เบื้องหลัง กฟผ.ตัด ITD หลุดแม่เมาะ ขาดคุณสมบัติอดงาน7พันล้าน

26 พ.ย. 2567 | 08:41 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2567 | 15:36 น.

เปิดเบื้องหลังเหตุตัด ITD พ้นโผประมูลแม่เมาะ 7 พันล้าน หลังขาดคุณสมบัติด้านเครื่องจักรและแผนงานขุดเจาะ ด้าน กฟผ. สวนกลับ "พีระพันธุ์" สั่งระงับประมูล เสี่ยงไม่โปร่งใส เปิดทางผู้ที่มีข้อเสนอไม่ตรง TOR ได้เสนอราคาใหม่อีกครั้ง

กรณีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีคำสั่งด่วนที่สุดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระงับการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 โดย "วิธีพิเศษ" ในวงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท ที่บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SQ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลงานมูลค่าสัญญา 7,170 ล้านบาท ไว้ก่อน หลังจาก ITD ยื่นอุทธรณ์ขอความเป็นธรรม จนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ

แหล่งข่าวจาก กฟผ. เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า การจ้างโดยวิธีพิเศษครั้งนี้เป็นการเชิญชวนบริษัทที่มีประสบการณ์ในงานเนื่องจากเป็นงานที่ต้องจ้างโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่งาน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับของ กฟผ. ซึ่ง ITD เป็นหนึ่งในบริษัทที่กฟผ.เชิญชวนให้เข้ามายื่นข้อเสนอด้วยวิธีประกวดราคาครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตามทาง ITD มีข้อเสนอมีรายละเอียดไม่เป็นไปตามขอบเขตของงาน และเงื่อนไขเฉพาะงาน จึงถูกตัดสิทธิ์จากการประมูลงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 มูลค่า 7,250 ล้านบาท ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1. เครื่องโม่ดินมีรายงานผลการตรวจสอบสภาพเครื่องจักรกลหลักไม่ครบตามจำนวนที่เสนอ

2. สายพานลำเลียงดินและเครื่องโปรยดิน ไม่มีแผนการปรับปรุงสภาพ (Reconditioning) ก่อนการทำงาน

3. แบบดำเนินการที่เสนอมาขุดนอกขอบเขตพื้นที่การทำงานที่กำหนด ซึ่งแตกต่างจากแบบแปลนเหมืองที่ กฟผ.กำหนด

"ข้อบกพร่องทั้ง 3 ด้านของ ITD ไม่ตรงตามเงื่อนไขใน TOR ที่กำหนดให้ผู้เสนอราคาจะต้องเสนอรายงานผลการตรวจสอบสภาพเครื่องจักรกลหลักซึ่งทำการตรวจสอบสภาพโดยหน่วยงานที่ กฟผ. เชื่อถือ พร้อมทั้งแผนการปรับปรุงสภาพ (Reconditioning) ของเครื่องจักรกล มิฉะนั้น กฟผ. จะถือว่าผู้เสนอราคารายนั้นไม่ผ่านการพิจารณาด้านวิชาการ (Technical Part)"

กฟผ. ชี้แจงว่า การยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้และดำเนินการใหม่ อาจแสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส ที่ต้องการให้ผู้ที่มีข้อเสนอไม่ตรง TOR ได้เสนอราคาใหม่อีกครั้ง โดยไปตัดสิทธิ์ผู้ที่มีข้อเสนอตรงตาม TOR ทำให้มีความเสี่ยงต่อการอุทธรณ์และร้องเรียนจากผู้ที่เสนอราคาที่มีข้อเสนอถูกต้องตามเงื่อนไขใน TOR และส่งเอกสารครบถ้วนตามที่ กฟผ. กำหนด

สำหรับ บมจ.สหกลอิควิปเมนท์ (SQ) มีม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลหรือ หม่อมอุ๋ย อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 17 รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ถือหุ้น 6.09% เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 ขณะที่บริษัท เอสวีพีเค จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 19.91% โดยมีตระกูลศิริสรรพ์เป็นเจ้าของ โดยบริษัทมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการทำเหมืองแร่ ปัจจุบันดำเนินงานเหมืองแม่เมาะโครงการ 8 อยู่แล้ว

ส่วนอิตาเลียนไทย (ITD) ยักษ์รับเหมารายใหญ่ของไทย มีนายเปรมชัย กรรณสูต ถือหุ้นใหญ่สุด 11.90% ขณะที่ครอบครัวกรรณสูตมีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันมากกว่า 20% ซึ่ง ITD มีประสบการณ์งานก่อสร้างขนาดใหญ่มายาวนาน