sustainability

เร่งเจรจากัมพูชา พื้นที่ OCA หวังลดนำเข้า LNG ต้นเหตุค่าไฟพุ่ง

    งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมด้านนํ้ามัน ก๊าซ และปิโตรเคมี ( Oil & Gas And Petrochemical Exhibition Thailand (OGET) 2024) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2567

งานดังกล่าวเป็นงานที่รวบรวมอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และโซลูชันนวัตกรรมใหม่ และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก พร้อมเวทีการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในวงการอุตสาหกรรม

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย

หนึ่ง ในหัวข้อที่สำคัญ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ได้มีการหยิบยกถึงความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร่งรัดการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claimed Area : OCA) ที่ล่าช้ามา 52 ปี ด้วยเหตุผลต่าง ๆ

ประการแรก การพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ยังมีความจำเป็นในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เนื่องจากปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตํ่าสุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทอื่น ทำให้ไทยยังต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และวัตถุดิบผลิตปิโตรเคมี โดยในแผนก๊าซธรรมชาติ ที่อยู่ระหว่างจัดทำ คาดว่าในปี 2580 ไทยจะมีความต้องการใช้ก๊าซฯอยู่ราว 4,747 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

เร่งเจรจากัมพูชา พื้นที่ OCA หวังลดนำเข้า LNG ต้นเหตุค่าไฟพุ่ง

ประการต่อมา เป็นที่ประจักษ์ว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นและราคาผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2566 มีการนำเข้าในสัดส่วนถึง 31.2 % หรือราว 1,455 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปริมาณความต้องการใช้อยู่ที่ 4,664 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ขณะที่จัดหาก๊าซธรรมชาติภายในประเทศได้เพียง 2,653 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือสัดส่วนราว 56.88 % ส่วนที่เหลือนำเข้าจากเมียนมา 556 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันหรือสัดส่วนราว 11.92 % และในปีต่อ ๆ ไปการนำเข้า LNG จะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเป็นผลจากการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศสูงขึ้นไป เนื่องจาก LNG มีราคาสูงกว่าราคาก๊าซฯในอ่าวไทย

“จากแผนก๊าซธรรมชาติ พบว่า ประเทศต้องจัดหานำเข้า LNG ในปี 2580 เพิ่มอีกราว 1,768 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากสัญญาที่มีอยู่ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมีการก่อสร้าง LNG Terminal รองรับไว้ราว 29.8 ล้านตันต่อปี เท่ากับว่าประเทศต้องพึ่งการนำเข้า LNG ทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนราว 43%

ขณะที่การจัดหาก๊าซฯในประเทศลดลงเหลือ 1,702 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 36 % เท่านั้น ส่วนการพึ่งก๊าซจากเมียนมาจะลดลงมาเหลือ 228 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 5% ซึ่งปริมาณ LNG ที่นำเข้าดังกล่าว ประเทศไม่สามารถเก็บรายได้จากภาษีและค่าภาคหลวงได้เลย”

นอกจากนี้ ปัจจุบันท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ที่อยู่ในอ่าวไทย ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพจากที่ออกแบบไว้ตั้งแต่แรก เนื่องจากปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทยลดลง หากสามารถนำก๊าซฯจากแหล่ง OCA ที่ห่างไปราว 50 กิโลเมตร มาต่อเข้าท่อส่งก๊าซฯได้จะช่วยให้เกิดการใช้ท่อส่งก๊าซฯที่มีอยู่ในอ่าวไทยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะมีส่วนนำมาช่วยลดค่าบริการผ่านท่อก๊าซหรือต้นทุนราคาเนื้อก๊าซฯลงได้อีก

เหตุผลดังกล่าว จึงสะท้อนมาที่ผลกระทบต่อค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังต้องแบกรับภาระค่าเอฟทีไว้ราว 1 แสนล้านบาท

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาในการเปิดเจรจาพื้นที่ OCA ไว้ จึงถือว่าเป็นความสำคัญเร่งด่วน โดยให้ยึดถือ MOU 2544 ที่ทำไว้ โดยเฉพาะการเร่งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา ขึ้นมาเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน

รวมถึงการเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับทุกฝ่ายหรือหารือกับทุกภาคส่วน คำนึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ปราศจากอคติ ซึ่งเข้าใจว่าหากเริ่มเจรจาวันนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี จะได้ข้อยุติ และหลังจากนั้นจะต้องใช้ระยะเวลาสำรวจและผลิตอย่างตํ่า 5 ปี

ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดตามมา ประเทศจะมีราคาพลังงานราคาถูกมาใช้ ช่วยลดค่าครองชีพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคตได้ และประเทศยังมีรายได้จากการเก็บภาษีและค่าภาคหลวงได้อีกทางหนึ่งด้วย