แบงก์ชาติแข็ง แทรกแซงยาก  ประธานหอฯจี้ "กิตติรัตน์"เป็นกลาง-อิสระ

13 พ.ย. 2567 | 05:45 น.
2.1 k

สภาหอการค้าฯ วอนประธานบอร์ดแบงก์ชาติ สร้างความเชื่อมั่นเป็นกลางและอิสระจากการเมือง ด้านนักวิชาการมั่นใจ ล้วงทุนสำรองไม่ง่าย แต่ห่วงจุดเริ่มต้นนำการเมืองแทรกแซง ฟากเอกชนมั่นใจศักยภาพแบงก์ชาติ องค์กรเข้มแข็ง แทรกแซงยาก 

KEY

POINTS

  • นักวิชาการกังวลว่า นายกิตติรัตน์ คนใหม่อาจนำการเมืองมาการแทรกแซงการทำงานของธปท. ซึ่งควรเป็นองค์กรอิสระ
  • สภาหอการค้าไทย วอน"กิตติรัตน์ สร้างความเชื่อมั่น เป็นกลางและอิสระจากการเมือง
  • ภาคการท่องเที่ยวหวังว่า กิตติรัตน์ผลักดันการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

 

 

แม้กระทรวงการคลัง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการคลังบอกว่า ยังไม่รู้ว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนองได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการ(บอร์ด) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)หรือ แบงก์ชาติ

แต่ได้รับการยืนยันว่า คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธปท.ศ์พันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกได้ลงมติเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งเป็นรายชื่อที่กระทรวงการคลังเสนอขึ้นเป็นประธานกรรมการ ธปท.คนที่ 5 ต่อจากนายปรเมธี วิมลศิริ ที่ครบวาระ 

คณะกรรมการ ธปท.มีอำนาจทำอะไรบ้าง

ขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ราย เลือกจากที่กระทรวงการคลังเสนอ 1 ราย คือนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นอดีตลูกหม้อกระทรวงการคลัง ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกราย คือนางชุณหจิต สังข์ใหม่ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นชื่อที่ทางธปท.เสนอ 

จุดเริ่มนำการเมืองแทรก

ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการอิสระและอดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ไม่เห็นด้วยที่มีการแต่งตั้งนายกิตติรัตน์เป็น ประธานบอร์ดธปท. เนื่องจากมองว่า มีความใกล้ชิด และมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองค่อนข้างมาก จึงมีโอกาสที่จะทำให้อิทธิพลทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานของธปท.ผ่านนายกิตติรัตน์ได้ 

ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการอิสระและอดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

"ความคิดเห็นนี้ ไม่ได้มองเรื่องส่วนตัวของนายกิตติรัตน์ว่า จะเป็นคนที่ไม่ดีแต่อย่างใด เพียงแต่การดำเนินการดังกล่าว ถือว่าผิดหลักการของความเป็นอิสระของธปท.ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างมาก"

ดร.พรายพลกล่าวต่อว่า การเข้ามาของนายกิตติรัตน์ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานของธปท. เพราะประธานบอร์ดธปท.จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาทุกด้าน และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกอีก 4 รายใน กนง.ด้วย หากเอนเอียงในลักษณะคล้อยตามรัฐบาลไปหมดทุกเรื่อง ก็จะเสียความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของธปท.ได้

อย่างไรก็ดี บทบาทของประธานบอร์ดธปท. ก็ต้องทำตามหน้าที่ในกฎหมายคือ การบริหารจัดการองค์กร เรื่องบุคลากร เงินเดือน โบนัส แม้จะไม่เกี่ยวกับนโยบายการเงิน แต่การแต่งตั้งบุคลากรรวมถึงผู้ว่าธปท. โดยหลักจะต้องเลือกผู้ที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิ หรือประสบการณ์แล้วจะต้องรักษาความเป็นอิสระ และความเป็นกลางของธปท. ในการดำเนินนโยบาย

“เจตนารมย์ของกฎหมายมีความชัดเจนว่า ต้องการให้ธปท.ดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระภายในกรอบที่มีข้อตกลงกับรัฐบาล ไม่ใช่ว่า จะมีอิสระทั้ง 100%หรือทำอะไรก็ได้ ซึ่งจะมีการกำหนดกรอบในทุกปี หากทำตามหน้าที่ให้เหมาะสม ก็ถือว่า ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง” 

ส่วนประเด็นข้อเป็นห่วงว่า จะมีเรื่องการถูกล้วงลูกนำเงินสำรองไปใช้นั้นมองว่า ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้โดยง่าย ในความคิดเห็นส่วนตัว จึงไม่ได้ห่วงอะไรมากนัก แต่หากดำเนินนโยบายทางการเงินไม่ดี เงินสำรองก็อาจได้รับผลกระทบไปได้

