พลังงานเล็งหารือกระทรวงต่างประเทศแก้ปัญหาพื้นที่ "OCA" ตาม MOU

14 ต.ค. 2566 | 11:49 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2566 | 12:00 น.

พลังงานเล็งหารือกระทรวงต่างประเทศแก้ปัญหาพื้นที่ "OCA" ตาม MOU หวังให้เกิดความชัดเจนสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้ประเทศ ด้านรมว.พลังงานชี้ควรจะต้องมีการปรับแนวทางการเจรจากันใหม่

การเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา หรือ Overlapping Claims Area – OCA เป็นประเด็นที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ในปัจจุบัน แม้จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยมาแล้วหลายสมัย

ล่าสุดนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ต้องการดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้เกิดความชัดเจน เพราะจะช่วยให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน และน่าจะช่วยเรื่องของราคาก๊าซธรรมชาติ และการลงทุนที่จะเกิดขึ้น

ขณะนี้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงพลังงานเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะไปหารือกับกระทรวงต่างประเทศต่อ  โดยจะเป็นการหารือในระดับนโยบายว่าจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างตามกรอบ MOU ที่มีอยู่

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุถึงความคืบหน้าในการหาข้อยุติพื้นที่ OCA ว่า กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้ เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาล 

อย่างไรก็ดี เท่าที่ได้ดูข้อตกลงภายใต้ MOU 2544 เห็นว่าควรจะต้องมีการปรับแนวทางการเจรจากันใหม่

จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่าสำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันที่ลงนามโดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยกับนาย ชก อัน รัฐมนตรีอาวุโสประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ในปี 2544 หรือที่เรียกว่า MOU 2544 มีประเด็นที่ทำให้เกิดความล่าช้า และยากต่อการหาข้อยุติ เนื่องจาก มีการกำหนดให้พื้นที่ส่วนที่จะแบ่งเส้นเขตแดนทางทะเล  และ พื้นที่ที่จะพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน  ที่ จะต้องดำเนินการทำข้อตกลงไปด้วยกันไม่สามารถแบ่งแยกได้ (Indivisible package)  

โดยพื้นที่ส่วนที่ตกลงแบ่งเส้นเขตทางทะเล ซึ่งมีประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตรนั้น  ทางฝ่ายกัมพูชา ลากเส้นล้ำเข้ามาโดยไม่ได้อิงหลักสากลตามอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 (UNCLOS) ที่ไทยเป็นภาคี ทำให้เมื่อตกลงในส่วนแรกไม่ได้ ก็จะไม่สามารถตกลงในส่วนของพื้นที่พัฒนาร่วมได้ ตามที่ระบุใน MOU 
 

โดยพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมีพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร แบ่งการเจรจา เป็น 2 ส่วน ได้แก่ 

  • พื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ต้องหาข้อสรุปเขตแดนทางทะเล 10,000 ตารางกิโลเมตร ให้ชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนนี้กัมพูชาขีดเส้นผ่านเกาะกูด จ.ตราด
  • พื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมี เป้าหมายทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน (JDA) ร่วมกับมาเลเซีย