นายกฯ ยัน "เกาะกูด" เป็นของไทย ลุยตั้ง JTC ถ้ายกเลิก MOU 44 ต้องเจรจา

04 พ.ย. 2567 | 16:33 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2567 | 16:46 น.
1.1 k

นายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” ถกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ยืนยันกรอบเจรจา MOU 44 ไม่สามารถยกเลิกได้ ถ้ายกเลิกต้องเจรจา เตรียมตั้งคณะกรรมการ JTC ศึกษาร่วมกัน ยันเกาะกูดเป็นของไทย

วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ว่า ได้หารือถึงประเด็นกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล หรือ MOU 44 โดยรัฐบาลยืนยัน พื้นที่เกาะกูดเป็นของประเทศไทย

“เกาะกูดเป็นของประเทศไทย และเป็นมาตั้งนานแล้ว ขณะที่กัมพูชาก็รับรู้เช่นกัน ดังนั้นไทยและกัมพูชา รับรู้อยู่แล้วตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส โดยรัฐบาลนี้จะไม่ยอมเสียพื้นที่ประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม ซึ่งเรื่องเกาะกูดเองกับกัมพูชาเราไม่เคยมีปัญหา และไม่เคยมีข้อสงสัยด้วย ดังนั้นอาจจะเกิดแค่ความเข้าใจผิดกัน” น.ส.แพทองธาร ระบุ

 

นายกฯ ยัน \"เกาะกูด\" เป็นของไทย ลุยตั้ง JTC ถ้ายกเลิก MOU 44 ต้องเจรจา

 

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ตอนนี้ประเด็นเรื่อง MOU 44 ก็ยังอยู่ เพราะไม่สามารถยกเลิกได้ แต่ถ้าจะยกเลิกต้องมีการเจรจาข้อตกลงร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา โดยมีคณะกรรมการขึ้นมาคุยกัน ซึ่งที่ผ่านมาในรัฐบาลก่อนก็มีการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) แต่ได้สิ้นสุดลงเมื่อสิ้นสุดรัฐบาล จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน ก็อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา และเมื่อตั้งเสร็จสิ้นแล้ว คงต้องมาศึกษาและเจรจากันอีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร

นายกฯ ยอมรับว่า ขณะนี้มีความเข้าใจผิด โดยไทยไม่ได้ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลอะไร เพราะตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาขีดเส้นมาก่อน ส่วนปี 2516 ไทยก็ขีดเส้น แต่ในข้อตกลงข้างในต่างกัน จึงมีการทำ MOU ขึ้นมาและเปิดเจรจากันว่าจะเป็นอย่างไร โดยใน MOU ฉบับนี้ไม่เกี่ยวกับเกาะกูด และไม่เคยอยู่ในการเจรจา จึงอยากให้คนไทยทุกคนสบายใจได้ว่าเราไม่ได้เสียเกาะกูด และกัมพูชาก็ไม่ได้สนใจด้วย เพราะไม่ได้อยู่ในการเจรจา

ส่วนประเด็นที่มีการระบุว่าได้มีมติครม.ยกเลิก MOU ในสมัยรัฐบาลก่อนหน้านี้นั้น นายกฯ ยอมรับว่า ไม่มี เพราะข้อเท็จจริงคือ MOU ไม่สามารถยกเลิกได้ ถ้าไม่มีการตกลงกันระหว่างสองประเทศ และต้องเข้ารัฐสภาก่อน และในปี 2552 ก็ไม่ได้มีเรื่องนี้เข้ารัฐสภา ส่วนกระแสที่อยากให้ยกเลิกนั้น นายกฯ บอกว่า ต้องถามก่อนว่ายกเลิกแล้วได้อะไร ต้องดูที่เหตุและผลก่อน

 

นายกฯ ยัน \"เกาะกูด\" เป็นของไทย ลุยตั้ง JTC ถ้ายกเลิก MOU 44 ต้องเจรจา

 

“ที่มาคุยกันวันนี้ทุกคนตกลงกันอย่างง่ายดาย และเข้าใจตามหลักว่า เป็นข้อตกลงและเป็นการเจรจาระหว่างประเทศ ไม่เกี่ยวกับเสียงคัดค้าน และการมาอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ครั้งนี้ คือ หนึ่งไม่เกี่ยวกับเกาะกูด สอง MOU เป็นเรื่องระหว่างสองประเทศเมื่อต้องการจะยกเลิกต้องตกลงกันระหว่างประเทศ สามเรายังไม่ได้เสียเปรียบในเรื่องการตกลงเลย และขอให้อย่าเอาเรื่องของการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน” นายกฯ ระบุ

นายกฯ กล่าวว่า ในขั้นตอนต่อจากนี้ คือ ทางกัมพูชากำลังรอไทยในการจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อไปศึกษาและเป็นตัวแทนพูดคุย ซึ่งจะมีทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงพลังงาน เป็นหลัก

ส่วนประเด็นเรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาใช้นั้น นายกฯ ยอมรับว่า คงต้องเจรจากันอีกครั้ง และศึกษารายละเอียดร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองประเทศ เพราะรัฐบาลเข้าใจว่ามีก๊าซธรรมชาติและจะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานของประเทศได้ แต่ทั้งหมดก็ต้องให้คณะกรรมการไปศึกษาร่วมกันก่อน เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนต่อไป

 

นายกฯ ยัน \"เกาะกูด\" เป็นของไทย ลุยตั้ง JTC ถ้ายกเลิก MOU 44 ต้องเจรจา

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ จะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีของนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อคุยทางกัมพูชาหรือไม่นั้น นายกฯ ยอมรับว่า ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถสร้างคอนเน็คชั่นที่ดีได้ เหมือนมีเพื่อนสนิทก็สามารถคุยกับเพื่อนได้ แต่ในเรื่องประโยชน์ของประเทศ ต้องใช้คณะกรรมการคุยกัน เพื่อจะได้ไม่มีไบแอส หรือ อคติ ความลำเอียง จะได้เกิดความรู้จริงรู้ครบ รวมทั้งยุติธรรมด้วย

ภาพ ศุกร์ภมร เฮงประภากร (Sukpamorn Hengprapakorn)