"พิชัย" เตรียมบินคุยรัฐบาลสหรัฐ ก.พ. 68 หาทางออกไทยเกินดุลการค้า

26 พ.ย. 2567 | 12:54 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2567 | 13:32 น.

พิชัย รมว. พาณิชย์ บินไปสหรัฐ เดือนก.พ. ปี 68 หารือผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ เตรียมชี้แจงกรณีไทยเกินดุลการค้า หวังสหรัฐฯ พิจารณาไม่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย

วันที่ 26 ตุลาคม 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงกรณีที่ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ทยอยจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้า นั้น สำหรับผู้ประกอบการไทยก็อยากให้เตรียมตัว และอาจจะต้องรอดูสถานการณ์วันที่ 25 มกราคม 2568 อีกครั้ง จากสถาการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้กังวล เพราะใช้กันทุกประเทศ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ มีแผนจะเดินทางไปยัง สหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568  เพื่อหารือกับคณะผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนจะเดินทางไปยังสหรัฐฯ เดือนกุมภาพันธุ์ 2568 เพื่อหารือกับผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ และอาจจะมีโอกาสได้พบปะหารือกับรมว.ต่างประเทศ หรือถ้ามีโอกาสดีอาจจะได้พบกับประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ โดยฝ่ายไทยจะใช้เป็นเวทีชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีไทยเกินดุลการค้าสหรัฐ ให้ฝ่ายสหรัฐ ได้รับทราบว่าสาเหตุที่ไทยเกินดุลสหรัฐ ไม่ได้เกิดจากประเทศไทยมีกำไรจากการค้ากับสหรัฐฯ แต่เกิดจากไทยมีการส่งออกสินค้าของสหรัฐ ที่มีฐานการผลิตในไทย ดังนั้นสหรัฐฯ ไม่ควรพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้ากับไทยรวมทั้งหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทยอาจจะกระทบการลงทุนของสหรัฐ เองมั่นใจว่าสหรัฐ จะรับฟังและเข้าใจ

สำหรับสหรัฐ เป็นคู่ค้าลำดับที่ 2 ของไทยรองจากจีน โดยการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ มีมูลค่า 67,659.89 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 3.65 ซึ่งสหรัฐเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 1 ของไทย โดยไทยส่งออกไปสหรัฐ มูลค่า 48,352.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 1.72

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ ปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 55,681.20 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2566 ร้อยละ 9.84 ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มีมูลค่า 40,610.98 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2566 ร้อยละ 12.48 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ น้ำมันดิบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องบิน