.89 หมื่นราย มูลค่า 240 ล้านบาท

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,026 วันที่ 12 - 14 กันยายน พ.ศ. 2567