"พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด" ด๊อกเตอร์นาซ่า ผู้เบรกดีลใหญ่เหมืองแม่เมาะ

26 พ.ย. 2567 | 14:55 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2567 | 15:52 น.
809

เปิดประวัติ ผลงาน "พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด กรรมการกฟผ." หรือ "เสธเปิ้ล" ผู้ชงล้มโครงการจัดซื้อจัดจ้างงานเหมืองแม่เมาะ 7,250 ล้านบาท เป็นศิษย์เก่าดีเด่นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 29 จบปริญญาเอก สาขา Remote sensing หรือเพื่อนๆเรียกกันว่า "ด๊อกเตอร์นาซ่า"

"พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสานักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ" หรือ "เสธเปิ้ล" ปรากฎชื่อในฐานะ กรรมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในข่าวที่ กำลังเป็นประเด็นเดือดที่ต้องจับตาต่อเนื่อง เมื่อถูกนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อ้างอิงชื่อถึง และมีคำสั่งด่วนที่สุด ถึง ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ระงับการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 โดยวิธีพิเศษ วงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาทไว้ก่อนจนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ

\"พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด\" ด๊อกเตอร์นาซ่า ผู้เบรกดีลใหญ่เหมืองแม่เมาะ

หากย้อนกลับไปในช่วงที่ นายพีระพันธุ์ ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้ช่วยงานด้านกฎหมายในหลากหลายประเด็นด้วยกัน

นอกจากการฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) แล้วได้เป็นคณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาความเสียหายของรัฐโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเพื่อต่อสู้ในคดีโฮปเวลล์ ซึ่งพล.ท.เจียรนัย อยู่ในคณะทำงานด้วย

สำหรับ พล.ท.เจียรนัย ได้รับการแต่งตั้งเป็น กรรมการ กฟผ.ชุดใหม่ หลังจากที่นายพีรพันธุ์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ 5 เดือนเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567

สำหรับรายชื่อ คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 10 คน ประกอบด้วย

  1. นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน
  2. นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
  3. นายพรพจน์ เพ็ญพาส กรรมการ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
  4. นายพิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  5. นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ.
  6. นายกุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  7. น.ส.นิรมาณ ไหลสาธิต กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
  8. นายอัครุตม์ สนธยานนท์ รองปลัดกระทรวงการคลัง
  9. นายฐากูร ศิริยุทธ์วัฒนา คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  10. พล.ต.เจียรนัย วงศ์สอาด ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสานักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ

พล.ท.เจียรนัย ขณะครองยศ พล.ต.ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อปี 2565 แจ้งบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. รวมกับของคู่สมรส 32.7 ล้านบาท

ประวัติ พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด

ด้านการศึกษา 

จบการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย รุ่นที่ 135 เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 29 จบปริญญาตรี วทบ. (โยธา) โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 40

\"พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด\" ด๊อกเตอร์นาซ่า ผู้เบรกดีลใหญ่เหมืองแม่เมาะ

เมื่อปี 2566 พล.ต.เจียรนัย เพิ่งได้รับรางวัลเกียรติยศจักรดาว สาขาพัฒนาสังคม จากมูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหาร ให้เป็นศิษย์เก่าเตรียมทหารดีเด่น โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในงานดังกล่าว

ในปี 2538 ได้รับทุนศึกษาต่อปริญญาโทด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ทั้งยังได้ทุนจบปริญญาเอก สาขา Remote sensing and computer science จากมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา

“เจียรนัย วงศ์สอาด” เคยให้สัมภาษณ์กับ "บางกอกทูเดย์" เมื่ออายุ 36 ปี ยศขณะนั้นคือพันโท ในฐานะนักวิจัยด้านรีโมทเซนซิ่ง ตอนหนึ่งถึงชีวิตวัยเรียนปริญญาเอกซึ่งต้องเข้าไปทำงานใน "นาซ่า" ว่า 

“ที่วอชิงตัน ดีซี จะมีหน่วยงานหลักของนาซ่า (NASA, GSFC) ตั้งอยู่ และตามปกตินักวิทยาศาสตร์ที่ทำวิจัยอยู่ในอยู่นั้นจะมาออกมาสอนหนังสือเพื่อที่จะมองหาคนที่สามารถทำงานวิจัยให้เค้าได้ เพื่อแลกกับทุนในการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก พอดีคงอาจจะเห็นหน่วยก้านของผมว่าไอ้นี่คงจะไปไหวก็เลยมาชวนผมให้ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน ซึ่งท่านเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นั่นด้วย ในความดูแลของทุนที่ทำวิจัยให้กับนาซ่าและศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า CEOSR (Center of Earth Observing and Space Research) ที่มีหน้าที่วิจัยเกี่ยวกับข้อมูลรีโมตเซนซิ่งทั้งเรื่องภัยธรรมชาติและข้อมูลในตั้งแต่ชั้นบรรยากาศของโลกจนมาถึงใต้ดิน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ที่นี้ก็จะทำงานอยู่ที่นาซ่าด้วย ”

“ผมต้องเรียนไปทำงานไป พอปีที่สองก็เริ่มวิ่งรอกมากขึ้น คือตั้งแต่ตื่นมาตอนแปดโมงเช้าก็ต้องรีบเข้าไปทำงานที่ห้องวิจัยในนาซ่า พอตอนบ่ายก็ต้องขับรถกลับมาทำงานวิจัยต่อที่ห้องวิจัยในมหาวิทยาลัย พอตกค่ำก็ต้องนั่งเรียนหนังสือ บางทีเพื่อนร่วมงานที่ทำวิจัยร่วมกันในนาซ่าเค้าก็มาเป็นอาจารย์สอนเราในชั่วโมงก็มี”

ประสบการณ์และตำแหน่งสำคัญ

- มกราคม 2552     กรรมการมูลนิธิสถาบันเพื่อพัฒนานวัตกรรม 

-พฤษภาคม 2554  อนุกรรมการบริหารความเสี่ยง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) 

-มกราคม 2558  อนุกรรมการกลั่นกรอง กองทุนวิจัยและพัฒนา กทปส.

-ปี 2556-2564 นายทหารประจำสำนักงาน สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม  

-ปี 2559-2562  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 

-ปี 2560-2561 อนุกรรมการพัฒนาทรัพย์สิน อนุกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนประเทศไทย 

-ปี 2560-2562 ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ และกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 

-สิงหาคม 2562  คณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาความเสียหายของรัฐโครงการระบบขนส่งทางรถไฟ (คดีโฮปเวลล์) 

-พฤศจิกายน 2562 อนุกรรมาธิการด้านการเงิน กรรมาธิการเศรษฐกิจการเงินฯ วุฒิสภา 

\"พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด\" ด๊อกเตอร์นาซ่า ผู้เบรกดีลใหญ่เหมืองแม่เมาะ

-1 ธันวาคม 2563  ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ
มกราคม 2564  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนคุ้มครองเด็กและเยาวชน 

-1 ตุลาคม 2564  ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

-ปี 2560-2564 กรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 

-ปี 2561-2563 กรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

-ปี 2561-2564  ที่ปรึกษาสำนักงานและกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม 

-ปี 2562-2564  กรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และที่ปรึกษาประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

เมื่อครั้งสมัยนั่งประธานบอร์ดการเคหะแห่งชาติ "เจียรนัย วงศ์สอาด" เคยให้สัมภาษณ์กับโพสต์ทูเดย์ถึงการเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ของการเคหะ โดยหนึ่งในคำตอบคือ "ต้องปราบทุจริต..นี่คือสิ่งที่ต้องทำ"