ป.ย.ป. ตั้งอดีตปลัดสปน. รื้อกฎหมายขายตรง ยกเคส "ดิไอคอนกรุ๊ป" ศึกษา

27 พ.ย. 2567 | 11:26 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2567 | 11:33 น.
534

สำนักงาน ป.ย.ป. มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการรื้อกฎหมายคุมธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง มีอดีตปลัดสปน. นั่งประธาน เตรียมนัดประชุมนัดแรก 29 พ.ย.นี้ ยกกรณีตัวอย่างคดี “ดิไอคอนกรุ๊ป” ขึ้นมาศึกษา

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยการขายตรงและตลาดแบบตรง โดยมีนายจิรชัย มูลทองโร่ย อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และมี ศ.สุษม ศุภนิตย์ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ

ส่วนกรรมการประกอบไปด้วยหัวหน้าหน่วยงาน และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นต้น

สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ จะมีอำนาจหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์อุปสรรค ปัญหาและประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทาง ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการขายตรงและตลาดแบบตรง รวมถึงพิจารณาและยกร่างบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการขายตรงและตลาดแบบตรง 

เช่นเดียวกับการพิจารณากฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลง และสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคด้วย

นายจิรชัย มูลทองโร่ย อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า คณะกรรมการชุดนี้ จะนัดประชุมกันครั้งแรกวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 นี้ เบื้องต้นคณะกรรมการจะหารือถึงแนวทางการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขายตรงและตลาดแบบตรง โดยยกกรณีตัวอย่างของคดี “ดิไอคอนกรุ๊ป” มาพิจารณาว่าหน่วยงานใดมีหน้าที่ในการดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อให้รับทราบแนวทางการทำงานและอุปสรรคที่เกิดขึ้น

จากนั้นเมื่อได้รับฟังการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ของทางภาครัฐที่เข้าไปดูแลกรณีของ “ดิไอคอนกรุ๊ป” แล้ว คณะกรรมการจะพิจารณาแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายในลำดับถัดไป 

“คณะกรรมการจะขอรับฟังการดำเนินการในเคสของดิไอคอนกรุ๊ปว่า เกิดขึ้นมาแล้วหน่วยงานไหนเข้าไปดำเนินการตามกฎหมายของหน่วยงานตัวเองที่มีอยู่ และได้ผลไหม มีอุปสรรคตรงไหน และจะต้องปรับตรงไหน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงในอนาคต เป็นไปอย่างถูกต้อง ทันเวลา ไม่เกิดผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก และหากเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นมาอีกภาครัฐจะได้มีแนวทางในการรับมืออย่างรวดเร็วด้วย” นายจิรชัย กล่าว