วอนเป็นกลางปลอดการเมือง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า หอการค้าไทยคาดหวังว่า ประธานบอร์ดธปท. จะสร้างความเชื่อมั่นว่า เป็นกลาง และเป็นอิสระจากการเมือง ซึ่งเอกชนอยากเห็นการทำงานของรัฐบาลกับธปท. ร่วมกันอย่างสอดประสาน แม้แต่ละฝ่ายจะมีหน้าที่และภารกิจที่ต่างกัน 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“เศรษฐกิจไทยวันนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของนโยบายการเงินและการคลังที่เดินหน้าควบคู่กัน"

โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้ และการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการและประชาชน ซึ่งส่วนนี้หอการค้าฯพร้อมสนับสนุนข้อมูลและแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป 

ยังมั่นใจศักยภาพแบงก์ชาติ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ประเด็นเรื่องประธานกรรมการแบงก์ชาติคนใหม่ โดยส่วนตัว อาจมีความกังวลในด้านการเมืองบ้าง แต่ธปท.ถือว่า มีความเข้มแข็งในองค์กรพอสมควร และยังคงไว้ซึ่งความอิสระ

สามารถผลักดันการทำงานให้ดำเนินต่อไปได้ด้วยความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งภาคเอกชน ก็ยังมั่นใจกฏเกณฑ์และระเบียบของแบงก์ชาติว่ามีแน่นหนาในการปฏิบัติงานพอสมควร 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย

“แน่นอนว่าหลังจากคณะกรรมการคัดเลือกมีมติเลือก“กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ต้องมีฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ในระบบการทำงานก็มีกฏเกณฑ์การทำงานอย่างชัดเจนสำหรับอำนาจและหน้าที่ต่างๆ” 

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการทำงานของแบงก์ชาติและมุมมองด้านเศรษฐกิจ น่าจะเป็นไปตามสถาณการณ์ของแต่ละช่วงเวลาของเศรษฐกิจโลก หน่วยงานเอกชน หากภาวะไม่ดี โอกาสการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ดีก็ยาก

สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้สามารถเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคงได้ เพราะไม่มีใครหรือหน่วยงานใดจะดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จโดยลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลในองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนไป สอดคล้องกับความเป็นจริง และต้องรอดูผลงานประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ว่าจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้  

การทำงานต้องไม่อิงการเมือง

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ(Property DNA)กล่าวว่า การที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนองได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงค์ชาติ มีเสียงค้านหรือเสียงต่อต้านมากพอสมควร ทั้งตอนที่มีการเสนอชื่อตั้งแต่ตอนแรก รวมไปถึงหลังจากได้รับการคัดเลือกแล้ว เพราะเกรงว่า จะเป็นการเข้ามาแทรกแซงของฝ่ายการเมืองในองค์กรอิสระอย่างธปท.

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ(Property DNA)

ทั้งนี้เพราะนายกิตติรัตน์มีสายสัมพันธ์ที่ดี และเป็นอดีตนักการเมือง หลายฝ่ายจึงมองว่า อาจจะไม่ใช่สัญญาณที่ดีของธปท. เพราะที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ ของธปท.เป็นไปโดยที่ไม่อิงฝ่ายการเมือง 

ดังนั้น ถ้านายกิตติรัตน์ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า มีความสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายการเมืองก็ต้องจับตามองเป็นพิเศษว่าจะมีอะไรที่เอื้อประโยชน์ถึงกันหรือไม่ และยังต้องจับตามองว่า จะมีผลต่อการคัดเลือกตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.คนต่อไปหรือไม่ เพราะคนปัจจุบันจะหมดวาระในปีหน้าแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในเรื่องของการทำงานการมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล ก็อาจจะมีการออกนโยบายที่ผ่อนปรนในบางเรื่องมากกว่าที่ผ่านมา นโยบายของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันมากขึ้น ไม่มีเรื่องที่ขัดแย้งจนกระทั่งเป็นข่าวแบบช่วงที่ผ่านมา 

“ถ้าธปท.คล้อยตามรัฐบาลตลอด ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะธปท.ควรมีการทำงานที่เป็นอิสระและมองที่ผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ นโยบายหรือความเคลื่อนไหวบางอย่างจึงมักจะขัดแย้งกับฝ่ายการเมืองเสมอมา”นายสุรเชษฐกล่าว 

