รัฐบาลลุย OCA จัดทัพใหม่ เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

25 ต.ค. 2566 | 18:06 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2566 | 18:20 น.
578

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่เริ่มความยืดเยื้อและอาจจะขยายความขัดแย้งเป็นวงกว้างมากขึ้น บวกกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังไม่มีการยุติการสู้รบ ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าราคาพลังงานจะดีดตัวสูงขึ้นไป

ทั้งนี้ย่อมมีผลกระทบต่อค่าครองชีพ และต้นทุนด้านพลังงานของไทยต้องปรับตัวสูงตามไปด้วย โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ยังมีราคาสูงอยู่ในเวลานี้ ด้วยเหตุของประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานทั้งนํ้ามัน และก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี รวมกันแล้วกว่า 80% เมื่อราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นไป จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบมายังไทย

สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ภาคส่วนต่าง ๆ เกิดความกังวล และพยายามเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งจัดหาแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนตํ่า ทดแทนการนำเข้า โดยเฉพาะการเร่งเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (Overlapping Claims Area หรือ OCA ) ที่เป็นความหวังจะได้พลังงานราคาถูกมาใช้ในประเทศ และเป็นนโยบายของรัฐบาลตามที่แถลงต่อรัฐสภาไว้

รัฐบาลลุย OCA จัดทัพใหม่ เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

ล่าสุดเหมือนจะมีสัญญาณที่ดีว่าทางรัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมการจัดตั้งโครงสร้างคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee-JTC) ไทย-กัมพูชา ซึ่งแต่เดิมมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายไทย เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลจึงต้องมีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการใหม่ รวมถึงการตั้งคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) และคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติงานขึ้นมาใหม่ด้วย จากที่ผ่านมามีกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุถึงความคืบหน้าในการหาข้อยุติพื้นที่ OCA ว่า กระทรวงพลังงานได้ให้ความสำคัญในการจัดหาแหล่งพลังงานต้นทุนตํ่า เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่ปัญหาการเจรจาพื้นที่ OCA ที่ไม่ได้ข้อยุติในช่วงที่ผ่านมา เพราะไปยึดติดข้อตกลงภายใต้บันทึกความเข้าใจหรือ MOU ปี 2544 ที่ระบุให้การเจรจาทั้ง 2 เรื่องนี้จะต้องดำเนินการทำข้อตกลงไปด้วยกัน ไม่สามารถแบ่งแยกได้คือ การจัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วม และข้อตกลงการกำหนดพื้นที่ที่จะมีการแบ่งเขตพื้นที่ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเล

ทั้งนี้ มองว่า หากยึดตามกรอบ MOU เดิม การเจรจาจะสำเร็จลงได้ยาก หากจะให้สำเร็จจะต้องมีการปรับแนวทางการเจรจากันใหม่ โดยแยกการเจรจาจัดทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือออกมา ซึ่งในส่วนนี้ได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ไปศึกษาแนวทางหรือมีตัวอย่างของประเทศต่าง ๆ เป็นต้นแบบในการเจรจาตามแนวทางนี้หรือไม่อย่างไร รวมถึงจะต้องมีการตั้งองค์กรร่วมไทย-กัมพูชา ขึ้นมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐบาล ส่วนรูปแบบการบริหารจัดการปิโตรเลียมนั้นจะต้องมาพิจารณา หลังจากการเจรจาประสบความสำเร็จแล้ว

ขณะที่ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ความเห็นว่า การพัฒนาพื้นที่ OCA เป็นนโยบายของรัฐบาล และเป็นประโยชน์สำหรับประเทศในการจัดหาแหล่งพลังงานต้นทุนตํ่า ที่จะมาช่วยลดค่าครองชีพหรือค่าไฟฟ้าให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งวันนี้รัฐบาลจะต้องเร่งเจรจาและทางกัมพูชาก็พร้อม เพราะหากล่าช้าประเทศจะเสียประโยชน์ เนื่องจากเจรจาสำเร็จกว่าจะผลิตนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้ ต้องใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 8 ปี แม้ว่าในอนาคตการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดจะถูกมาแทนที่ แต่ช่วงการเปลี่ยนผ่านก๊าซธรรมชาติยังถือว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศ

ส่วนการการเจรจานั้น มองว่า ควรจะแยกการเจรจาเฉพาะการจัดทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ให้เดินหน้าไปก่อน เพราะมองเห็นถึงความสำเร็จเช่นเดียวกับ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือเจดีเอ มาแล้ว หากยึดแนวทางนี้ การเจรจากับทางกัมพูชาก็คงไม่ยาก

ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีจะผลักดันเรื่องนี้ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเดินสายกลับจากต่างประเทศแล้ว จะเข้าหารือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายนี้ต่อไป