"ศ.ดร.พรายพล" ห่วง "กิตติรัตน์" ดึงอิทธิพลการเมืองแทรกแซงการทำงานของ ธปท.

14 พ.ย. 2567 | 13:21 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ย. 2567 | 13:21 น.

"ศ.ดร.พรายพล" ห่วง "กิตติรัตน์" ดึงอิทธิพลการเมืองแทรกแซงการทำงานของ ธปท. หลังมีความใกล้ชิด และมีส่วนที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ชี้เป็นการกระทำที่ผิดหลักการของความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการอิสระ และอดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ไม่เห็นด้วยที่มีการแต่งตั้งนายกิติตรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทสไทย (ประธานบอร์ด ธปท.) เนื่องจากมองว่ามีความใกล้ชิด และมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นจึงมีโอกาสที่จะทำให้อิทธพลทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานของ ธปท. ผ่านตัวของรายกิตติรัตน์ได้

ทั้งนี้ ต้องเรียนว่าความคิดเห็นดังกล่าวนี้ ไม่ได้มองไปถึงเรื่องส่วนตัวของนายกิตติรัตน์ว่าจะเป็นคนที่ไม่ดีแต่อย่างใด เพียงแต่การดำเนินการดังกล่าวถือว่าผิดหลักการของความเป็นอิสระของ ธปท.ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างมาก
 

"การเข้ามาของนายกิตติรัตน์จะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานของ ธปท. เนื่องจากด้วยความเป็นประธานบอร์ด ธปท. จะมีบทบาท และส่วนร่วมในการแก้ปัญหาทุกด้าน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก 4 รายในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ด้วย  หากมีการเอนเอียงในลักษณะคล้อยตามรัฐบาลไปหมดทุกเรื่องก็จะเสียความเป็นกลาง หรืออิสระของ ธปท."

อย่างไรก็ดี บทบาทของประธานบอร์ด ธปท. ก็ต้องทำตามหน้าที่ที่ปรากฏในกฎหมาย นั่นคือการบริหารจัดการองค์กรของ ธปท. เรื่องบุคคลากร เงินเดือน โบนัส แม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับนโยบายการเงิน แต่อะไรที่เกี่ยวกับนโยบายการเงิน เรื่องการแต่งตั้งบุคคลากร รวมถึงผู้ว่า ธปท. โดยหลักจะต้องเลือกผู้ที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิ หรือประสบการรืแล้วจะต้องรักษาความเป็นอิสระ และความเป็นกลางของ ธปท. ในการดำเนินนโยบาย ทั้งด้านการเงิน สถาบันการเงิน และเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งมีระบุตามกฎหมายอย่างชัดเจน 
 

"เจตนารมย์ของกฎหมายก็มีความชัดเจนว่าต้องการให้ ธปท. ดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระภายในกรอบที่มีข้อตกลงกับรัฐบาล ไม่ใช่ว่าจะมีอิสระทั้ง 100% หรือทำอะไรก็ได้ ซึ่งจะมีการกำหนดกรอบในทุกปี หากทำตามหน้าที่ให้เหมาะสมก็ถือว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง" 

ส่วนประเด็นข้อเป็นห่วงว่าจะมีเรื่องการถูกล้วงลูกนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปใช้นั้น มองว่า ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้โดยง่าย ในความคิดเห็นส่วนตัวจึงไม่ได้ห่วงอะไรมากมายเท่าใดนัก แต่หากดำเนินนโยบายทางการเงินไม่ดี เงินสำรองฯก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย นี่เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง คงไม่สามารถนำออกไปใช้แบบตรงๆได้