เชื่อ"กิตติรัตน์" หนุนธปท.เข้าถึงประชาชน 

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในมุมมองส่วนตัว เราควรที่จะเคารพกฎ กติกา ในเมื่อระเบียบในการสรรหา และคุณสมบัติของผู้ได้รับคัดเลือกอยู่ในกรอบ ถือว่าเป็นผู้ที่มีสิทธิ์และถือเป็นสัญญาณเชิงบวกในเรื่องของการทํางานร่วมกันระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาล

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

"ถือเป็นมิติความร่วมมือการทํางานที่สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความรุนแรงในเรื่องของหนี้ครัวเรือน เห็นถึงทิศทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ของผู้ประกอบการ"

อย่างไรก็ดี องค์ประกอบของแบงค์ชาติ ไม่ใช่มีเพียงประธานบอร์ดอย่างเดียว ยังมีผู้ว่าฯแบงก์ชาติ นั่งเป็นรองประธาน และมีรองผู้ว่าฯ เป็นกรรมการ และผู้ว่าฯ ยังสามารถเลือกเลขาฯได้อีก 1 คน มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวนหนึ่ง

บอร์ดของแบงก์ชาติก็จะประกอบไปด้วยคนในแบงก์ชาติ คนนอกแบงก์ชาติ และข้าราชการ ทำให้เกิดมิติของความหลากหลาย ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้ มีประสบการณ์เข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องของธรรมาภิบาลได้เป็นอย่างดี

“หากคุณกิตติรัตน์ ประธานบอร์ดคนใหม่ ดำเนินงานแล้วเป็นการแทรกแซง ไม่ถูกต้อง ผมเชื่อว่ากรรมการท่านอื่นๆ ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเป็นอิสระ ก็จะมีกลไกในการร่วมกันพิจารณาที่ยึดโยงประเทศชาติ และประชาชนเป็นหลัก” 

นายแสงชัยกล่าวต่อว่า ทุกวันนี้โครงสร้างดอกเบี้ยต่างกัน ควรมีกระบวนการทบทวน การคํานวณเงินต้น ดอกเบี้ยพักหนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงวันนี้ ไม่ใช่เป็นปัญหาของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แบงก์ชาติต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ หนี้ในระบบเข้ายาก แต่หนี้นอกระบบเข้าง่าย เมื่อเป็นหนี้ในระบบต้องพบกับดอกเบี้ยในอัตราที่สูง วันนี้สิ่งที่ต้องทำคือ การทบทวนอัตราดอกเบี้ย มาตรการด้านสินเชื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย 

ที่ผ่านมาต้องดูว่า เป็นเรื่องของเจตนาเอาเปรียบทางการค้าเชิงนโยบายหรือไม่ จึงต้องมีกระบวนการในการสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน หลายเรื่องของแบงก์ชาติ จึงควรได้รับการยกระดับไม่ใช่คํานึงถึงเรื่องของเสถียรภาพในระยะยาว เพราะระยะสั้นประชาชนและผู้ประกอบการ SME ทั้งประเทศ กำลังเผชิญกับหนี้ทั้งในและนอกระบบ และได้รับความกระทบจากภาระดอกเบี้ย

"สุดท้าย ผมคิดว่าเรื่องของคุณกิตติรัตน์ ควรเปิดโอกาสให้ท่านทํางานก่อนแล้ว ในระหว่างนี้หากมีสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือเป็นสิ่งที่ผิดระเบียบ ผิดกฎหมายอย่างไร ยังมีกระบวนการตรวจสอบภาคประชาชน กลไกภายในบอร์ด ที่จะคอยช่วยกันกํากับและตรวจสอบ เพราะเชื่อว่าการขับเคลื่อนของแบงก์ชาติในบอร์ดชุดใหม่นี้ จะตอบสนองต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกได้ดี”

ผลักดันท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า)กล่าวว่า การมีนายกิตติรัตน์เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ถ้ามองแง่มุมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการผลักดันการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้อาจมีนโยบายการเงินที่ออกแบบโดยธปท.ที่สนับสนุนภารกิจมากขึ้น

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า)

ส่วนนโยบายการลดดอกเบี้ยหรือ การทำให้ SMEs เข้าถึงเงินกู้ในระบบได้มากขึ้น ย่อมมีผลเชิงบวกกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว สำหรับข้อเสนอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสำหรับบอร์ดแบงก์ชาติ คือ ขอให้มีนโยบายการผ่อนปรน และ ดอกเบี้ยต่ำสำหรับ SME ด้านการท่องเที่ยวยังมีความจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,044 วันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567