แม้ว่าล่าสุดคณะรัฐมนตรี (23 ก.ค.67) จะมีมติให้ตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย สำหรับงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 แล้วก็ตาม แต่เป็นการลดภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะอย่าลืมว่า ยังมีภาระต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ. ที่มียอดสะสมอยู่จำนวน 98,495 ล้านบาท หรือคิดเป็น 163.39 สตางค์ต่อหน่วย
รวมถึงต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง หรือ AFGAS ที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมกันแบกภาระอีก 15,083.79 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย รวมทั้งสิ้น 188.41 สตางค์ต่อหน่วย ยังไม่ได้รับการทยอยจ่ายคืนให้กับ 2 หน่วยงานดังกล่าว
ดังนั้น แนวทางการตรึงราคาค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2567 จึงเป็นเพียงการยกยอดภาระในงวดนี้ไปจ่ายงวดหน้า บวกด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ทาง กฟผ.ไปกู้สถาบันการเงินมาเพื่อให้มีสภาพคล่อง ในที่สุดประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะต้องเป็นผู้ทยอยจ่ายคืนทั้งหมดอยู่ดี
ปัญหาของค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้ มีปัจจัยหลักมาจากการจัดหาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และจากแหล่งเมียนมาที่เริ่มลดลง ทำให้ต้องพึ่งพาการนําเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร (LNG Spot) ที่มีราคาแพง ในปริมาณที่มากขึ้นมาทดแทน หรือราว 5 ล้านตันต่อปี และเมื่อบวกกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา จึงสะท้อนมาถึงค่าไฟฟ้าในที่สุด
การจะตรึงค่าไฟฟ้าโดยให้กฟผ.แบกรับภาระต่อไป ก็จะมีความเสี่ยงถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการจัดหาเงินทุนและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และ กฟผ. เพราะด้วยสถานการณ์ราคาพลังงานและอัตราแลกเปลี่ยนยังคงมีความไม่แน่นอน อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเกิดการผันผวน
อีกทั้งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเมียนมา ยังมีแนวโน้มที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจําเป็นต้องนําเข้า LNG เพื่อเสริมปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายอย่างต่อเนื่อง
การแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าในระยะยาว ทางรัฐบาลจึงจำเป็นต้องจัดหาแหล่งพลังงานภายในประเทศให้มีอย่างเพียงพอ โดยการเร่งเปิดให้มีการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมทั้งในอ่าวไทยและบนบก โดยเฉพาะการเร่งเจรจาพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Areas – OCA) เพื่อลดการนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาแพง เพราะนอกจากมีแหล่งพลังงานราคาถูกแล้ว ก๊าซธรรมชาติยังถือว่ามีความสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านของประเทศไปสู่พลังงานพลังงาน ที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติไว้คอย Backup ให้กับไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน
ดังนั้น คงต้องเฝ้าจับตาท่าทีของรัฐบาลต่อไปว่าจะแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงได้อย่างไร หลังจากในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา มีการหยิบยก OCA ขึ้นมาหารือ ซึ่งนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ยืนยันถึงความจำเป็น ที่รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้าการเจรจากับทางกัมพูชา เพื่อนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้เป็นแหล่งพลังงานใหม่ที่จะสามารถใช้ได้ต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปีและน่าจะช่วยให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงมาเหลือในระดับกว่า 3 บาทต่อหน่วยได้
ทั้งนี้ หากการเจรจายังล่าช้า ประเทศชาติยิ่งเสียโอกาส ในการนำพลังงานราคาถูกมาใช้ เพราะกว่าการจะเจรจาจะได้ข้อยุติและพัฒนาก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้ จะใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 7-8 ปี
ขณะเดียวกันทุกฝ่ายกำลังจับตามองว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่แถลงต่อรัฐสภาในเรื่องนี้ไว้ จะสามารถเห็นเป็นรูปธรรม สร้างประโยชน์ส่วนรวมให้กับพี่น้องประชาชน ได้ตามที่หาเสียงไว้หรือไม่