พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา : ปมปัญหา 26,000 ตร.กม.จากอดีตถึงปัจจุบัน

05 พ.ย. 2567 | 06:30 น.
819

ย้อนรอยประวัติศาสตร์พื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย 26,000 ตร.กม. จากจุดเริ่มต้นปี 2501 ถึงปัจจุบัน พร้อมไทม์ไลน์สำคัญ การเจรจา ข้อตกลงระหว่างประเทศ และความท้าทายด้านทรัพยากรในพื้นที่

กรณี “พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา” กลายเป็นประเด็นร้อนเขย่าการเมือง และรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จนต้องออกมาเร่งชี้แจงทำความเข้าใจ โดยเรียกแกนนำพรรคคร่วมรัฐบาลมาหารือร่วมกันอย่างรีบร้อนในช่วงบ่ายอ่อน ๆ ของวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ก่อนจะออกมาแถลงรายละเอียดว่า รัฐบาลนี้จะไม่ยอมเสียพื้นที่ประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม โดยยึดหลักการเจรจาเป็นสำคัญ หากทั้งสองประเทศจะเข้าไปแตะหรือทำอะไรกับ MOU 44

สำหรับปัญหาของเรื่อง “พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการพูดคุยกันมาต่อเนื่องหลายรัฐบาล ซึ่งปัญหาเบื้องลึกเบื้องหลัง หากย้อนไปยังอดีต มีงานเขียนชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจของ “ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.การต่างประเทศ ที่ได้จัดพิมพ์ไว้ในจุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 92 เดือนพฤษภาคม 2554 เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา : ปัญหาและพัฒนาการ มีเนื้อหาสำคัญ ซึ่งฐานเศรษฐกิจ ขอสรุปไว้ดังนี้

 

พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา : ปมปัญหา 26,000 ตร.กม.จากอดีตถึงปัจจุบัน

 

จุดเริ่มต้นของปัญหาการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ไหล่ทวีปที่ทับซ้อนกันระหว่างไทยและกัมพูชาในอ่าวไทย มีรากฐานมาจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ครั้งที่ 1 (UNCLOS I) ที่จัดขึ้น ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึง 28 เมษายน 2501 โดยมีผู้แทนจาก 86 ประเทศเข้าร่วม รวมถึงประเทศไทยที่ส่งคณะผู้แทนนำโดย พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิป พงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น

การประชุมครั้งนี้นำไปสู่การจัดทำอนุสัญญาสำคัญ 4 ฉบับ ได้แก่

1. อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง มี 32 ข้อ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2507

2. อนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง มี 37 ข้อ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2505

3. อนุสัญญาว่าด้วยการประมงและการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตในทะเลหลวง มี 22 ข้อ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2509

4. อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป มี 15 ข้อ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2507

อนุสัญญาทั้ง 4 ฉบับนี้รวมเรียกว่า "อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1958" โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีปได้กำหนดสิทธิพิเศษให้รัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือทรัพยากรธรรมชาติบนและใต้ไหล่ทวีป ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต โดยมีลักษณะพิเศษ 2 ประการ คือ

1. เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียว รัฐอื่นจะเข้ามาสำรวจหรือแสวงประโยชน์โดยไม่ได้รับความยินยอมไม่ได้

2. เป็นสิทธิที่รัฐชายฝั่งมีอยู่แต่เดิม ไม่ต้องทำการประกาศเข้ายึดครอง

กัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปฝ่ายเดียวครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2513 แต่ประเทศไทยไม่ยอมรับเนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ต่อมากัมพูชาได้ประกาศกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีปอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2515 โดยประธานาธิบดีลอนนอล ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 16,200 ตารางไมล์

 

พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา : ปมปัญหา 26,000 ตร.กม.จากอดีตถึงปัจจุบัน

 

