นักวิชาการแนะปฏิรูประบบ "ประกันสังคม" เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน

25 พ.ย. 2567 | 11:39 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2567 | 11:40 น.

นักวิชาการแนะปฏิรูประบบ "ประกันสังคม" เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ชี้หากยกระดับมาตรฐานแรงงาน จัดการกับปัญหาค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ไทยจะก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจที่หลอมรวมให้ทุกคนได้

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะ ที่ปรึกษาการเงินการคลัง คณะกรรมการประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หากประเทศไทยเดินหน้ายกระดับมาตรฐานแรงงาน ปฏิรูประบบสวัสดิการ ปฏิรูประบบประกันสังคมและจัดการกับปัญหาค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ไทยจะก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจที่หลอมรวมให้ทุกคนได้ผลประโยชน์จากการพัฒนาและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติของไทยอยู่แล้ว 

โดยหน่วยงานในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานมุ่งมั่นดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องและคุ้มครองประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตามหลักสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมารัฐบาลได้ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไทย และเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม 

ก้าวต่อไป คือ การปฏิรูประบบสวัสดิการแรงงาน ปฏิรูประบบประกันสังคมและรับรองอนุสัญญาสำคัญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เช่น ILO 87/98 สิทธิในการสมาคมและเจรจาต่อรอง ,ILO 102 อนุสัญญาว่าด้วยหลักประกันสังคม (มาตรฐานขั้นต่ำ) ILO 102 กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาระบบประกันสังคม อนุสัญญาฉบับที่ 102 มีลักษณะเฉพาะทั้งในแง่ของการกำหนดแนวคิดประกันสังคมและแนวทางที่ให้ไว้สำหรับการจัดตั้งระบบประกันสังคม 
 

อนุสัญญาดังกล่าวได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับสาขาประกันสังคมทั้ง 9 สาขา การรักษาพยาบาล สวัสดิการเมื่อเจ็บป่วย สวัสดิการว่างงาน สวัสดิการชราภาพ สวัสดิการบาดเจ็บจากการทำงาน สวัสดิการครอบครัว สวัสดิการคลอดบุตร สวัสดิการทุพพลภาพ สวัสดิการผู้รอดชีวิต ไว้ในเครื่องมือเดียวที่ครอบคลุมและมีผลผูกพันทางกฎหมาย และวางไว้ภายใต้หลักการของการปกครองที่ดีและยั่งยืน

สังคมไทยได้ให้ความสำคัญกับสวัสดิการมากขึ้นและพรรคการเมืองต่างๆต่างนำเสนอนโยบายเพิ่มสวัสดิการให้กับประชาชน กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนเป็นกลไกและพื้นฐานสำคัญในการคุ้มครองทางสังคมและดูแลสิทธิประโยชน์ต่างๆให้กับผู้ใช้แรงงานและสร้างความมั่นคงในการประกอบกิจการของนายจ้างและเจ้าของกิจการ กองทุนประกันสังคมนั้นคุ้มครองและให้สิทธิประโยชน์ 7 กรณี ไม่เนื่องจากการทำงานเป็นการให้สวัสดิการและคุ้มครองทางสังคมแก่ผู้ประกันตน ได้แก่ 

1.กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย (ไม่เนื่องจากการทำงาน) ,2.กรณีทุพพลภาพ ,3.กรณีเสียชีวิต ,4.กรณีคลอดบุตร ,5.กรณีสงเคราะห์บุตร ,6.กรณีชราภาพ และ7.กรณีว่างงาน

ส่วนกองทุนเงินทดแทนนั้น คุ้มครองและให้สิทธิประโยชน์ (เนื่องจากการทำงาน) 4 กรณี ได้แก่ 1.กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ,2.กรณีสูญเสียอวัยวะ ,3.กรณีทุพพลภาพ และ4. กรณีตายหรือสูญหาย ระบบการคุ้มครองแรงงานของไทยนั้นได้
 

มาตรฐานสากลแต่สามารถพัฒนาสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นได้อีกตามมาตรฐานต้นแบบของประเทศยุโรปเหนือ การกินดีอยู่ดี การได้รับความคุ้มครองในเรื่องพื้นฐานของคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นก้าวสำคัญในการนำสังคมไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการต่างๆเพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่อคำนึงความยั่งยืนของกองทุนและฐานะการเงินการคลังของประเทศด้วย

แม้ประเทศที่มีระบบประกันสังคมที่ดีที่สุดก็ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนและปฏิรูปตลอดเวลา ไทยก็เช่นเดียวกันจำเป็นต้องเดินหน้าปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความยั่งยืน พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน แม้ในกฎหมายประกันสังคมจะกำหนดให้ปฏิบัติต่อลูกจ้างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ แบ่งแยกหรือกีดกัน หรือ กระทำการลำเอียงใดๆที่กระทำบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง สัญชาติหรือสถานภาพทางสังคม 

สิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อคุ้มครองและจัดสวัสดิการให้คนทำงานอย่างทั่วถึง การขยายฐานสมาชิกผู้ประกันตนยังช่วยให้กองทุนประกันสังคมเข้มแข็งขึ้นอีกด้วย คณะอนุกรรมการศึกษาและปรับปรุงเงินสมทบและพัฒนาสิทธิประโยชน์ ได้เห็นชอบในหลักการในการขยายความคุ้มครองให้แก่ลูกจ้างของกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ เลี้ยงสัตว์ ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปี ขยายความคุ้มครองไปยังลูกจ้างภาคเกษตร ขยายความคุ้มครองให้แก่ลูกจ้างของนายจ้างซึ่งประกอบการค้าแผงลอย ขยายความลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งงานที่ลูกจ้างทำนั้นมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย ขยายความคุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานบ้านในครัวเรือน

อย่างไรก็ดี หากมีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการหรือลูกจ้างอื่นที่ไม่อยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ สังคมสวัสดิการถ้วนหน้าและครอบคลุมกำลังแรงงานเกือบทั้งหมด ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีหลักประกันในคุณภาพชีวิตที่มั่นคง 

นอกจากนี้เป็นแรงงานคนไทยหรือแรงงานต่างด้าวจักได้สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้อย่างเสมอภาคกันอันเป็นสิทธิแรงงานที่เป็นมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ขณะนี้ แรงงานข้ามชาติมากกว่า 80%-90% ขาดเครือข่ายความคุ้มครองทางสังคม

ความพยายามของกระทรวงแรงงานร่วมกับภาควิชาการ องค์กรลูกจ้างและองค์กรนายจ้างในขณะนี้เพื่อผลักดันให้ “ประเทศไทย” รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO 87 และ 98 ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญของระบบแรงงานไทย เนื่องจากข้อเรียกร้องให้มีการรับรอง ILO 87 และ 98 นั้นเป็นสิ่งที่ภาควิชาการ และขบวนการแรงงานไทย รณรงค์ให้มีการรับรองมาหลายทศวรรษแล้ว การรับรองอนุสัญญาสองมาตรานี้เกิดประโยชน์ต่อข้อตกลงการค้าเสรี เกิดผลบวกต่อเศรษฐกิจมหภาคในระยะยาว สร้างความเข้มแข็งขบวนการแรงงาน เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจในสถานประกอบการ

การปฏิรูปกฎหมายแรงงานและปรับปรุงสวัสดิการแรงงานพื้นฐานของกระทรวงแรงงานจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในภาคการผลิตและเศรษฐกิจโดยรวม และเป็นไปตามมาตรฐานของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อีกเรื่องหนึ่ง คือ การให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO 102 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบประกันสังคมเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อรับประกันความครอบคลุมทั่วถึงของระบบประกันสังคม เสริมสร้างโครงสร้างทางกฎหมายและการสนับสนุนทางการเมือง อันเป็นบ่อเกิดของระบบประกันสังคมที่ประสิทธิภาพ ยั่งยืนและตอบสนองต่อพลวัตทางเศรษฐกิจและสังคม 

การดำเนินการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง อนุสัญญาสองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของแรงงานดีขึ้นโดยรัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณมาดูแล จะเกิดกลไกและกระบวนการในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมมากขึ้นในระดับสถานประกอบการแต่ละแห่ง 

แต่ต้องทำให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในภาคการผลิตภาคบริการต่างๆ ด้วย ขบวนการแรงงานและนักวิชาการแรงงานได้เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อเนื่องมามากกว่า 20 ปีแล้ว การยอมรับอนุสัญญา ILO 87/98 สิทธิในการรวมตัวและสิทธิในการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงาน การให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้อาจเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน อาจต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่คาดหวังว่า เมื่อมีองค์กรของแรงงานข้ามชาติหรือสหภาพแรงงานจะทำให้ปัญหาการค้าแรงงานทาสและค้ามนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติในไทยดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร 

การเปิดโอกาสให้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติสามารถตั้งสหภาพแรงงานร่วมกันได้ หรือสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเดียวกันได้ อาศัยหลักสามัคคีทุกเชื้อชาติและแรงงานเป็นพี่น้องกันทั่วโลกตามหลักภราดรภาพนิยมและนำมาสู่สันติสุขและความเป็นธรรมในสถานประกอบการ หรือเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งสหภาพฯแบบทั่วไปที่สมาชิกไม่สังกัดบริษัท อาชีพ อุตสาหกรรม จะดำเนินการ

ด้วยแนวทางไหนก็คงต้องพิจารณาให้ครบถ้วนในทุกมิติ ทั้งมิติสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ทั้งมิติความเป็นสากลและความเป็นชาติ ทั้งมิติเศรษฐกิจ ทั้งมิติความมั่นคงและการเมืองภายในประเทศ