รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้การฝากเงินหรือการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองเงินฝากและเงินลงทุนของสหกรณ์ให้เหมาะสมต่อเสถียรภาพทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงและความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ โดยสรุปได้ ดังนี้
1. กำหนดนิยาม ดังนี้
สหกรณ์ หมายความว่า สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ที่จดทะเบียนประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
หลักทรัพย์ หมายความว่า หลักทรัพย์ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 25362
หลักทรัพย์ของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ หมายความว่าหลักทรัพย์รัฐบาล หลักทรัพย์รัฐวิสาหกิจ และหมายความรวมถึงหลักทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย
รัฐวิสาหกิจ หมายความว่า รัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ 2548
2. กำหนดกรอบการลงทุน ได้แก่ การซื้อหลักทรัพย์รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน การซื้อหุ้นของธนาคารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์ การซื้อหุ้นของชุมนุมสหกรณ์หรือสหกรณ์อื่น การซื้อหุ้นของสถาบันที่ประกอบธุรกิจ อันทำให้เกิดความสะดวกหรือส่งเสริมความเจริญแก่กิจการของสหกรณ์
โดยได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ และฝากหรือลงทุนอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด รวมแล้วต้องไม่เกินทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง และจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ก่อน
3. กำหนดหลักเกณฑ์กำกับการกระจุกตัวการลงทุน โดยกำหนดกรอบสัดส่วนการลงทุนในนิติบุคคล โดยสหกรณ์จะสามารถฝากเงินหรือลงทุนในนิติบุคคลแต่ละแห่งได้ไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์ แต่จะไม่นับรวมถึงการฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิกและการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย
4. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสหกรณ์ โดยในกรณีที่สหกรณ์ทำการฝากเงินหรือลงทุนอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับแต่ไม่เป็นไปตามกรอบการลงทุน ให้ดำเนินการแก้ไขภายใน 10 ปี และกรณีที่เป็นการฝากเงินหรือการลงทุนของสหกรณ์ในนิติบุคคลแต่ละแห่งที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ยังคงสามารถฝากหรือลงทุนนิติบุคคลดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจะครบกำหนดตามสัญญาการลงทุนในแต่ละสัญญา
แต่ห้ามมิให้สหกรณ์ลงทุนเพิ่มจนกว่าจะมีสัดส่วนต่ำกว่าที่หลักเกณฑ์กำหนด (ไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองสหกรณ์) และในกรณีที่เป็นการฝากเงินหรือการลงทุนไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด ให้สหกรณ์ดำเนินการแก้ไขภายใน 5 ปี
อย่างไรก็ตามกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้จะช่วยให้รัฐมีบทบาทในการกำกับดูแลองค์กรของสหกรณ์ให้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ของสมาชิก
โดยจะช่วยสร้างความมั่นคงในระบบสหกรณ์ ลดความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดทุน แต่ยังคงสามารถกระจายเม็ดเงิน ช่วยการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง สอดคล้องกับแนวคิดการคุ้มครองระบบสหกรณ์และเงินทุนของสหกรณ์ยังสามารถหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ภายใต้หลักความระมัดระวัง
ทั้งนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงขบวนการสหกรณ์และได้ดำเนินการแก้ไขเนื้อหาบางเรื่องเพื่อลดภาระของสหกรณ์ และกำหนดบทเฉพาะกาล เพื่อผ่อนระยะเวลาและวิธีการในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว เพื่อมิให้กระทบต่อสถานการณ์เงินการลงทุนของสหกรณ์และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการของสหกรณ์มากเกินควรและเป็นการออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ด้วย