ประเด็นสำคัญในการประกาศของกัมพูชาคือการอ้างอิงสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ที่ระบุว่า "เขตรแดนในระหว่างกรุงสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลที่ตรงข้ามจากยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูดเป็นหลักแล้ว ตั้งแต่นี้ต่อไปทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงสันเขาพนมกระวานแล" อย่างไรก็ตาม การตีความของกัมพูชาไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของสนธิสัญญา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเขตแดนทางบก ไม่ใช่ทางทะเล

ที่สำคัญ ในแผนที่แนบท้ายกฤษฎีกาของกัมพูชาไม่ได้แสดงการอ้างสิทธิเหนือเกาะกูด โดยเส้นเขตไหล่ทวีปหยุดอยู่บริเวณขอบเกาะกูดด้านตะวันออกและเริ่มต้นใหม่ทางขอบด้านตะวันตก อีกทั้งยังระบุชัดเจนว่า "Koh Kut (Siam)" แสดงถึงการยอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทย

ฝ่ายไทยได้ประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปด้านอ่าวไทยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 โดยใช้หลักเขตแดนที่ 73 เป็นจุดเริ่มต้นเช่นเดียวกับกัมพูชา แต่ลากเส้นลงไปจากจุด 1 ที่ละติจูดเหนือ 11°39´.0 ลองติจูดตะวันออกที่ 102°55´.0 ไปยังจุด 2 ที่ละติจูดเหนือ 09°48´.5 ลองติจูดตะวันออก 101°46´.5 ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร

สภาพภูมิศาสตร์ของอ่าวไทยที่มีความกว้างเพียง 206 ไมล์ทะเล และการที่แต่ละประเทศใช้หลักการอ้างสิทธิสูงสุด (Maximum Claim) ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนทั้งหมด 5 ส่วน ได้แก่:

1. พื้นที่ไทย-กัมพูชา ทางตอนบนของอ่าวไทย

2. พื้นที่ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม ทางตอนกลางของอ่าวไทย

3. พื้นที่ไทย-มาเลเซีย ทางตอนล่างของอ่าวไทย

4. พื้นที่มาเลเซีย-เวียดนาม ทางตอนล่างของอ่าวไทย

5. พื้นที่มาเลเซีย-เวียดนาม-กัมพูชา-ไทย ทางตอนล่างของอ่าวไทย

 

พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา : ปมปัญหา 26,000 ตร.กม.จากอดีตถึงปัจจุบัน

 

ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเริ่มเห็นผลในปี 2534 เมื่อเวียดนามและกัมพูชาสามารถตกลงกำหนดเส้น Working Arrangement Line ระหว่างกัน โดยใช้เส้นมัธยะที่ลากจากจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะไวของกัมพูชากับเกาะปันจัง (โตจู) ของเวียดนามลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 

ต่อมาไทยและเวียดนามก็สามารถเจรจากำหนดเขตแดนระหว่างกันสำเร็จในปี 2540 หลังจากการเจรจาอย่างเป็นทางการ 9 ครั้งในเวลา 6 ปี โดยมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 ที่กรุงฮานอย

สำหรับกรณีไทย-มาเลเซีย แม้จะไม่สามารถตกลงกำหนดเขตไหล่ทวีปได้ แต่ทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดตั้งองค์กรร่วมในการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ทับซ้อนเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2522 และมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2522 โดยมุ่งเน้นการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีชีวิต ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่

ในทำนองเดียวกัน มาเลเซียและเวียดนามก็ได้เจรจาตกลงพัฒนาพื้นที่ร่วมกันเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2535 ทำให้ปัจจุบันเหลือเพียงพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา และพื้นที่ระหว่างไทย-มาเลเซีย-เวียดนาม ที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้

ความซับซ้อนของปัญหาเพิ่มขึ้นจากการที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างได้ให้สัมปทานในการสำรวจและขุดเจาะทรัพยากรในพื้นที่ทับซ้อน โดยไทยเริ่มให้สิทธิตั้งแต่ปี 2511 และกัมพูชาเริ่มให้สัมปทานในปี 2534 ทำให้การเจรจากำหนดเขตทางทะเลและการแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนยิ่งมีความท้าทายมากขึ้น และกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งสองประเทศต้องหาทางออกร่วมกันต่อไป