สรรพากร แจ้งปิดระบบ ! e-Filing e-Stamp Duty และ VES 30 พ.ย.- 2 ธ.ค.

22 พ.ย. 2567 | 16:14 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2567 | 16:34 น.

กรมสรรพากรแจ้งปิดระบบ ! e-Filing e-Stamp Duty และ VES ชั่วคราว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการตั้งแต่วันฃที่ 30 พ.ย. เวลา 00.01 น. ถึง วันที่ 2 ธันวาคม 2567 เวลา 06.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสรรพากร แจ้งปิดระบบยื่นแบบแสดงรายการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing)  ระบบขอเสียอากรแสตมป์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Stamp Duty) และระบบภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างประเทศ (VES)

สรรพากร แจ้งปิดระบบ ! e-Filing  e-Stamp Duty และ VES 30 พ.ย.- 2 ธ.ค.

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เวลา 00.01 น. ถึง วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2567 เวลา 06.00 น.

 

การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นหน้าที่สำคัญสำหรับเราทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ตามกฎหมาย การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการยื่นภาษีจึงจำเป็น ที่ต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถจัดการภาษีได้รัดกุมเป็นระบบและปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายได้อย่างถูกต้องรวมถึงการจัดการด้านการเงินของเราเองอย่างคุ้มค่า

รายได้เท่าไรถึงต้องยื่นภาษี

เกณฑ์เงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้ในรอบปีภาษี (1 มกราคม - 31 ธันวาคม) “ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี” แบ่งเป็นสำหรับคนโสดและคนที่สมรสแล้ว และ ต้องทราบประเภทของเงินได้ก่อนยื่นภาษีด้วย

ประเภทของเงินได้พึงประเมินแบ่งเป็น 8 ประเภท ดังนี้ 40(1) เงินเดือน โบนัส ค่าล่วงเวลา 40(2) รับจ้างทำงาน ค่านายหน้า 40(3) ค่าลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร 40(4) ดอกเบี้ย เงินปันผล 40(5) ค่าเช่าบ้าน/คอนโด หรือทรัพย์สินอื่น 40(6) วิชาชีพอิสระที่กำหนดไว้ เช่น แพทย์ นักบัญชี นักกฎหมาย วิศวกร ฯลฯ 40(7) รับเหมาก่อสร้าง และ 40(8) รายได้อื่นๆ นอกจาก 1-7 อ้างอิงตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เช่น ขายของออนไลน์ ดารานักแสดง ฯลฯ

รายได้เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษี

บุคคลที่มีเงินได้สุทธิต่อปีมากกว่า 150,000 บาท ต้องเสียภาษี หรือสำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ที่มีจ่ายเงินประกันสังคม คือ คนที่มีรายได้ทั้งปีมากกว่า 319,000 บาท หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากกว่า 26,583 บาท ต้องเสียภาษี โดยมีรายละเอียดดังนี้

เงินได้สุทธิ = เงินได้ทั้งปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน

• รายได้รวม 319,000 บาท

• หัก ค่าใช้จ่ายตามกฎหมายสำหรับเงินได้ 40(1) (100,000) บาท

• หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว (60,000) บาท

• หัก เงินสะสมประกันสังคม (9,000) บาท

• เหลือ เงินได้สุทธิ 150,000 บาท

ลดหย่อนมีอะไรบ้าง

ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่นำมาหักจากเงินได้ทั้งปีเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดในปีนั้นๆ โดยอาจมีมาตรการพิเศษ เช่น โครงการที่ภาครัฐออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น

• Easy e-Receipt สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 50,000 บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการที่มีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567

• เที่ยวเมืองรอง 2567 ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับ 55 จังหวัดเมืองรอง (ที่มีการประกาศ)ประกอบด้วยค่าบริการท่องเที่ยวมัคคุเทศก์ ค่าแพ็คเกจทัวร์ ค่าที่พักในโรงแรม รีสอร์ท หรือโฮมสเตย์ ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 30 พฤศจิกายน 2567