"ปตท."รุกธุรกิจก๊าซ เตรียมนำเข้า-ส่งออกมากขึ้นดันยอด 9 ล้านตันปี 73

11 ต.ค. 2566 | 08:39 น.

"ปตท."รุกธุรกิจก๊าซ เตรียมนำเข้า-ส่งออกมากขึ้นดันยอด 9 ล้านตันปี 73 รองรับรับการพัฒนาคลัง LNG มาบตาพุดระยะที่ 3 และการเปิดเสรี หวังรัฐเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ปตท. มีความพร้อมในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 8เพื่อรองรับปริมาณการใช้ก๊าซฯ ของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

โดย ปตท. ตั้งเป้าการขายก๊าซทั้งในและต่างประเทศรวม 9 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 จากแผนพัฒนาธุรกิจก๊าซใหม่ ที่ต้องทำด้านการตลาดมากขึ้นผ่านรูปแบบการซื้อมาขายไป (Trading) และการขยายตลาดในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถให้บริษัท มีตัวเลือกคู่ค้าที่จะขายก๊าซให้ในราคาที่ดีที่สุดได้ ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในแผนธุรกิจก๊าซของกลุ่ม ปตท.

อย่างไรก็ดี ภาพรวมการขายก๊าซเริ่มดีขึ้น รวมถึงราคาเริ่มเข้ามาอยู่ในจุดที่เหมาะสมที่จะทำธุรกิจแล้ว หลังจากสถานการณ์สงครามเริ่มคลี่คลาย โดยก่อนหน้านี้ ปตท. เองก็ได้มีการพัฒนารูปแบบการส่งออกก๊าซในหลาย ๆ แบบทั้งมีการแบ่งใส่เรือลำเล็ก ๆ รวมถึง ISO Tank เป็นถังความดันส่งไปขายที่ญี่ปุ่น 

ซึ่งในปีก่อนความต้องการของก๊าซเพิ่มมากขึ้น แต่ ปตท. มีการนำเข้าเรือที่ล่าช้าไปหน่อย จึงสามารถทำยอดขายได้ประมาณ 4.5 ล้านตัน/ปี

"ปตท."รุกธุรกิจก๊าซ เตรียมนำเข้า-ส่งออกมากขึ้นดันยอด 9 ล้านตันปี  73

อย่างไรก็ตาม จากแผนพัฒนาโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้น ปตท. ได้ให้ความสำคัญกับโครงการดังกล่าวซึ่งมองว่าเป็นแผนงานสำคัญที่จะเข้ามาสนับสนุนธุรกิจในส่วนนี้ 

และตอบสนองกับนโยบายการเปิดนำเข้าก๊าซเสรีของรัฐบาลที่ปัจจุบันมีชิปเปอร์ผู้ได้สิทธิ์นำเข้าจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งหลังจากนี้ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการแข่งขันการนำเข้าอย่างเป็นธรรม

ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. กล่าวว่า ภาครัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุนให้การแข่งขันเกิดราคาที่เป็นธรรม เมื่อเปิดโอกาสให้แข่งขันเสรีแล้ว เมื่อมีผู้เล่นเข้ามาในระบบมากขึ้น จะทำให้ภาพรวมของราคาก๊าซในประเทศสะท้อนกับความตั้งใจได้ ซึ่งปตท. เองเป็นผู้เล่นในธุรกิจนี้มานาน มั่นใจว่าจะสามารถทำราคาให้ ตรงกับความต้องการของคนไทยได้ดีที่สุด

ขณะเดียวกันชิปเปอร์รายใหม่จะสามารถเข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานของคลังมาบตาพุดระยะที่ 3 ได้ แต่ก็ต้องมีการจองท่าเรือ และจะต้องมีการคิดค่าบริการที่อยู่ในระดับสากล ซึ่งเมื่อมีผู้เข้ามาใช้งานเยอะมากขึ้นก็จะยิ่งทำให้ระบบการปฏิบัติการของคลังมีราคาถูกลง

"ช่วง 1-2 ปีนี้ อาจจะยังมีการนำเข้า LNG ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในการ เก็บของคลังที่มีอยู่ เพราะต้องยอมรับว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ได้จะเข้ามาเล่นด้วยง่าย ๆ เพราะการจัดหาแหล่งก๊าซที่มีสัญญาระยะยาวนั้นต้องอาศัยความเชื่อใจของคู่ค้าด้วย รวมถึงเรื่องที่น่ากังวลก็คือภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจจะส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงราคาก๊าซให้ผันผวนได้อย่างที่เคยผ่านมาที่สงครามหนุนให้ราคาก๊าซสูงขึ้นอยู่ที่ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากปกติอยู่ที่ 7-8 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู"