"ปตท."ปักธงฮับ LNG ภูมิภาคต่อยอดนวัตกรรมความเย็นมุ่ง"Net Zero"

16 ต.ค. 2566 | 10:55 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2566 | 10:56 น.

"ปตท."ปักธงฮับ LNG ภูมิภาคต่อยอดนวัตกรรมความเย็นมุ่ง"Net Zero" ปลูกไม้เมืองหนาว ลิลลี่ ทิวลิป ไฮเดรนเยียร์ เผยล่าสุดปลูกได้ปีละ 3 ล้านดอก สร้างรายได้ 10 ล้านบาทต่อปี และปลูกสตรอว์เบอร์รีได้ตลอดทั้งปี

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.มีกลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ให้เป็นศูนย์กลาง LNG ในภูมิภาค (LNG Regional Hub) 

ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ  LNG Receiving Terminal จำนวน 2 แห่ง ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ต.มาบตาพุด อ.เมือง  จ.ระยอง มีกำลังแปรสภาพ LNG รวม 19 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ดี ปตท. ตั้งเป้าจะเพิ่มปริมาณการค้า LNG ให้ได้ 9 ล้านตันต่อปี ในปี 2573 โดยได้ดำเนินการตั้งหน่วยธุรกิจฯ ขึ้นมารองรับ ซึ่งจะมีการจำหน่ายในลักษณะนำเข้า LNG แล้วกระจายจำหน่าย LNG ในภูมิภาค เช่น กัมพูชา จีนตอนใต้ ด้วยระบบขนส่งทางรถยนต์ และขนส่งทางเรือขนส่ง LNG ขนาดเล็ก
 

อย่างไรก็ตาม  ล่าสุด ปตท.ได้ซื้อพื้นที่ติดกับสถานี LNG แห่งที่ 2 ในพื้นที่บ้านหนองแฟบ 160 ไร่ เพื่อรองรับโรงงานที่จะมาใช้ความเย็นจากการแปรสภาพ LNG ซึ่งมีหลายโรงงานให้ความสนใจ เช่นระบบโรงไฟฟ้าของ GPSC บริษัทที่ให้บริการ cloud solutions ระบบโรงแยกก๊าซ
 

"ปตท."ปักธงฮับ LNG ภูมิภาคต่อยอดนวัตกรรมความเย็นมุ่ง "Net Zero"


นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ปตท. ได้ดำเนินการต่อยอดด้วยการใช้นวัตกรรมเย็นLNGให้เกิดประโยชน์ ด้วยการสร้างโรงเรือนปลูกไม้เมืองหนาว ที่ อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา (Flora Exhibition Hall) ในสถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุด แห่งที่ 2 ที่บ้านหนองแฟบ จ.ระยอง ซึ่งมีการออกแบบอาคารให้ใช้ประโยชน์จากความเย็นในกระบวนการผลิต LNG โดยเป็นการนำพลังงานความเย็นที่เหลือ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการแปรสภาพ LNG มาใช้ในระบบปรับอากาศ

นอกจากนี้ ยังมีการปลูกดอกไม้เมืองหนาวภายในอาคาร ด้วยการควบคุมอุณหภูมิ 15 องศา เช่น ลิลลี่ ทิวลิป ไฮเดรนเยียร์ โดยปัจจุบันสามารถเพาะปลูกจนออกดอกปีละ 3 ล้านดอก สามารถสร้างรายได้ได้ 10 ล้านบาทต่อปี ช่วยให้ประเทศไทยสามารถลดการนำเข้าไม้ดอกเมืองหนาวได้ 

อีกทั้งยังสามารถส่งออกไปขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และญี่ปุ่น 

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า  ปตท. ยังใช้ประโยชน์จากพลังงานความเย็นที่เหลือจากการแปรสถานะของ LNG ในการปลูก สตรอว์เบอรี่ โดยมีโรงสตรอว์เบอร์รีและพันธุ์ไม้เมืองหนาว ตั้งอยู่ที่สวนสมุนไพร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในตำบลมาบข่า อำเภอเมือง จังหวัดระยอง  ซึ่งสามารถปลูกสตรอว์เบอรี่ได้ตลอดทั้งปี และถูกพัฒนายจนสามารถต่อยอดเกิด “แบรนด์ Harumiki” ขึ้นมา

"ทั่วโลกมีแผนลดโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ เชื่อมั่นว่า LNG จะเป็นที่นิยมมากขึ้น"